Tuesday, October 17, 2006

Architecture of the Jumping Universe

2006-10-16
สถาปัตยกรรมแห่งจักรวาลก้าวกระโดด
หัวข้อถกเถียง : Complexity Science กำลังเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอย่างไร

ในปี 1995 ชาร์ล เจนค์ (Charles Jencks) นักวิชาการทางสถาปัตยกรรมเขียนหนังสือ เล่มนี้ขึ้นมาภายหลังงานประชุมสัมนาที่เขาได้จัดร่วมกับ Jeffrey Kipnis ในหัวข้อ Complexity Theory และสถาปัตยกรรม ที่ AA--Architectural Association ใน ประเทศอังกฤษ หนังสือเล่มนี้ (อาจจะ) พูดได้ว่าเป็นถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการถึงอิทธิพลของวิทยาศาสตร์แบบใหม่ที่มีต่อมโนทัศน์ทางสถาปัตยกรรม เหมือนกับที่อิทธิพลทางวิทยาศาสตร์คลาสสิคของนิวตันนั้นมีผลต่อแนวความคิดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรม เฟื่องฟูในตอนต้นศตวรรษ

เนื้อภายในหนังสือแบ่งออกเป็น สามภาค โดยภาคแรกเป็นการเปรียบเทียบถึงแนวคิด Simplicity อันเป็นหัวใจสำคัญของ Modernism กับ Complexity ซึ่งเป็นประเด็นหลักของ Post-Modernism ในภาคที่สองนั้น เป็นการอธิบายถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเอาแนวคิดและทฤษฎี ตลอดจนวิธีการใน Complexity Science มาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย และภาคสุดท้าย เป็นการแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นซึ่ง Charles Jencks เรียกงานสถาปัตยกรรมในแนวทางนี้ว่า Cosmogenic Architecture หรืองานสถาปัตยกรรมที่มีส่วนสัมพันธ์ อ้างอิงและสะท้อนมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อจักรวาลและโลกรอบตัว ภายใต้มโนทัศน์ที่เกิดจากวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+

บทนำ : The trap and butterfly

Charles Jencks เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าจักรวาลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด คือจากจุดเริ่มต้นที่เรียกกันว่า Platonic World หรือโลกแห่งแบบของ Plato นั้น (ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Singularity) เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Big Bang ทำให้เกิดพลังงานอย่าง quark หรือ proton ตลอดจนเวลา (time)ขึ้นนั้นถือได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งแรกของจักรวาล ซึ่งถูกเรียกว่ายุคแห่งพลังงาน และเกิดการก้าวกระโดดครั้งที่สองมาสู่ยุคแห่งสสาร เมื่อเริ่มเกิดอะตอม ดวงดาวและดาราจักรต่างๆ เมื่อราวๆสิบเอ็ดพันล้านปีมาแล้ว ไปสู่การก้าวกระโดดครั้งที่สามคือยุคแห่งชีวิต โดยการถือกำเนิดของเซลการแบ่งเพศและความรู้สึก เมื่อสามพันล้านปีก่อน จนมาสู่การก้าวกระโดดครั้งที่สี่ในราวๆหนึ่งแสนปีก่อน เมื่อมีมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก (homo sapien ) เริ่มรู้จักการใช้ภาษา ศิลปะและเทคโนโลยี (จนกลายเป็น homo cyborg อย่างในทุกวันนี้ ?) Charles Jencks เรียกยุคหลังสุดนี้ว่า ยุคแห่งสำนึก

ความน่าพิศวงของจักรวาลเริ่มคลี่คลายให้เราได้เห็นในยุคนี้ การเปลี่ยนจากพลังงานซึ่งไม่มีรูป ไปสู่สสารที่จับต้องได้ จากสสารที่จับต้องได้แต่ไร้ชีวิตมาสู่สิ่งมีชีวิต และจากสิ่งมีชีวิตกลายเป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาน สำนึกรู้ตัว ถึงกระนั้นก็ตามอาจกล่าวได้ว่าเรารู้จักแต่กระบวนการของมัน แต่เรายังไม่สามารถเข้าใจและอธิบายได้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดการก้าวกระโดดของจักรวาลในแต่ละครั้ง

จักรวาลทัศน์ที่แสดงให้เห็นนี้ Jencks กล่าวว่าเป็นแนวคิดของมนุษย์ที่มีต่อจักรวาลยุคหลังคริสเตียน (Post-Cristian) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหัวใจหลัก ในทัศนะแม่บทแบบใหม่ของยุคหลังสมัยใหม่ (New Post-Modern Paradigm) ซึ่งก็คือ Complexity Science ที่ประกอบไปด้วย ตัวทฤษฎี Complexity เอง ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ระบบจัดตั้งตนเอง (self-organization system) และพลวัตรที่ไม่เป็นเชิงเส้น (nonlinear dynamic)

สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Cosmogenesis ในทัศนะของ Jencks (หรือเรียกได้ว่าเป็น genesis เล่มใหม่ ซึ่งตัว genesis ดั้งเดิมนั้นหมายถึงคัมภีร์ทางคริสตศาสนาในพระบัญญัติเก่าที่ว่าด้วยกำเนิด มนุษย์และโลก) โดยการให้นิยามจักรวาลเสียใหม่ว่าเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิด และปรากฏขึ้นมาอย่างทันทีทันใด (Emergent) ตลอดจนเปลี่ยนแปลงไปมาไม่หยุดนิ่ง อันตรงกันข้ามกับมโนทัศน์เดิมในพระคัมภีร์เก่าและแนวคิดแบบนิวตันในวิชาฟิสิกส์

ซึ่งเป็นผลให้หลักการสุนทรียภาพแบบอื่นๆที่แตกต่างจากหลักสุนทรียภาพแบบเดิม ได้ถือโอกาสก่อตัวขึ้นมาจากมโนทัศน์ข้างต้นและส่งผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา ภาษาของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจึงมีลักษณะเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น ตรงกันข้ามกับความเป็นเครื่องจักรในยุคสมัยใหม่ ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในการใช้ วิธีบิดหมุน (Twist) การพับ (Fold) ละลอกคลื่น (Undulation) หรือแม้แต่ รูปทรงของผลึก (Crystalline Form) ตลอดจนระนาบต่างๆที่แตกหัก (Fractured Planes) ในการออกแบบเป็นต้น

มุมมองที่เปลี่ยนไปนี้สามารถสังเกตได้ในปัจจุบัน เช่นเครื่องจักรกลมีแนวโน้มที่คล้ายคลึงสิ่งมีชีวิตมากขึ้นมีการวิวัฒนาการไปพร้อมกับมนุษย์หรือล้ำหน้ากว่า อย่างเช่น Cyborg หรือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในวงการวิทยาศาสตร์และปรัชญา ในงานเขียนซึ่งส่งอิทธิพลต่อทัศนแม่บทของ Ilya Prigogine, Freeman Dyson, Paul Devies, Murray Gell-Man และกลุ่มนักคิดจาก Santa Fe Institute ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีในเวลาต่อมา การเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวเริ่มจากจุดเล็กๆก่อนแพร่กระจายไปในวงกว้าง คล้ายกับปรากฏการณ์ผลกระทบผีเสื้อ (Butterfly Effect) ซึ่งเงื่อนไขในปัจจัยเล็กๆน้อยๆสามารถส่งผลกระทบออกไปอย่างกว้างขวางในภายหลัง

การที่ Jencks ใช้คำเปรียบเปรยถึงกับดักและผีเสื้อ ก็เพื่อจะอธิบายถึงมโนทัศน์แบบจักรกลนิยมปะทะกับมโนทัศน์ใหม่ กับดักคือตัวแทนของแนวคิดแบบ Determinism ซึ่งตรงกันข้ามกับ Free Will เป็นตัวแทนของความตายที่ตรงกันข้ามกับชีวิต และเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ตรงกันข้ามกับการออกแบบในแนวทาง Organic ในขณะเดียวกันเราจะพบว่าผีเสื้อคือตัวแทนของความบอบบาง และความงามในยามเมื่อมันกระพือปีก ตลอดจนเสรีภาพ ความพยายามใช้กับดักกับผีเสื้อก็คือลักษณะของแนวคิดในยุคสมัยใหม่นั่นเอง ซึ่งในตอนนั้นกับดักหรือตัวแทนของอารยธรรมแบบเครื่องจักรกลเป็นฝ่ายชนะแต่ก็ได้ทำลายความเป็นผีเสื้อลงไปด้วย

ความคิดที่ว่าจะเข้าใจผีเสื้อโดยการควบคุมเป็นสิ่งที่คล้ายกับความเพียรพยายามเข้าควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ แต่สำหรับผีเสื้อแล้วตรรกะไม่สามารถอธิบายได้ ไม่สามารถลดทอน หรือทำให้เรียบง่าย เพราะในวิทยาศาสตร์แบบ Complexity ถือว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา มีการจัดตั้งตนเอง สร้างสรรค์ และเปลี่ยนรูปเช่นเดียวกับผีเสื้อที่แปลงร่างมาจากดักแด้ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้นไม่อาจคาดคะเนได้

เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ Jencks จึงใช้คำว่า Form Follows World View หรือรูปทรงเป็นไปตามโลกทัศน์ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า การที่สถาปนิกแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์หรือสะท้อนอุดมคติ ตลอดจนความหมายของยุคสมัยลงไปในงานสถาปัตยกรรมนั้นย่อมยืนอยู่บนโลกทัศน์แบบใดแบบหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อโลกทัศน์ของมนุษย์เปลี่ยนรูปทรงของงานสถาปัตยกรรมจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นด้วย

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+

Simplicity and Complexity

ความซับซ้อนนั้นเกิดจากความต้องการที่ตรงกันข้ามกับความเรียบง่ายและความแตกต่างในภาษาทางสถาปัตยกรรม ในแง่นี้ Jencks ต้องการโจมตีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในแง่ที่พยายามลดทอนสิ่งต่างๆให้ไปสู่ความเรียบง่ายจนเกินไป สถาปัตยกรรมแตกต่างจากศิลปะแขนงอื่นตรงที่มันกินพื้นที่และเวลา ดังนั้นมันจึงมีปัญหาในการเลือกรูปแบบและเนื้อหาเข้ามาเกี่ยวข้อง และประเด็นดังกล่าวสามารถเป็นปรอทวัดสถานภาพของวัฒนธรรมได้ นี่คือการตั้งคำถามถึงอำนาจและขอบเขตของสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่ใช่ความคิดในทำนองที่ว่าสถาปนิกนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อย่างในช่วงศตวรรษที่ 20 ถึงกระนั้นก็ตาม Jencks ยังคิดว่าการออกแบบอาคารหลังหนึ่งนั้นอยู่ในข่ายอำนาจสถาปนิก และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ที่มีอยู่ ด้วยการสะท้อนให้เห็นหรือจินตนาการถึงความเป็นจริงของจักรวาล มนุษย์ไม่ใช่เครื่องวัดสรรพสิ่งอีกต่อไป แต่จักรวาลต่างหากที่เป็นเครื่องวัด

การนำเอาคุณลักษณะของจักรวาลเข้ามาร่วมในภาษาในการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะโดยพื้นฐานแล้วจักรวาลมีลักษณะเปิด มีพลวัตรอย่างน่าประหลาดใจ และไม่สงบนิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยถูกปฏิเสธไปในยุคสมัยใหม่ จนกระทั่ง Complexity Science กลับไปค้นพบมันอีกครั้ง โดยแท้จริงแล้วการก้าวกระโดดแต่ละครั้งของจักรวาลเกิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ และนั่นจึงทำให้เกิดสิ่งพิเศษหรือบังเกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาใหม่ (อย่างเช่นการเปลี่ยนจากพลังงานเป็นสสาร) ในระหว่างช่องว่างของการก้าวความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างทำให้เกิดการสร้างสรรค์ และการจัดระเบียบตนเองขึ้นมาใหม่

ในระดับเมืองก็ประสบปัญหาเช่นกันเพราะตัวเมืองเองก็คือปัญหาการจัดองค์กรที่ซับซ้อน ไม่ใช่ปัญหาการจัดโซนตามหน้าที่การใช้งาน หรือแบ่งเป็นห้าส่วน (ส่วนอยู่อาศัย, ทำงาน, ทางสัญจร, พักผ่อน และส่วนของรัฐ) อย่างที่เมืองในยุคสมัยใหม่เป็น ด้วยเหตุนี้ Complexity Science จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการความซับซ้อนเหล่านี้โดยไม่ลดทอนมันลงมา ในที่นี้ Jencks แนะนำให้เปลี่ยนทัศนคติแบบนาฬิกาไปเป็นเมฆ ซึ่งเป็นกระบวนการปฏิวัติทางความคิดแบบหนึ่งจากสุนทรียภาพแบบเครื่องจักรที่เป็นระเบียบ แน่นอน ไปสู่สุนทรียภาพแบบธรรมชาติที่ไร้รูปลักษณ์อย่างชัดเจน มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจคาดเดา

โดยแท้ที่จริง ความเป็น Complexity เองนั้นไม่ใช่ความไร้ระเบียบอย่างสิ้นเชิงแต่หมายถึงขอบของความไร้ระเบียบ (edge of chaos) ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ระหว่างความมีระเบียบและไร้ระเบียบนั่นเอง

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+

In which language shall we build?

Self-similarity(fractals) and Strange attractors
อย่างที่ได้เกริ่นนำไปในส่วนแรก ในเรื่องโลกทัศน์ใหม่ของเราในเรื่องความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์สมัยใหม่(new scientific paradigm) ทำให้เราเริ่มเห็นข้อจำกัดของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่(modern architectecture)ที่พยายามลดทอนทุกสิ่งสู่ความเรียบง่าย ซึ่งทำให้มองข้ามความจำเป็นในการที่จะสร้างงานสถาปัตยกรรมซึ่งตอบรับความสลับซับซ้อนที่มีอยู่จริงในชีวิตของเรา ซึ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “แล้วงานสถาปัตยกรรมแบบไหนที่สามารถตอบรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้?” ซึ่ง Charles Jencks ได้นำเสนอภาษาสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า “Emergent languages” ซึ่งตัวเขาเองได้แรงบันดาลใจมาจาก Complexity and Chaos theories ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

หนึ่งใน “Emergent languages” ที่ Charles Jencks ได้นำเสนอก็คือ ความคิดในเรื่อง ‘fractals’ ซึ่งสามารถพบเห็นทั่วไปในธรรมชาติ คือการซ้ำกันของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะคล้ายกับสิ่งเริ่มต้น(similitude)ซึ่งการซ้ำกันของมันจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น ก้อนเมฆ ใบไม้ และเส้นฝั่งทะเล ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้ก้อนเมฆจะดูคล้ายกันแต่จะไม่มีก้อนเมฆก้อนไหนเลยที่มีลักษณที่เหมือนกันทุกประการ

เพื่อให้เราได้มองเห็นภาพชัดเจน Charles Jencks ได้ยกตัวอย่างงานออกแบบของ Bruce Goff คือ ‘Price House’ ซึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นของรูปร่างบ้านหลังนี้ เป็นการ Self-similar รูปทรงเรขาคณิต สามเหลี่ยมและหกเหลี่ยม ทั้งในระดับโครงสร้างของอาคารจนถึงรายละเอียดการตกแต่งภายในของอาคาร โดยใชัมุม 60 องศา เป็นจุดอ้างอิงเพื่อเพิ่ม(multiplication) และ แบ่งย่อย(subdivision) องค์ประกอบต่างๆในอาคารไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปทรง(form) และวัสดุ(materials)ต่างๆที่ใช้

Nonlinearity
ในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า(newton Paradigm)นั้น มีมุมมองต่อจักรวาลในลักษณะที่เราเรียกว่า‘Linear mecchanics’ (straight-line determinism) คือ ในวิทยาศาสตร์แบบนิวตันนี้ มองพัฒนาการของจักรวาลของในลักษณะที่เป็นเชิงเส้นตรงและมีพัฒนาการในลักษณะสม่ำเสมอและแน่นอน ซึ่งทำให้นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์สามารถคาดการณ์สิ่งต่างๆได้ล่วงหน้า และสามารถอธิบายปรากฏการณ์รวมทั้งจับสาระสำคัญในรูปแบบของพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในจักรวาลได้ ซึ่งวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้น (new scientific paradigm) มีสมมติฐานใหม่ในลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อเดิม คือเชื่อว่าวิวัตน์นาการของจักรวาลหรือลักษณะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มีลักณะที่เป็น ‘Nonlinearity’ คือเป็นการพัตนาแบบที่ไม่เป็นเส้นตรงและไม่มีความต่อเนื่องกัน ซึ่ง Charles Jencks เชื่อว่าถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริง งานออแบบสถาปัตยกรรมก็น่าที่จะต้องสะท้อนความจริงใหม่นี้

An Architecture of waves and twists
ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงเป็นคลื่น(undulating form)? บางส่วนของคำตอบเราอาจค้นพบได้ในการเคลื่อนไหวเป็นคลื่นในลักษณะที่เป็น Nonlinearity ซึ่งเป็นส่วนสำคัญและปรากฎอยู่ทุกหนทุกแห่งในธรรมชาติของสรรพสิ่งในระดับพื้นฐานในทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์(quantum physics) ซึ่งเชื่อว่าในส่วนประกอบย่อยของสรรพสิ่งตัวมันเองเป็นทั้งคลื่น(wave)และอนุภาค(particle) ซึ่งของทุกสิ่งๆในโลกรวมทั้งมนุษย์เราก็ประกอบด้วยส่วนประกอบย่อยเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งการเปลี่ยนกลับไปกับมาระหว่างความเป็นคลื่นและอนุภาคนั้นเป็นไปด้วยกความกลมกลืนและต่อเนื่องกัน ซึ่ง Charles Jencks คิดว่าในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเราควรออกถึงแนวคิดเหล่านี้ เพื่อให้เราเห็นภาพเขาได้ยกตัวงานงานของเขาชิ้นหนึ่งในสก็อตแลนด์ คือ Soliton Gates ซึ่งเขาใช้แนวความคิดในเรื่อง waves and twists ในการออกแบบ


Folding – Catastrophe and Continuity
ใน Catastrophe Theory ของ Rene Thom ได้พูดถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน(phase transitions) ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆไปตามธรรมชาติ คือ ช่วงที่น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งที่อุณหภูมิศูนย์องศา หรือ ช่วงที่น้ำร้อนจะกลายเป็นไอในอุณหภูมิหนึ่งร้อยองศา ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นจะเกิดขึ้นตอนที่ระบบใดก็ตามนั้นถึงจุดที่ห่างไกลจากจุดสมดุล(far from equilibrium) โดยการเพิ่มความร้อน พลังงาน หรือ ข้อมูลบางอย่างเข้าไปในระบบ ทำให้ระบบไม่สามารถพัฒนาเป็นเส้นตรง เกิดการกวัดแกว่งและไร้ระเบียบ จนมันเองขยายตัวจนพัฒนาไปสู่ระบบที่เป็นพลวัตใหม่ ซึ่งต่างจากระบบที่หยุดนิ่งในตอนแรก ซึ่งในงานสถาปัตยกรรม เราสามารถแสดงถึงจุดเปลี่ยนผ่าน(phase transitions) ได้โดยการพับ(fold)และ บิด(twist) เพื่อที่จะผสานองค์ประกอบต่างๆของสถาปัตยกรรมเข้าหากัน

Charles Jencks ได้พยายามอธิบายการ ‘Fold’ ในงานสถาปัตยกรรม โดยยกตัวอย่างงานของ Zaha Hadid ที่ชนะการประกวดแบบในโครงการ The Cardiff Bay House ในประเทศเวลส์ ซึ่งในโครงการนี้ส่วนประกอบต่างๆที่เป็นส่วน service นั้นอยู่ล้อมรอบ ส่วนที่เป็น auditorium ที่อยู่ภายใน โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมซึ่งคลุมถนนด้านหน้าโครงการทำให้เกิดพลาซ่าซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ(semi-public)เกิดขึ้นภายในและเปิดพื้นที่เหล่านี้ออกไปสู่ทะเล ซึ่งตัวอาคารจะบิดออกจากทิศทางเดิมของอาคาร ทำให้เกิดลักษณะของพื้นที่ ที่เป็นลักษณะ Semi-protect และเป็น Open landscape ที่สมบูรณ์ และพยายามสร้างความเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันของพื้นที่ในโครงการ ทั้งในระนาบของผังพื้นและรูปตัดของ auditorium ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่เป็นเอกภาพ ซึ่งความแตกต่างของพื้นที่ในโครงการถูกห้อมล้อมด้วยความต่อเนื่อง


Sudden Emergence – Phase Transition
The Sudden emergence นั้นเป็นการปรากฏขึ้นขององค์กรใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำนายหรือกำหนดคาดการณ์ใดๆได้ล่วงหน้าซี่งปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในทฤษฎี Complexity Theory ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถอธิบายถึงพลังและความอัศจรรย์ที่อยู่เบื้องหลังมันได้ ดังที่เราพูดถึงจุดเปลี่ยนผ่าน(phase transitions) Sudden emergence คือ ช่วงเวลาระหว่างของการก้าวกระโดดจากสถานะหนึ่งไปยังอีกสถานะหนึ่ง ซึ่ง Charles Jencks ได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบาย เช่น ช่วงเปลี่ยนผ่านของน้ำแข็ง/น้ำ/ไอน้ำ หรือ การเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคโกธิคไปยังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และการเปลี่ยนแปลงสปีชีส์ในยุคดึกดำบรรพ์จาก Triassic เป็น Jurasic เป็นต้น ซึ่งการก้าวกระโดดอย่างฉับพลันนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในทุกๆส่วนที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับระบบการจัดองค์กรตัวเองของธรรมชาติ(Self-Oganization) ซึ่งแนวความคิดนี้สามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นหรือ การพัฒนาของประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก
ในวงการสถาปัตยกรรมนั้น Daniel Libeskind พยายามสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘emergent social order’ ในงานสถาปัตยกรรมในโครงการต่อเติม Jewish Museum เข้ากับ German Museum ซึ่งเป็นอาคารในกรุงเบอลิน ซึ่งโครงการนี้ออกแบบโดยการใช้ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในอดีตคือการทำลายล้างและเนรเทศชาวยิวจากกรุงเบอลิน รูปแบบของงานสถาปัตยกรรม เป็นลักษณะ dual-national building และมีลักษณะของโครงสร้างที่เคลื่อนไหวไปมา คือถ้ามองจากผังอาคารและรายละเอียดต่างๆจะเห็นว่ามีลักษณะซิกแซกไปมา มีรูปทรงคล้ายกระดูก และเกิดการกระโดดไปมาของทิศทางต่างๆภายในอาคาร ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้สามารถสะท้อนภาพของแนวความคิดในเรื่อง Complexity Theory ได้อย่างชัดเจน

Oganizational Depth
ในความคิดของ Charles Jencks งานสถาปัตยกรรมควรสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม(cultural pluralism) ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยยกตัวอย่างงานออกแบบ Frank Gehry ในการออกแบบอาคารสำนักงาน Chiat/Day/Mojo Office ที่เมือง Vanice ใน California ซึ่งมีแนวความคิดในการรวมความขัดแย้งต่างๆในภาษาของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ เช่น high/low, figulative/industrial, classical/pop นำมาจับวางคู่กันเป็นองค์ประกอบของอาคาร การทำให้เกิดความลึกล้ำของความของหมาย ในแง่ที่สามารถรองรับความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคมในการตีความความหมายของอาคาร ซึ่งด้านหน้าของอาคารประกอบด้วยที่จอดรถและกล้องส่องทางไกลซึ่งคือจุดเด่นที่เป็น pop-logo เพื่อโฆษณาความเป็นองค์กร/บริษัทของอาคาร และทางด้านซ้ายรูปทรงอาคารที่จินตนการไปถึงเรือที่ทันสมัย เพื่อแสดงออกถึงประโยชน์ใช้สอยที่เป็นสถานที่ทำงานภายในอาคาร ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาสมุทรแปซิฟิก และทางด้านขวารูปด้านอาคารมีลักษณะเหมือนต้นไม้ซึ่งใช้ทองแดงในการตกแต่งผิว การตกแต่งภายในสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ซึ่งสื่อถึงความเก่าและใหม่ในเวลเดียวกัน ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้เป็นตัวสร้างความกำกวม(Ambiguity) ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าเป็นอาคารชนิดไหน ซึ่ง Charles Jencks เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาษาของความคิดหลังสมัยใหม่(post-modern) ซึ่งเขาเรียกมันว่า ‘The Carnivalesque’

Superposition – Can one build-in time?
ในช่วงปี 1980s นั้นมีสถาปนิกที่ชื่อ Bernard Tschumi ใด้เสนอความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับความคิดเรื่อง ‘superimposition’ คือการออกแบบโดยสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘The aesthetic of layering, ambiguity, transparency and juxaposition’ ในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งความคิดเหล่านี้ก็ปรากฎในงานประกวดแบบโครงการ Parc de la Villette กรุงปรารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเขาพยายายามสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ไม่สามารถตัดสินได้(undecidable) และเกิดความหลากหลาย โดยการ disintegration เพื่อต่อต้านความเป็น totality ในงานสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างความหลากหลายในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งในโครงการเดียวกันนี้ Rem Koolhaas ได้เสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘five ingredients’ คือการซ้อน 5 ระบบที่ต่างกันลงบนพื้นที่เดียวกัน คือ 1) lateral ‘band’ of planting and activity, 2) a sprinkling of randomized small elements call ‘confetti’ 3) the large elements of the existing site and program 4) Circulation 5) connecting layers ซึ่งแนวความคิดนี้ทำให้เกิดแถบของโปรแกรมต่างๆในโครงการซ้อนกัน ทำให้เกิดความหลายขึ้นในระบบ เกิดเป็นรูปแบบที่ซับซ้อน(Complex order) ซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘nonlinear dinamic’ จากความซับซ้อนที่อยู่ภายในโครงการเอง

สรุปและเรียบเรียงโดย
พุทธิชาติ วาณิชทัตต์ และ วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+

Architecture of the Jumping Universe
A Polemic : How Complexity Science Is Changing Architecture and Culture
Charles Jencks
ISBN : 1854904868
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Books read:
-Architecture in Transition: Between Deconstruction and New Modernism--Edited by Peter Noever
-Art4D Number 150--September 2006

2 comments:

Anonymous said...

สวัสดีครับคุณwichiter
หลายครั้งแล้วครับที่ผมเข้ามาหาความรู้ในblogของคุณ

ขอขอบคุณจริงๆจังๆครับ
ผมเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมครับ เมื่อ2ปีที่แล้วผมเข้ามาศึกษาเรื่องchaosรวมไปถึงfoldingอะไรพวกนี้ครับ แน่นอนครับblogของคุณช่วยได้มากจริงๆ
แล้วผมก็หลงเข้ามาอีกทีครับ อ่านเรื่องsudden emergenceครับ(ผมทำthesisเรื่องตลาดหุ้นด้วยครับ)
ขอบคุณมากจริงๆครับ ได้อะไรเยอะมากๆ
ผมไม่เคยเล่นblogมาก่อนครับ ไม่รู้จะคอมเม้นได้รึเปล่า

Anonymous said...

อยากถามคะ ว่า simplicity เเตกต่างกับ minimal เเละ less is more ยังไง เเล้วดูว่าอาคารนั้นมัน simplicity ตรงไหนคะ ขอบคุณคะ