Tuesday, October 31, 2006

Space/ knowledge

พื้นที่/ ความรู้
2006-10-31





บทนำในหนังสือ The Order of Things ของมิเชล ฟูโก(Michel Foucault) ได้พูดถึงภาพ "Las Meninas(1656)" ของดีเอโก้ เวราซเควซ (Diego Velazquez)--จิตกรชาวสเปนในศตวรรษที่ 17 ไว้อย่างน่าสนใจ

“ในภาพนี้จะเห็นตำแหน่งเด่นกลางภาพคือเจ้าหญิงองค์น้อย ด้านข้างซ้ายมือของภาพคือ จิตรกรยืนอยู่หน้ากรอบผ้าใบสูงใหญ่และหันหน้ามาทางเดียวกันกับเจ้าหญิง เรามองไม่เห็นภาพที่เขากำลังวาดบนผ้าใบ อันที่จริงเขากำลังวาดภาพของของพระราชาและพระราชินีของ สเปนทีประทับเป็นแบบอยู่ โดยหันหน้าประจันกับเจ้าหญิงและจิตรกร เรามองไม่เห็นพระราชาและพระราชินีก็เพราะตำแหน่งแห่งที่ของเราซ้อนทับกับคนทั้งคู่อยู่ แต่ภาพของทั้งสองฉายสะท้อนอยู่ในกระจกเงาที่อยู่ด้านหลังกลางภาพ ใครกันแน่ที่กำลังจ้องมองใคร ทุกคนในภาพสามารถครองตำแหน่งผู้จ้องมองได้ทั้งนั้น เจ้าหญิง จิตรกร ข้าราชบริพาร คนนอกภาพ มีอีก 2 ตำแหน่ง คือพระราชาพระราชินีและเรา เจ้าหญิงและจิตรกรกำลังจ้องพระราชาพระราชินี และอันที่จริงก็จ้องมองเราอยู่ เราในฐานะของผู้ดูภาพ ที่จริงแล้วกลับเป็นวัตถุของการจ้องมอง เช่นกัน สถานภาพของเราจึงมีสองส่วน ส่วนแรกคือเราในฐานะคนดูภาพและส่วนที่สองเราในฐานะเดียกับพระราชาและพระราชินี ความเป็นผู้ดูและผู้ถูกดูในภาพนี้จึงไม่ได้ตายตัวและหยุดนิ่ง ฐานะของผู้ดูและผู้เฝ้าดูสลับกันไปมาได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับบทสนทนาระหว่างคนในภาพและคนนอกภาพ คนอ่านภาพจะอ่านภาพออกมาเป็นอย่างไรขึ้นกับว่าเขาเลือกว่าตำแหน่งของตรงเองตรงไหน มุมมองที่เขาเลือกเป็น ก็คือกรอบของวาทกรรม(Discourse) นี่คือสิ่งที่ฟูโกพยายามอธิบายว่าวาทกรรมเป็นตัวกำหนดจัดวางตำแหน่งของตัวประธาน”

นอกจากนี้เราซึ่งเป็นผู้ดูมีความสามารถในการเห็นที่จำกัดมาก เราไม่อาจเห็นภาพที่จิตรกรกำลังวาด ไม่อาจเห็นท่วงท่าการวาด เพราะเมื่อเขาวาดก็จะหลบเข้าไปอยู่หน้ากรอบผ้าใบ เราไม่อาจเห็นคนเป็นแบบที่กำลังถูกวาดด้วย เพราะตำแหน่งของเขาอยู่นอกภาพนี้ เราเห็นพวกเขาได้เพียงลางๆในฐานะภาพสะท้อนในกระจกเงาบานเล็กๆที่อยู่ตรงกลางด้านหลังภาพ ทั้งหมดนี้ก็คือเราไม่อาจมองเห็นตัวการสร้างภาพความจริงได้จากมุมมองทั้งหมดทุกซอกทุกมุม หรืออีกนัยหนึ่งเราไม่สามารถอ้างตำแหน่งพิเศษของความเป็นนักเขียน/นักวิจัยว่าสามารถกระโดดออกมานอกกรอบของบริบทการศึกษาแล้วมองเห็นภาพในเชิงองค์รวมทั้งหมด(totality) ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ภาพนี้จึงตั้งคำถามกับการถืออภิสิทธิ์ดังกล่าวของนักวิจัยและเตือนเราว่าเราไม่อาจหลุดออกนอกกรอบของวาทกรรมได้ ในฐานะคนดูภาพเราจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นจากตัวอย่างที่ฟูโกได้นำเสนอผ่านภาพ Las Meninas(1656) นั้น ถ้าเราไม่อาจรับรู้ความจริงที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์หรือพ้นเหนือจากวาทกรรมไปได้ ดังนั้นในทฤษฎีที่เราใช้ศึกษาหรือเป็นกรอบความคิดในการมองเพื่อศึกษาสิ่งต่างๆจึงไม่ควรอ้างอิงถึงความเป็นจริงที่เป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐาน ถ้าจะมีจุดเริ่มต้นก็เป็นแต่เพียงประโยคที่เป็นภาพแทนความจริงเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตำแหน่งของผู้ศึกษาจะอยู่เหนือความเป็นจริง และมองลงมาเห็นความเป็นไปทั้งหมด เมื่อไม่อาจอยู่ภายนอกวาทกรรมได้ ดังนั้นการวิพากษ์หรือโค่นวาทกรรมจึงต้องมาจาก พื้นที่ภายในตัววาทกรรมนั้นเอง และนี่คือที่มาของวิธีการของพวกหลังโครงสร้างนิยม(post structuralist) ที่รื้อถอนวาทกรรมจากการมองหาความลักลั่นของตรรกภายในวาทกรรมนั้นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการศึกษาวิจัย/วิธีการเขียนงาน(ในทุกๆ รูปแบบ?)/วิธีการเสนอภาพควร ’จัดพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษากับผู้ถูกศึกษาเสียใหม่ ตัวตนของผู้ศึกษาซึ่งถูกทำให้มองไม่เห็นแม้ผู้อ่านจะได้ยินเสียงของเขาอยู่ตลอดเวลา จะต้องปรากฏขึ้น ส่วนผู้ถูกศึกษาซึ่งเป็นวัตถุแห่งการจับจ้องมาตลอดมาตลอดแต่ไม่ค่อยมีโอกาสพูดจะต้องปรากฎเสียงขึ้น

งานเขียนควรเป็นเวทีที่แบไพ่กระบวนการจัดตำแหน่งแห่งที่ระหว่างผู้ศึกษาและสิ่งที่ถูกศึกษา



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Corporate Fields: Office Project by AA Design Research Lab--Edited by Brett Steele

No comments: