Friday, March 30, 2007

ความตั้งใจ

ที่เกิดในงานสัปดาห์หนังสือ
2007-03-30


วันนี้เป็นวันแรกของงานสัปดาห์หนังสือ
ตั้งใจว่าจะไปซื้อการ์ตูน 20th Century Boys เล่ม 22 กับ pluto เล่ม 4--ปรากฎว่าพอไปถึงบูธเนชั่นหนังสือมันก็หมดซะแล้ว :P
ดีที่วันนี้เอาความตั้งใจไปหลายความฯ เฮอๆ

เมื่อตั้งใจแรกไม่สมหวังเสียแล้ว เราก็ไม่รีรอ เดินเครื่องความตั้งใจที่สอง

ความตั้งใจที่ 2--ตั้งใจไว้ว่าจะไปเดินเล่นๆ อันนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะความตั้งใจนี้ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ก็แค่เดินชิลๆ ดูโน้นดูนี้แบบไม่คิดอะไรก็เท่านั้น ^_^

แต่เรื่องที่เราคิดว่ามันเท่านั้นบางครั้งบางทีมันก็ไม่ยอมเป็นแค่ความ-เท่านั้น-เหมือนกับที่เราคิด-ผมเจอรุ่นพี่ที่รู้จัก(พี่อ๋อง)โดยความบังเอิญ

ความบังเอิญ ไม่เท่ากับความตั้งใจ
นักคณิตศาสตร์ บอกว่า มันเป็นนิเสธของความตั้งใจ
นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลก
คนเจ้าบทเจ้ากลอนบอกว่ามันทำให้โลกนี้คล้ายบทกวี
แต่ผม--นายวิชิต ขอบอกว่า การพบเจอใครโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
บางครั้งมันก็ทำให้เราดีใจได้-ไม่มากก็น้อย ^_^

พี่อ๋องมาช่วยพี่แป๊ดขายหนังสืออยู่ที่บูธ Blue scale หนังสือที่ขายในบูธนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของสำนักไต้ฝุ่นของพี่คุ่น กับสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดของพี่แป๊ดเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือหนังหาที่ดีและมีคุณภาพทั้งนั้น (พื้นที่โฆษณา ^_^)
พี่แป๊ดให้หนังสือที่เพื่อนของผมคนนึงเขียน-แต่ผมไม่เคยรู้ว่าเธอเขียน เพราะเธอใช้นามปากกา
พิมปาย เป็นนามปากกาของเธอ ส่วนหนังสือของเธอ มีชื่อว่า คิดถึงทุกวัน
พี่แป๊ดบอกว่าเขียนได้น่ารักดี เอาไปลองอ่านดู (ขอบคุณพี่แป๊ดมากๆ ครับสำหรับหนังสือเล่มนี้ ^_^)

กลับมาที่เรื่องความตั้งใจกันต่อนะ

ความตั้งใจที่ 3--ตั้งใจว่าจะไปดูหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ (พอดีช่วงนี้เริ่มสนใจเกี่ยวกับเรื่องคณิตศาสตร์ อยู่ๆ ก็อยากจะพัฒนาทักษะของตัวเองในด้านนี้ขึ้นมาเฉยๆ-เคยเป็นไหมเวลาที่เราสนใจเรื่องอะไรแล้วเรื่องเหล่านั้นพาเราไปสู่ความสนใจเรื่องอื่นๆ อีก ^_^ ) แล้วก็พวกเรื่องประวัติศาสตร์ ประมาณว่าประวัติศาสตร์ช่วงยุคโมเดิร์นของไทย (เราเพิ่งซื้อหนังสือเศรษฐกิจ การเมืองไทย สมัยกรุงเทพฯมา แต่ยังไม่ได้อ่านเลยอ่ะ)

ความตั้งใจที่ 4--ตั้งใจเอาไว้ว่างานหนังสือคราวนี้จะไม่ซื้อหนังสือ ที่หาซื้อได้ง่ายๆ ตามร้านหนังสือที่เราชอบไปเดินเป็นประจำๆ-คิโนคุนิยะ บีทูเอส อะไรประมาณนั้นหรือไม่ก็พวกหนังสือออกใหม่ ที่เราสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก ด้วยความตั้งใจนี้เองที่ทำให้วันนี้เราเดินวนเวียนอยู่แต่ในโซน C
(ซึ่งเป็นไปได้ว่าโซนซีในที่นี้เขาอาจจะย่อมาจากคำว่า โซนซีเรียสนั่นเอง เฮอๆ ^_^)

ถ้าถามเราว่าชอบอะไรในงานหนังสือ เราก็จะตอบว่า เราชอบบรรยากาศในโซนซีที่สุด เพราะมันยังเหลือกลิ่นอายสมัยที่งานหนังสือฯ ยังจัดอยู่ที่ข้างๆ คุรุสภาอ่ะ (สมัยที่ตอนเด็กๆ เราเคยไปเดินอ่ะ) คนขายหนังสือโซนนี้จะอัธยาศัยดีเป็นพิเศษ หนังสือในโซนนี้บ้างก็เป็นหนังสือ สำหรับคุณครูพวกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็พวกสื่อการสอน ส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์ที่ชื่อก็ไม่คุ้นเลย บ้างก็เป็นพวกร้านหนังสือเก่า ประเภทที่คุณสามารถค้นหาหนังสือที่อยากได้ด้วยตนเอง เพราะบางครั้งเจ้าของร้านเขาก็จนปัญญาที่จะค้นหาหนังสือที่คุณอยากได้ให้ เออในโซนนี้วันนี้เจออยู่บูธนึง เป็นบูธของนิตยสารสำหรับผู้ที่สนใจประดิษฐู์หุ่นยนต์ เราแทบจะไม่เคยเห็นนิตยสารแบบนีี้วางขายอยู่ตามแผงหนังสือทั่วๆ ไปเลย ลองไปพลิกลองอ่านผ่านๆ เนื้อหาข้างในก็น่าสนุกดีนะ

ตอนเดินเล่นอยู่ที่โซน C ไปเจอบูธของราชบัณฑิตยสถาน เข้าโดยบังเอิญ ถึงแม้ว่าราชบัณฑิตยสถาน จะบัญญัติคำศัพท์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาไว้ให้เรารู้สึกจักจี้อยู่หลายคำ หลังจากได้แวะเยี่ยมชมแล้วทำให้เรารู้สึกดีกับองค์กรนี้ขึ้นอีกเยอะ เพราะเขาพิมพ์หนังสือดีๆ เอาไว้เยอะมาก แถมราคายังไม่แพง วันนี้เราได้หนังสือจากบูธนี้มา 3 เล่มอ่ะ ^_^
หนังสือทั้งสามเล่มที่ว่า มีดังนี้

1. ฮิปปีอัสใหญ่ : บทสนทนาของเพลโตว่าด้วยความงาม--กีรติ บุญเจือ(เคยได้อ่านเป็นบางส่วนสมัยที่เรียนวิชาสุทรียศาสตร์ คราวนี้เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะได้อ่านแบบเต็มๆ เฮอๆ)
2. เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น--จำนงค์ ทองประเสริฐ (เล่มนี้แปลมาจากหนังสือ Zen and Japanese Culture ของ Daisetz T. Suzuki เล่มนี้ผมเคยยืมจากสมาคมญี่ปุ่นมาอ่านหลายครั้ง ฉบับที่ผมเคยอ่านเก่ามากๆ กระดาษเหลืองอ๋อยเลย พอได้มาเจอคราวนี้ก็เลยตัดสินใจซื้อเก็บไว้)
3. มาตฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย--ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (รู้สึกทึ่งที่ได้เห็น ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะมีคนกำหนดมาตฐานแบบเป็นเรื่องเป็นราว หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สัดส่วนที่ถูกต้อง-หรือควรจะเป็น ของตัวอักษรไทยอย่างละเอียด :P )

เราเล็งหนังสือในบูธนี้ไว้อีกหลายเล่มเลย แต่ไม่อยากซื้อไปหมดที่เดียว เกรงว่าไหล่จะหลุดซะก่อนเพราะแต่ละเล่มที่เราเล็งไว้น่ะหนาๆ ทั้งนั้น

สำหรับหนังสือคณิตศาสตร์ที่อยากได้-ผมก็เดินมาเจอกับมันจนได้ที่บูธของศูนย์หนังสือจุฬา
หนังสือที่ซื้อจากบูธนี้มีดังต่อไปนี้
1. โครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึม--โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (ที่ซื้อเล่มนี้เพราะเคยอ่านหนังสือของ หนังสือที่เขียนโดยวิศวกรคนนึงที่มีชื่อว่า Cecil Balmond (เป็นกำลังสำคัญคนนึงของ บริษัทวิศวกรรมชื่อดังของโลก ที่มีชื่อว่า Ove Arup) ซึ่งเขาพูดถึงเรื่องอับกอริทึมบ่อยมากๆ ในหนังสือ เราเลยอยากมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอัลกอริทึม เออหนังสือเล่มที่ว่านีี้ มีชื่อว่า Informal-มันเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เราชอบมากๆ-วิศวกรคนนี้เขียนหนังสือดีกว่าสถาปนิกเจ้าทฤษฎีบางคนอีกนะในความคิดของเรา ^_^)
2. คณิตศาสตร์พื้นฐานสำหรับคอมพิวเตอร์--โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (อยากมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เลยคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะปูพื้นฐานอะไรบางอย่าง ให้เราได้บ้าง :P )

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจ แต่เราจะยังไม่พูดถึงมันในตอนนี้
ยังมีเวลาอีกเยอะแยะ
ก็งานหนังสือมันยังมีอีกหลายวันไม่ใช่หรอ ^_^

เออ
ลืมบอกไป เราว่าจะหาเวลาช่วงหลังเลิกงานวันจันทร์ถึงศุกร์มาเดินเล่นในงานนี้อีกหลายๆ ครั้ง
(วันเสาร์อาทิตย์อาจจะไม่ไปเพราะคิดว่าคนน่าจะเยอะ-เป็นคนไม่ชอบไปที่ไหนที่คนเยอะมากๆ อ่ะ)

ซึ่งประโยคข้างบนก็คือ-ความตั้งใจ-สุดท้ายของวัน ^_^

Sunday, March 25, 2007

เรียนแบบธรรมชาติ

2007-03-25


Art is primarily a question of form, not of content.
Paul Rand


ทุกๆ ปีสมาคมสถาปนิกฯ จะจัดงานแสดงสินค้า(พวกวัสดุก่อสร้าง)และนิทรรศการของบริษัทสถาปนิกต่างๆ ซึ่งบริษัทที่เราทำงานอยู่ต้องออกแบบบูธนิทรรศการไปจัดแสดงด้วย(เหมือนทุกๆปี)

ปีนี้มีชื่อธีมในการจัดงานว่า ต้นกล้าสถาปัตย์-Leap to the Future

เมื่ออาทิตย์เราได้รับมอบหมายจากพี่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อยู่ ให้ลองออกแบบบูธของบริษัทในปีนี้ดูหน่อย (ซึ่งเราไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่หรอกนะ เพราะปีที่แล้วเราก็เป็นคนออกแบบแต่ถูกเปลี่ยนแบบจนไม่เหลือเค้าแนวความคิดเดิมของเราเลย :P จากนิทรรศการที่เน้นเรื่อง System ของการทำงานของส่วนต่างๆ ภายในบริษัท ว่าแต่ละคน(หน่วยย่อยๆ) สัมพันธ์กับคนอื่นๆยังไง(แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันในแต่ละตำแหน่ง) เป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นโครงข่ายในการทำงาน-กลายเป็นนิทรรศการคล้ายเกมส์โชว์เปิดแผ่นป้ายเฉยๆอ่ะ ซึ่งเราไม่ค่อยชอบมันเท่าไหร่ :P)

แต่ด้วยตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบอยู่ในโปรเจคนี้--Head Creater :P ทำให้เราปฏิเสธที่จะรับงานนี้ไม่ได้(ทำก็ทำว่ะ-คิดในใจนะ ^_^) แต่เราก็จะทำเต็มที่ตามแบบที่เราคิดอ่ะนะ (พอออกแบบเสร็จเราต้องนำแบบของเราไปเสนอ design committee ของบริษัทอีกที--ตรงนี้แหละที่เป็นตัวชี้ขาด ว่าจะไปในทิศทางไหน)

เงื่อนไขในการออกแบบที่เราได้จากผู้จัดงานก็คือ
1.ขนาดของพื้นที่นิทรรศการในปีนี้เท่ากับ 3x3 เมตร (เล็กกว่าปีที่แล้วเท่าตัว)
2.สีที่ใช้ในนิทรรศการต้องเป็นสี CMYK เท่านั้น



ภาพโมเดลจำลองของบูธที่ผมออกแบบ



รายละเอียดแสดงแนวความคิดคร่าวๆ ในการทำงาน (ส่วนภาษาญี่ปุ่นน่ะ ใส่ลงไปเพราะความกระแดะส่วนตัว ^_^)



ภาพถ่ายจากโมเดลแสดงบรรยากาศภายในเทียบกับสัดส่วนคนดู





แบบที่เราคิดไอเดียก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ด้วยชื่องานในปีนี้ที่คล้ายกับ "การเจริญเติบโต"--Leap to the Future เราก็เลยนึกถึงคณิตศาสตร์แบบ Fractal ที่เชื่อว่าเป็นระบบการเติบโตที่มีอยู่ในธรรมชาติ เอามาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานออกแบบ กราฟฟิกที่ได้จึงเป็นกราฟฟิกที่เจริญงอกงามเลียนแบบการเจริญงอกงามที่มีอยู่ในธรรมชาติ

แม้รูปร่างหน้าตาของมันจะไม่ดูเป็นธรรมชาติเลยก็ตาม เฮอๆ ^_^

พอทำเสร็จมีรุ่นพี่คนนึงมายืนดู แล้วถามเราเรื่องไอเดียหรือที่มาที่ไปในการออกแบบ
เราก็เล่าให้เขาฟังไปตามเรื่องตามราว บลาๆๆๆ (ดังที่ได้เขียนเอาไว้ด้านบน ^_^)
พี่คนนั้นเงียบไป ไม่ยอมพูดอะไรแล้วก็เดินกลับไปทำงานต่อที่โต๊ะ

สักพักพี่เขาก็เดินเข้ามาคุยด้วยใหม่
“จี้ไอเดียดีมากว่ะที่เอ็งคิด แต่พี่ว่ามันยังดูไม่เป็นไทย พี่ว่าถ้าใส่อะไรที่ดูเป็นไทยๆ เข้าไปจะเจ๋งเลย”

เมื่อได้ยินแบบนั้นผมแทบจะพูดอะไรไม่ออก :P

เหมือนพี่เขาเข้าใจไปคนละเรื่องเลย

ก็ในเมื่อกราฟฟิกมันเลียนแบบระบบในการเจริญเติบโตมาจากธรรมชาติแล้วล่ะก็
มันคงไม่มีไทยมีฝรั่งหรอก

เพราะธรรมชาติมันไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับความเป็นชาติ(นิยม) ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม :P
ไม่เชื่อลองไปถามต้นไม้ ภูเขา หรือ ทะเลดูก็ได้ ว่า เฮ้ยเอ็งถือสัญชาติอะไรอยู่ว่ะ
รับรองได้ว่ามันไม่ตอบเราหรอก-มันจะเงียบๆ ไม่ยอมพูดอะไรเลยซักแอะ
เพราะคำถามแบบนี้

มีแต่มนุษย์เท่านั้นแหละที่คิดจะถามกัน ^_^

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-ปรัชญาวิทยาศาสตร์โดยสังเขป--ซาเมียร์ โอคาชา แปลโดย จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง
-ไปนอก(ฉบับสมบูรณ์)--สอ เสถบุตร
-เศรษฐกิจ การเมืองไทย สมัยกรุงเทพฯ--ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์
-Volume 10 : Agitation--2006#4

Books read:
-In the Bubble : Designing in a complex world--John Thackara
-ปรัชญาวิทยาศาสตร์โดยสังเขป--ซาเมียร์ โอคาชา แปลโดย จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง
-ไปนอก(ฉบับสมบูรณ์)--สอ เสถบุตร
-Volume 10 : Agitation--2006#4

Tuesday, March 20, 2007

Visuwords™

Online Graphical Dictionary
2007-03-20




http://www.visuwords.com/



Visuwords™-Online Graphical Dictionary is a visual thesaurus that looks up words to find their meanings and associations with other words and concepts. It produces an interactive graph where one can easily perceive the different word associations, as well as click the nodes and continuously expand the graph.

Visuwords uses Princeton University's WordNet, an opensource database built by University students and language researchers. Combined with a visualization tool and user interface built from a combination of modern web technologies, Visuwords is available as a free resource to all patrons of the web.

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-In the Bubble : Designing in a complex world--John Thackara

Monday, March 19, 2007

Data Spaces

2007-03-19

"We are born as new hard drives, and culture formats us"
Douglas Coupland, Microserfs




เทด รอลล์ แห่ง slate.com เคยเขียนเอาไว้ว่า Jimmy Corrigan ของ คริส แวร์ คือ Ulysses(นิยายที่เขียนโดยเจมส์ จอยซ์) ในโลกกราฟิกโนเวล(ข้อมูลนี้ก็มาจากหนังสือ Jimmy Corrigan นั่นแหละ)

เรา(ในที่นี้หมายถึงผม+คนอื่นๆ ที่ตอนนี้กำลังพยักหน้าเห็นด้วยอยู่ ^_^)ก็อาจจะพูดได้เหมือนกันว่ามิวสิควิดีโอเพลง Remind Me ของ Royksopp(ที่อยู่ด้านบนน่ะ) คือ Ulysses ในยุคข้อมูลข่าวสารนั่นเอง (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Information Age-ยุคที่มนุษย์มีข้อมูลมากมาย(ท่วมหัว)แต่ก็อาจจะเอาตัวไม่รอด-เหมือนเช่นยุคอื่นๆ เฮอๆ :P)

ต้องขอสารภาพว่าตอนนี้กำลังชอบมิวสิคเพลงนี้--แบบให้หมดใจเลย 55 ^_^
เออจะว่าไปมิวสิคนี้ก็ทำให้เรานึกถึงกราฟฟิก โนเวล ของ คริส แวร์ด้วยเหมือนกัน

ปล.-อันนี้สำหรับคนที่อยากตามไปลองฟังเพลงอื่นๆของ Royksopp
http://www.royksopp.com/
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+




อันนี้เป็นตัวอย่างกราฟฟิก โนเวล เรื่อง Jimmy Corrigan : The smartest kid on earth ของ chris Ware

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

Q: ในมิวสิควิดีโอเพลงนี้มี Diagram และแผมภูมิต่างๆ ทั้งหมดกี่ชิ้น?
A : (ไม่มีคำเฉลยหรอกนะ เพราะขี้เกียจนับ แต่ดูแบบผ่านๆก็รู้ว่าเยอะโคตรๆ เฮอๆ :P)

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-Beware Wet Paint--Alan Fletcher
-Designing For A Digital World--Edited by Neil Leach

Book read:
-From Lascaux to Blooklyn--Paul Rand

Tuesday, March 13, 2007

ลังไม้ ก็คือ ลังไม้

The Crate
2007-03-13


The Crate ลังไม้ที่ออกแบบโดย Jasper Morrison ที่ด้านข้างลัง พิมพ์ลายเซ็นของเขาไว้อย่างชัดเจน


"the Crate" ก็คือ ลังไม้
แต่ลังไม้ที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้น
มันไม่ใช่ลังไม้ธรรมดา ก็เพราะว่า มันเป็นลังไม้ของ Jasper Morrison
เมื่อ Jasper Morrison ถูกทาบทามให้ออกแบบโต๊ะหัวเตียง
เขากลับไปดูหัวเตียงที่บ้านปรากฎว่าที่บ้านของเขาใช้ลังไม้เนี่ยแหละ
ในการเก็บของต่างๆ-อาทิเช่น หนังสือ หรือข้าวของจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ
ผลงานออกแบบของเขาก็คือลังไม้แบบที่เขาใช้-เหมือนที่บ้าน!
เขาปรับปรุงคุณภาพไม้ที่นำมาใช้ทำเป็นลังนิดหน่อย
แต่โครงสร้างของลังและวิธีการต่อยังเป็นเหมือนเดิมเปี๊ยบ ^_^
เสร็จแล้วผลงานที่เขาออกแบบก็ส่งไปแสดงตามงานแฟร์เก๋ๆ--ที่หนังสืออินเทรนด์ทั้งหลายต้องตามไปถ่ายรูป แสดงวิสัยทัศน์ในความล้ำสมัยของตัวเอง
แน่นอน ลังไม้ ของ Jasper Morrison วินาทีนี้ไม่ใช่ลังไม้อีกต่อไป
งานออกแบบของ Jasper Morrison กลายเป็นจุดที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในงานภายในทันที
นิตยสารหลายเล่มต่างอยากสัมภาษณ์เขาถึงแรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจเขาไม่ได้เลิศหรู-หรือดูยุ่งยาก
เหมือนเวลา เฉลิมชัย (ศิลปินชาวไทย) พูดถึงรูปที่ตัวเองวาด :P
เขาไม่มีฟอร์มแถมสารภาพอย่างหมดเปลือก
ที่ผมออกแบบแบบนี้ก็เพราะที่บ้านผมใช้แบบนี้
แล้วก็คิดว่าลังแบบนี้มันก็ใส่ของได้ดี
เรื่องมันคงจะจบแบบเรียบๆ ถ้า Jasper Morrison ไม่ใช่นักออกแบบที่มีชื่อเสียง
และลังไม้ของเขาขายเพียงใบละไม่กี่สตางค์-ห้าหกร้อยบาท
แต่เรื่องมันเริ่มสนุกเพราะลังที่ออกแบบโดย Jasper Morrison ใบนี้
ขายใบละเกือบ แปดพันบาท!-คิดเป็นเงินไทยให้แล้ว แต่ถ้าอิมพอร์ทแล้วเอามาขายที่ PlayGround ที่ซอยทองหล่อคิดว่าลังใบนี้ราคาไม่น่าจะต่ำกว่าหลักหมื่นนะเชื่อได้เลย :P

หลายคนคิด-มอร์ริสันกำลังต้มหมู โอ้งานออกแบบแบบนี้ก็หลอกได้เฉพาะแต่คนบ้าแบรนด์ แล้วก็พวกเห่อดีไซน์เนอร์ล่ะวะ

อีกหลายคนเช่นกันที่คิดว่า-โอ้นี่มันช่างเป็นงานดีไซน์ที่ Anti-Design ที่แสนลุ่มลึก-เป็น Critical ในวงการออกแบบที่แสนคมคาย

สำหรับผม ถ้าใช้ภาษาแบบวงการกีฬาก็จะบอกว่า มอร์ริสัน เสริฟ ลังไม้ใบนี้ของเขาตกลงไปที่จุดเกรงใจพอดี เหมือนกำลังดูดีไซน์เนอร์ในวงการออกแบบกำลังเดินสวนสนาม แล้วมอร์ริสัน ก็ดันแกล้ง ก้าวเท้าผิดจังหวะ ทำให้เราเห็นร่องรอยและโครงสร้างโดยรวมทั้งหมดของวงการออกแบบ
ไม่ว่าคุณจะรังเกียจหรือชื่นชม ลังไม้ใบนี้แค่ไหน
มันก็ไม่ได้มีผลอะไรกับคุณเท่าไหร่

ตราบใดก็ตามที่คุณยังไม่ได้ตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าสตางค์เพื่อซื้อมัน

ถ้าคุณซื้อมัน

คุณจะตัดสินใจซื้อลังใบนี้ที่แพงหูฉี่ด้วยวิธีคิดแบบไหน :P
คุ้มราคา-เพราะนี่มันเป็นลังของดีไซน์เนอร์เชียวนะ (เป็นเรื่องปรกติ ภาษาทางการตลาดเขาเรียกว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยการออกแบบ เฮอๆ :P)

หรืออาจจะคิดว่า

ขอโทษนะผมไม่ได้ซื้อลัง ที่ผมเสียเงินให้นะ ผมเสียเงินให้กับวิธีคิดที่สวยงาม ผมกำลังเสพคอนเซ็บว่าด้วยการ Anti-Design ของมอร์ริสันอยู่ อู้ย แค่นี้ก็คุ้มแล้ว (อ้าวลังไม้กลายเป็นงานศิลปะ ไปเสียแล้วทีนี้)

สำหรับผมแล้ว ถ้าลังไม้(ของดีไซน์เนอร์ชื่อดัง)ใบนี้มันแพงนักหนา
จนเรา(ผู้บริโภคทั้งหลาย)ตระหนักและย้อนนึกกลับไปได้ว่าไอ้ลังธรรมดาๆ แบบนี้เราก็ทำใช้เอง หรือหาซื้อที่ไหนก็ได้
ทำไมเราไม่กลับไปบ้านแล้วหาซื้อไม้มาทำลังใช้เอง หรือไปเดินหาซื้อตามท้องตลาดให้มันรู้แล้วรู้รอดซะเลย
(มอร์ริสันอาจจะอยากให้เราคิดอะไรแบบนี้อยู่ก็ได้นะ ^_^)

เอาน่าไม่มีอะไรหรอก
เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาก็แค่เรื่องที่เกี่ยวกับลังไม้ใบหนึ่ง
นอกเหนืออื่นใดแล้ว
สำหรับผม
ลังไม้ก็คือลังไม้--มันไม่มีทางเป็นอย่างอื่น :P
และหน้าที่ของนักออกแบบก็คือ
ถ้าต้องทำลังไม้ก็ต้องทำลังไม้ที่ดี

นักออกแบบอาจจะมีหน้าที่แค่นั้นจริงๆ ^_^


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-hesheit เล่ม 9--วิศุุทธิ์ พรนิมิตร
-hesheit เล่ม 10--วิศุุทธิ์ พรนิมิตร

Books read:
-hesheit เล่ม 9--วิศุุทธิ์ พรนิมิตร
-hesheit เล่ม 10--วิศุุทธิ์ พรนิมิตร

Saturday, March 10, 2007

1ทีม+1ทีม=1ทีม

2007-03-10

บริษัทที่ผมทำงานอยู่ เป็นกลุ่มบริษัทที่มีบริษัทในเครืออยู่ 5 บริษัท
สามบริษัทเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม และบริหารงานก่อสร้าง-ซึ่งไม่มีทีมฟุตบอล (ซีเรียสๆ)
ส่วนสองบริษัท เป็นบริษัท ออกแบบสถาปัตยกรรม(ผมทำงานอยู่บริษัทนี้) และบริษัทรับออกแบบตกแต่งภายใน-มีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง (ซึ่งก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรเน้นสนุกกับความตลกโปกฮา เน้นนันทนาการ) ^_^

ทีมของบริษัทผมกับทีมของอินทีเรียแข่งฟุตบอลกันบ่อยๆ ตามโอกาส(ไม่ถึงกับเรียกได้ว่าเป็นประเพณี--แข่งกันเอาตามสะดวกและความสนุก ตามโอกาสว่างที่พอจะหาได้)
ผมเองก็มีโอกาสได้ไปเล่นฟุตบอลกระชับมิตรกับเขาสักครั้งสองครั้งได้มั้ง-ไม่บ่อย :P

เมื่อต้นอาทิตย์รุ่นน้องคนนึง ซึ่งเป็นคนประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมฟุตบอลของบริษัท
เข้ามาบอกผมว่า อยากได้โลโก้ทีมฟุตบอลใหม่ ซึ่งเป็นโลโก้ใหม่ที่รวมทีมฟุตบอลทั้งสองทีม(สถาปัตย์ กับ อินทีเรีย)ไว้ด้วยกัน
เอาไว้ใช้แข่งในแมทช์ใหญ่ที่ไปในนามของบริษัท (โอ้ว-เป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ เรื่องแบบนี้แหละที่เราจริงจังและถนัด เรื่องไร้สาระน่ะ ^_^)
ผมรีบรับปากเพราะเป็นคนมีวิสัยทัศน์ดีในเรื่องแบบนี้ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีศักยภาพทีจะพัฒนามันให้กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน และบันเทิงเริงรมย์ได้

ขณะที่ผมออกแบบโลโก้ใหม่ อีกฝ่ายหนึ่งก็คัดเลือกแบบเสื้อและสีที่ต้องการ จากนั้นก็ให้ทุกคนในออฟฟิศโหวด ทั้งชายและหญิง(แบบเสื้อต้องถูกใจผู้หญิงด้วย เพราะถึงแม้จะไม่ได้แข่ง แต่เธอก็จะได้เสื้อเอาไว้ใส่เล่นๆ)
จนในที่สุดก็ได้แบบเสื้อมาแบบหนึ่งเป็นเสื้อคอวีสีขาว ตัวเสื้อเป็นเสื้อเรียบๆ ไม่มีลายสีกรมท่า--สวยดี

เรื่องเสื้อเป็นอันจบ-ที่เหลือคือโลโก้ ซึ่งเป็นหน้าที่ผม :P

ไอเดียแรกเลยที่คิดได้ก็คือ
1. น่ามีตัวเลข 103 อยู่ในโลโก้ด้วย
2. น่าจะเป็นรูปสัตว์อะไรสักอย่าง (เห็นพวกทีมฟุตบอลชอบใช้สัตว์เป็นเป็นโลโก้

จากไอเดียนี้ก็ได้แบบอย่างที่เห็น


ทางเลือกที่หนึ่ง


ความคิดเห็นของผม : ผมชอบแบบนี้นะ เพราะมันดูคลุมเคลือดี เหมือนสัตว์หลายๆ อย่าง อารมณ์ที่ออกมาทางสีหน้าก็มีความขัดแย้งในตัวเองสูง ดูหวาดระแวง เนิร์ดๆ นิดๆ ขี้เล่น และดูเหมือนเป็นสัตว์ที่นอนไม่หลับ แล้วก็สอดคล้องกับไอเดียแรกที่คิดได้ เพราะมีตัวเลข 103 แล้วก็มี คำว่า D+IA ซึ่งเป็นชื่อย่อของทั้งสองบริษัท ที่ผมชอบที่สุดก็คือมันดูน่ารัก และไม่จริงจังดี ^_^

ควาคิดเห็นของคนอื่น : มันไม่น่าเกรงขาม ไม่เท่ รุ่นพี่คนนึงยกตัวอย่าง ดูตัวอย่างทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียง หงษ์แดง ปีศาจแดง อินทรีหล็ก หรือแม้ก็ทั้งทีมในเอเชียทีมชาติญี่ปุ่นก็เป็นรูปเหยี่ยว ดิเห็นปะแต่ละทีมมันดูเท่ทั้งนั้น โลโก้นี้มันดูน่ารักและประหลาดจนเกินไป อยากได้แบบเท่ๆ แล้วก็ดูแบดบอยหน่อยๆ-หลายคนออกความเห็นแบบนี้ แต่ไม่ใช่จะไม่ชอบกันทุกคน รุ่นน้องบางคนที่เป็นผู้หญิงก็บอกว่า-ชอบๆ น่ารักๆ ดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยเกิดแนวทางที่สองขึ้นมา


ทางเลือกที่สอง


ความคิดเห็นของผม : ผมพยายามปรับมันให้ดูแบดบอยขึ้น ให้มันดูแล้วชั่วๆ นิดๆ โดยยังคงไอเดียเรื่องตัวเลข 103 เอาไว้อยู่ จากไม่รู้ว่าเป็นสัตว์อะไร ก็ตอนนี้เริ่มชัดเจนแล้ว-เพราะมันกลายเป็นลิงเผือก(อย่าถามว่าทำไมต้องเป็นลิงเผือกมีความหมายอะไร-เพราะรุ่นพี่ที่ออฟฟิศพยายามถามแล้วคำตอบที่ได้ก็คือ ไม่รู้ ^_^ เฮอๆ) สำหรับตัวผมเองทำเสร็จแล้วก็ไม่ชอบอันนี้เท่าไหร่นัก ชอบแบบแรกมากกว่า :P

ควาคิดเห็นของคนอื่น : อันนี้ไม่ค่อยมีคนโอกับมันเท่าไหร่ มีคนชอบประมาณสองคน-บอกว่าเท่ดี อยากได้อะไที่แบดๆ แบบนี้แหละ แต่ก็มีหลายเสียงเหมือนกันที่บอกว่าแย่กว่าอันแรก ส่วนผู้หญิงไม่มีใครรับอันนี้ได้เลย

ถึงตรงนี้ผมก็เลยลองเปลี่ยนทิศทางในการออกแบบนิดหน่อย
จากเรื่องสัตว์ก็เปลี่ยนเป็นโลโก้ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์เป็นรูปนามธรรม-ก็ได้นิหว่า น่าลองๆ
แต่ก็ยังคงเก็บไอเดียเรื่องต้องมีตัวเลข 103 อยู่บนโลโก้


ทางเลือกที่สาม


ความคิดเห็นของผม : อันนี้ผมใช้รูปทรงที่เป็นเลขาคณิตมาลองจัดองค์ประกอบ รูปนี้เกิดจากตัวเลข 103 ที่สามารถอ่านได้ทุกทิศทาง พอทำเสร็จแล้วอันนี้ผมก็ชอบนะ ไม่เลวๆ (ผมคิด)

ควาคิดเห็นของคนอื่น : เสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าดีกว่าสองอันแรก มันควรจะมาในทิศทางนี่แหละ แต่อยากให้พัฒนาต่อให้อยู่ในแนวทางนี้


เป็นอันจบกระบวนการในการทำงานออกแบบโลโก้ของเรา-ที่เหลือก็ต้องดูกันต่อไปว่าทีมบริษัทอินทิเรียเขาจะโอหรือเปล่า ^_^



ปล--อันนี้เป็นโลโก้ทีมฟุตบอลของบริษัทเรา ที่เราเคยทำให้ เพื่อนและพี่หลายคนแซวว่า
ตั้งแต่ใช้โลโก้นี้มาแข่งยังไม่เคยชนะใครเลยว่ะ :P เพราะโลโก้มันคิขุไป เหมือนโลโก้ทีมบอลของโรงเรียนอนุบาลที่ไหนสักแห่ง แล้วก็หัวเราะกัน (เราว่าไม่เกี่ยวกับโลโก้มั้ง ^_^)
http://wichiter.blogspot.com/2006/11/football-club.html
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+



ปล2--ลองเอาโลโก้ที่ทำไว้มาพัฒนาต่อเป็นลายผ้าดูก็โอเคนะ ทำเป็นผ้าปูโตีะ หรือผ้าม่านคิดว่าน่าจะดูสวยดี เหมือนกัน ^_^

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-In the Bubble : Designing in a complex world--John Thackara
-The Atlas of Experience--Louise Van Swaaij and Jean Klare

Book read:
-นิตยสารสารคดี-เล่มที่ 264--กุมภาพันธ์ 2550

Sunday, March 04, 2007

Quentin Fiore

2007-03-04


หน้าปกหนังสือ The Medium is the Massage ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1967


เควนติน ฟิโอเร(Quentin Fiore) คือใคร?
บางคนได้ยินชื่อบอกว่า "เอ๊ะ ชื่อนี้คุ้นๆ แฮะ!"
หลายคนอาจจะสงสัย "เควนติน ฟิโอเร คือใครว่ะ"
(ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น)



ในแวดวงสถาปัตยกรรมน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักหนังสือเล่มเขื่อง-ที่ทั้งหนักและทั้งหนา(แต่อ่านสนุกมากๆ-เป็นหนังสือที่ครบทุกรส มีทั้งโศกและสุข)
อย่าง S,M,L,XL ของสถาปนิกชื่อดัง เรม คูฮาส-Rem Koolhaas (นิตยสารไทม์เคยจัดอันดับสถาปนิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 ครึ่งศตวรรษแรก เป็นของ Le Corbusier ส่วนครึ่งศตวรรษหลังนั้นจะเป็นใครไปได้อีกนอกจากหมอนี่!-เรม) ที่ทำงานออกแบบหนังสือร่วมกับกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ชื่อ ดังอย่าง Bruce Mau(คนนี้เป็นกรากฟิกดีไซน์เนอร์คนโปรดอีกคนนึงของผม เขาเป็นคนออกแบบหนังสือของสำนักพิมพ์ Zone Books ที่นิวยอร์กทุกเล่ม!) ความพิถีพิถันและรายละเอียดในเรื่องการออกแบบหนังสือเล่มนี้ หาอ่านได้ในหนังสือชื่อ Life Style ของ Bruce Mau

ถ้าวงการสถาปัตยกรรมมี คู่บัดดี้ Rem Koolhaas กับ Bruce Mau
วงการหนังสือที่เกี่ยวกับปรัชญาก็มี คู่บัดดี้ ที่ทำอะไรคล้ายกันอย่าง
Mashall Mcluhan กับ Quentin Fiore
(ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะร้องอ๋อ! เควนติน ฟิโอเร คนนี้นี่เองมิน่าคุ้นๆ อยู่ ^_^)
จนถึงวันนี้ทั้งคู่ทำหนังสือร่วมกันอยู่สองเล่ม
หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือเล่มสำคัญของวงการปรัชญา
ใครที่เรียนเกี่ยวกับเรื่อง Media น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก-แต่จะชอบหรือไม่ชอบนี่อีกเรื่องนึงนะ
หนังสือเล่มนั้นก็คือ The Medium is the Massage: An Inventory of Effects
หนังสือพิมพ์ขาวดำทั้งเล่ม สวยแบบเรียบๆ-Grid ดีๆ spacing สวยๆ
ไม่มีใครสงสัยในเนื้อหาที่คมคายและปราดเปรื่อง ที่เป็นฝีมือจากมันสมองของมาแชล แมคลูฮัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังของหนังสือเล่มนี้ครึ่งหนึ่งก็อยู่ที่ฝีไม้ฝีมือในการจัดหน้าและออกแบบกราฟฟิกของ เควนติน ฟิโอเร ที่สอดประสานเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อหาของแมคลูฮัน




หน้าปกหนังสือ The Medium is the Massage ฉบับภาษาฝรั่งเศส ใช้ภาพประกอบด้านในเป็นปก ไม่มีตัวหนังสือ ชื่อเรื่องพิมพ์เฉพาะตรงสันหนังสือ(เรียบดี ชอบๆ ^_^)


the book <--คำแปลภาษาฝรั่งเศสด้านบน (เทียบเอาจากฉบับภาษาอังกฤษ)

is an extension of the eye...


clothing, an extension of the skin...


Printng, a ditto device


"The thing of it is, we must live with the living"-Montaigne


เห็นหนังสือเล่มนี้แล้วไม่แปลกถ้าเราจะบอกว่า เควนติน ฟิโอเร-คือโมเดิร์นนิสท์ ที่น่าสนใจคนนึงของวงการกราฟฟิก
(ถ้าอยากจะจัดหมวดหมู่อ่ะนะ แต่ความจริงแล้วเรื่องพวกนี้ก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่)
เพราะงานย่อมเปิดเผยคุณสมบัติพิเศษในตัวมันออกมาได้อยู่แล้ว
(ตกลงจะจัดหรือไม่จัด? :P)

ถึงตรงนี้หลายคนอาจะคิดว่า เควนติน ฟิโอเร น่าจะเป็นกราฟฟิกดีไซน์ที่มีชื่อเสียง
แต่ความจริงนั้นวิ่งสี่คูณร้อยเมตรไปในทิศทางตรงกันข้ามเลยล่ะ :P
เควนติน ฟิโอเร เป็นคนที่ low profile มากๆ(คนที่ทำงานดีๆ แล้วทำตัว low profile ยิ่งทำให้เราชอบเป็นพิเศษ ^_^) ถึงวันนี้ เราไม่รู้ว่าเขาเกิดเมื่อไหร่
หรือว่าตอนนี้ตายหรือยัง? เราไม่รู้ข้อมูลอะไรที่เกี่ยวกับตัวเขาเลย :P ทุกครั้งที่มีชื่อ เควนติน ฟิโอเร ปรากฎ ในบรรทัดเดียวกันนั้นเอง ย่อมมีชื่อ มาแชล แมคลูฮัน เคียงข้างอยู่เสมอแทบทุกครั้งไป

เควนติน ฟิโอเร ทำงานออกแบบหนังสืออยู่ 4 เล่มด้วยกัน--เท่าที่พอจะค้นข้อมูลได้นะ (3ใน 4 เล่มนี้เป็นงานที่ทำร่วมกับ มาแชล แมคลูฮัน) สี่เล่มที่ว่ามีรายนามดังต่อไปนี้


1. The Medium is the Massage: An Inventory of Effects(1967)--ทำงานร่วมกับ มาแชล แมคลูฮัน
2. นิตยสาร Aspen ฉบับที่ 4 เดือนสิงหาคม ปี 1967 เป็น box set มีชื่อว่า The Massage is Aspen (สวยมากๆ)--ทำงานร่วมกับ มาแชล แมคลูฮัน รวมทั้งศิลปินและกราฟิกดีไซน์เนอร์คนอื่นๆ อีกเพียบ

ลองเข้าไปดูรายละเอียดตามลิงค์นี้นะ http://www.ubu.com/aspen/aspen4/index.html

3. War and Peace in the Global Village (1968)--ทำงานร่วมกับ มาแชล แมคลูฮัน (เล่มนี้ยังไม่เคยเห็น)
4. I seem to Be a Verb--งานออกแบบปกหนังสือให้ buckminster Fuller สถาปนิกและวิศวกร ผู้หลงไหลในโครงสร้างขนาดใหญ่-เป็นคนคิดจีโอเดสิกโดม (เล่มนี้ก็สวย)

มาแชล แมคลูฮัน ตายในปี 1980
ส่วนเควนติน ฟิโอเร นอกจากทำงานกับ มาแชล แมคลูฮัน แล้วเขาออกแบบหนังสือให้คนอื่นๆ น้อยมาก หลังจากทศวรรษที่ 70 แล้วเราไม่เคยเห็นงานออกแบบของเขาอีกเลย

ไม่อยากจะคิด แต่ก็อดคิดไม่ได้อ่ะ ^_^
เป็นไปได้ไหม?
ที่ เควนติน ฟิโอเร ก็คือ มาแชล แมคลูฮัน นั่นเอง


ปล.--อันนี้เป็นการเดาของเรานะ :P ใครที่พอจะรู้เรื่องนี้ช่วยบอกที


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-Katsu เล่ม 16--อาดาจิ มิซึรุ
-นิตยสารสารคดี-เล่มที่ 264--กุมภาพันธ์ 2550
-Greenpeace : How a group of ecologists, Journalists, and visionaries change the world--Rex Weyler

Books read:
-The Medium is the Massage: An Inventory of Effects--Marshall McLuhan and Quentin Fiore
-นิตยสารสารคดี-เล่มที่ 264--กุมภาพันธ์ 2550
-นิตยสาร Way เล่ม 5--กุมภาพันธ์ 2550
-เจ็บหรือที่จะคิด : สนทนากับอาร์เนอ เนสส์--เดวิด โรเธนเบิร์ก แปลโดย อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ