Friday, March 30, 2007

ความตั้งใจ

ที่เกิดในงานสัปดาห์หนังสือ
2007-03-30


วันนี้เป็นวันแรกของงานสัปดาห์หนังสือ
ตั้งใจว่าจะไปซื้อการ์ตูน 20th Century Boys เล่ม 22 กับ pluto เล่ม 4--ปรากฎว่าพอไปถึงบูธเนชั่นหนังสือมันก็หมดซะแล้ว :P
ดีที่วันนี้เอาความตั้งใจไปหลายความฯ เฮอๆ

เมื่อตั้งใจแรกไม่สมหวังเสียแล้ว เราก็ไม่รีรอ เดินเครื่องความตั้งใจที่สอง

ความตั้งใจที่ 2--ตั้งใจไว้ว่าจะไปเดินเล่นๆ อันนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะความตั้งใจนี้ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ก็แค่เดินชิลๆ ดูโน้นดูนี้แบบไม่คิดอะไรก็เท่านั้น ^_^

แต่เรื่องที่เราคิดว่ามันเท่านั้นบางครั้งบางทีมันก็ไม่ยอมเป็นแค่ความ-เท่านั้น-เหมือนกับที่เราคิด-ผมเจอรุ่นพี่ที่รู้จัก(พี่อ๋อง)โดยความบังเอิญ

ความบังเอิญ ไม่เท่ากับความตั้งใจ
นักคณิตศาสตร์ บอกว่า มันเป็นนิเสธของความตั้งใจ
นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลก
คนเจ้าบทเจ้ากลอนบอกว่ามันทำให้โลกนี้คล้ายบทกวี
แต่ผม--นายวิชิต ขอบอกว่า การพบเจอใครโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
บางครั้งมันก็ทำให้เราดีใจได้-ไม่มากก็น้อย ^_^

พี่อ๋องมาช่วยพี่แป๊ดขายหนังสืออยู่ที่บูธ Blue scale หนังสือที่ขายในบูธนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของสำนักไต้ฝุ่นของพี่คุ่น กับสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดของพี่แป๊ดเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังสือหนังหาที่ดีและมีคุณภาพทั้งนั้น (พื้นที่โฆษณา ^_^)
พี่แป๊ดให้หนังสือที่เพื่อนของผมคนนึงเขียน-แต่ผมไม่เคยรู้ว่าเธอเขียน เพราะเธอใช้นามปากกา
พิมปาย เป็นนามปากกาของเธอ ส่วนหนังสือของเธอ มีชื่อว่า คิดถึงทุกวัน
พี่แป๊ดบอกว่าเขียนได้น่ารักดี เอาไปลองอ่านดู (ขอบคุณพี่แป๊ดมากๆ ครับสำหรับหนังสือเล่มนี้ ^_^)

กลับมาที่เรื่องความตั้งใจกันต่อนะ

ความตั้งใจที่ 3--ตั้งใจว่าจะไปดูหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ (พอดีช่วงนี้เริ่มสนใจเกี่ยวกับเรื่องคณิตศาสตร์ อยู่ๆ ก็อยากจะพัฒนาทักษะของตัวเองในด้านนี้ขึ้นมาเฉยๆ-เคยเป็นไหมเวลาที่เราสนใจเรื่องอะไรแล้วเรื่องเหล่านั้นพาเราไปสู่ความสนใจเรื่องอื่นๆ อีก ^_^ ) แล้วก็พวกเรื่องประวัติศาสตร์ ประมาณว่าประวัติศาสตร์ช่วงยุคโมเดิร์นของไทย (เราเพิ่งซื้อหนังสือเศรษฐกิจ การเมืองไทย สมัยกรุงเทพฯมา แต่ยังไม่ได้อ่านเลยอ่ะ)

ความตั้งใจที่ 4--ตั้งใจเอาไว้ว่างานหนังสือคราวนี้จะไม่ซื้อหนังสือ ที่หาซื้อได้ง่ายๆ ตามร้านหนังสือที่เราชอบไปเดินเป็นประจำๆ-คิโนคุนิยะ บีทูเอส อะไรประมาณนั้นหรือไม่ก็พวกหนังสือออกใหม่ ที่เราสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก ด้วยความตั้งใจนี้เองที่ทำให้วันนี้เราเดินวนเวียนอยู่แต่ในโซน C
(ซึ่งเป็นไปได้ว่าโซนซีในที่นี้เขาอาจจะย่อมาจากคำว่า โซนซีเรียสนั่นเอง เฮอๆ ^_^)

ถ้าถามเราว่าชอบอะไรในงานหนังสือ เราก็จะตอบว่า เราชอบบรรยากาศในโซนซีที่สุด เพราะมันยังเหลือกลิ่นอายสมัยที่งานหนังสือฯ ยังจัดอยู่ที่ข้างๆ คุรุสภาอ่ะ (สมัยที่ตอนเด็กๆ เราเคยไปเดินอ่ะ) คนขายหนังสือโซนนี้จะอัธยาศัยดีเป็นพิเศษ หนังสือในโซนนี้บ้างก็เป็นหนังสือ สำหรับคุณครูพวกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็พวกสื่อการสอน ส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์ที่ชื่อก็ไม่คุ้นเลย บ้างก็เป็นพวกร้านหนังสือเก่า ประเภทที่คุณสามารถค้นหาหนังสือที่อยากได้ด้วยตนเอง เพราะบางครั้งเจ้าของร้านเขาก็จนปัญญาที่จะค้นหาหนังสือที่คุณอยากได้ให้ เออในโซนนี้วันนี้เจออยู่บูธนึง เป็นบูธของนิตยสารสำหรับผู้ที่สนใจประดิษฐู์หุ่นยนต์ เราแทบจะไม่เคยเห็นนิตยสารแบบนีี้วางขายอยู่ตามแผงหนังสือทั่วๆ ไปเลย ลองไปพลิกลองอ่านผ่านๆ เนื้อหาข้างในก็น่าสนุกดีนะ

ตอนเดินเล่นอยู่ที่โซน C ไปเจอบูธของราชบัณฑิตยสถาน เข้าโดยบังเอิญ ถึงแม้ว่าราชบัณฑิตยสถาน จะบัญญัติคำศัพท์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาไว้ให้เรารู้สึกจักจี้อยู่หลายคำ หลังจากได้แวะเยี่ยมชมแล้วทำให้เรารู้สึกดีกับองค์กรนี้ขึ้นอีกเยอะ เพราะเขาพิมพ์หนังสือดีๆ เอาไว้เยอะมาก แถมราคายังไม่แพง วันนี้เราได้หนังสือจากบูธนี้มา 3 เล่มอ่ะ ^_^
หนังสือทั้งสามเล่มที่ว่า มีดังนี้

1. ฮิปปีอัสใหญ่ : บทสนทนาของเพลโตว่าด้วยความงาม--กีรติ บุญเจือ(เคยได้อ่านเป็นบางส่วนสมัยที่เรียนวิชาสุทรียศาสตร์ คราวนี้เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะได้อ่านแบบเต็มๆ เฮอๆ)
2. เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น--จำนงค์ ทองประเสริฐ (เล่มนี้แปลมาจากหนังสือ Zen and Japanese Culture ของ Daisetz T. Suzuki เล่มนี้ผมเคยยืมจากสมาคมญี่ปุ่นมาอ่านหลายครั้ง ฉบับที่ผมเคยอ่านเก่ามากๆ กระดาษเหลืองอ๋อยเลย พอได้มาเจอคราวนี้ก็เลยตัดสินใจซื้อเก็บไว้)
3. มาตฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย--ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (รู้สึกทึ่งที่ได้เห็น ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะมีคนกำหนดมาตฐานแบบเป็นเรื่องเป็นราว หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สัดส่วนที่ถูกต้อง-หรือควรจะเป็น ของตัวอักษรไทยอย่างละเอียด :P )

เราเล็งหนังสือในบูธนี้ไว้อีกหลายเล่มเลย แต่ไม่อยากซื้อไปหมดที่เดียว เกรงว่าไหล่จะหลุดซะก่อนเพราะแต่ละเล่มที่เราเล็งไว้น่ะหนาๆ ทั้งนั้น

สำหรับหนังสือคณิตศาสตร์ที่อยากได้-ผมก็เดินมาเจอกับมันจนได้ที่บูธของศูนย์หนังสือจุฬา
หนังสือที่ซื้อจากบูธนี้มีดังต่อไปนี้
1. โครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึม--โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (ที่ซื้อเล่มนี้เพราะเคยอ่านหนังสือของ หนังสือที่เขียนโดยวิศวกรคนนึงที่มีชื่อว่า Cecil Balmond (เป็นกำลังสำคัญคนนึงของ บริษัทวิศวกรรมชื่อดังของโลก ที่มีชื่อว่า Ove Arup) ซึ่งเขาพูดถึงเรื่องอับกอริทึมบ่อยมากๆ ในหนังสือ เราเลยอยากมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอัลกอริทึม เออหนังสือเล่มที่ว่านีี้ มีชื่อว่า Informal-มันเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เราชอบมากๆ-วิศวกรคนนี้เขียนหนังสือดีกว่าสถาปนิกเจ้าทฤษฎีบางคนอีกนะในความคิดของเรา ^_^)
2. คณิตศาสตร์พื้นฐานสำหรับคอมพิวเตอร์--โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (อยากมีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เลยคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะปูพื้นฐานอะไรบางอย่าง ให้เราได้บ้าง :P )

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจ แต่เราจะยังไม่พูดถึงมันในตอนนี้
ยังมีเวลาอีกเยอะแยะ
ก็งานหนังสือมันยังมีอีกหลายวันไม่ใช่หรอ ^_^

เออ
ลืมบอกไป เราว่าจะหาเวลาช่วงหลังเลิกงานวันจันทร์ถึงศุกร์มาเดินเล่นในงานนี้อีกหลายๆ ครั้ง
(วันเสาร์อาทิตย์อาจจะไม่ไปเพราะคิดว่าคนน่าจะเยอะ-เป็นคนไม่ชอบไปที่ไหนที่คนเยอะมากๆ อ่ะ)

ซึ่งประโยคข้างบนก็คือ-ความตั้งใจ-สุดท้ายของวัน ^_^

1 comment:

Anonymous said...

เที่ยวให้สนุกนะคะ ^-^