Sunday, January 28, 2007

เสียงเต้นของหัวใจ

2007-01-28


'เสียงเต้นของหัวใจ' เป็นหนังสือเล่มเก่าที่ผมรัก และมักจะนำมาอ่านแล้วอ่านอีกอยู่เสมอ ผมอ่านมันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 หรือเมื่อหกปีที่แล้ว

วัฒน์ วรรลยางกูร จึงเป็นนักเขียนอีกคนที่ผมโปรดปราน ^_^ สำหรับผมงานเขียนความเรียงเล่มนี้ของวัฒน์มีความเป็นกวีสูง อีกทั้งเรียบง่าย และบรรยายความรู้สึกที่เขามีต่อธรรมชาติที่อยู่รอบตัวได้อย่างละเอียดอ่อน

งานเขียนของวัฒน์คล้ายบทเพลงลูกทุ่ง(ที่ตัวเขาเองก็โปรดปราน--และถือได้ว่าเป็นเซียนเพลงประเภทนี้คนหนึ่ง)เต็มไปด้วยบรรยากาศที่สวยงามและเศร้าซึ้ง สนุก แต่ก็ดูจริงใจและเรียบง่าย

บ่ายวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ผมนำมันออกจากตู้หนังสือเพื่อนอ่านมันอีก นอนคุ้ดคู้อยู่บนเตียง เปิดพัดลมตั้งพื้นให้สายลมพัดแผ่วๆ เปิดหน้าต่างและผ้าม่านในห้อง ให้แสงแดดยามบ่ายและลมได้เข้ามาเยี่ยมเยียน นอนอ่านเล่นๆ นอนอ่านไปเรื่อยๆ นอนจินตนาการถึงบรรยากาศที่แสนเป็นธรรมชาติที่อยู่ในหนังสือ

ของวัฒน์

มีอยู่หลายบทในหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบมากๆ โดยเฉพาะบทที่มีชื่อว่า "เมฆ"--จำได้ว่าตอนได้อ่านครั้งแรก ถึงกับลงทุนพิมพ์มันทั้งบทแล้วส่งเป็นอีเมล์ไปให้เพื่อนๆ อ่าน

มันเริ่มต้นด้วยอะไรอย่างนี้

"การเดินทางของก้อนเมฆเป็นการเดินทางอันน่าตื่นใจ ฟ้ากว้างแต่ทางไม่ไกล ชั่วไม่กี่อึดใจ เมฆก็เดินทางจากขอบฟ้าหนึ่งไปยังอีกฟากฟ้าหนึ่ง ในชั่วไม่กี่อึดใจนั้นได้ผ่านหมู่บ้าน ตลาด ถนน ทุ่งไร่ ทุ่งนา ทิวเขาสลับซับซ้อน ป่ากว้าง แม่น้ำคดเคี้ยว ผ่าน ทะเล มหาสมุทร ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศโดยไม่ต้องมีพาสปอร์ตและวีซ่า"

และจบลงด้วย

"บางวันผมเห็นรถบรรทุกสิบล้อสวนทางกับรถบรรทุกวัวและรถปิกอัพของตำรวจ มันเป็นรถสิบล้อที่ปกติใช้บรรทุกพืชไร่เข้าเมือง แต่คราวนี้มันแล่นมุ่งออกจากเมืองตีกรงเหล็กทั้งด้านข้างและด้านบน ภายในกรงเหล็กนั้นแน่นขนัดไปด้วยคน-คน และคน พวกเขายืนเรียงชิดกันอยู่ภายในคอกที่ควรจะเป็นของวัวควาย แต่พวกเขาคือคน ยืนเรียงกันอยู่ที่นั่น แต่ละคนพยายามหันหน้ามองมาทางด้านนอก อาจจะเพื่อรับลมหรือมองดูความเป็นไปสองข้างทาง แน่ละ โดยรวมๆ แล้วสีหน้าและแววตาของพวกเขาดูเศร้า เขาคือคนเถื่อนที่ถูกจับและถูกกักขังครบกำหนดเวลาที่จะต้องถูกส่งกลับประเทศตนกลับไปอย่างไม่รุ้แน่ว่าชะตากรรมข้างหน้าจะเป็นเช่นใดแต่จากข่าวคราวที่ผ่านมาย่อมทำให้รู้สึกขวัญสยอง

จากสีหน้าและแววตาที่ดูเศร้า ในสถานการณ์ที่อับจน แววตาบางคู่ยังส่อแววของความคิดฝัน

แววตาของความคิดฝันนี่เองที่ทำให้คนต่างจากวัว แม้อยู่ในสภาพเดียวกัน คือจับใส่คอกขังบนรถบรรทุก สัญจรมาบนถนนสายเดียวกัน และในสถานะเดียวกัน คือเป็นของเถื่อนลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย

แต่ไม่ใช่แววตาทุกคู่หรอกที่มีแววแห่งความคิดฝัน บางรายก็ไม่ต่างอะไรกับวัว

ในระหว่างรถสิบล้อแล่นไปบนถนน ในนาทีอับจนของคนในคอกขัง แววตาแห่งความคิดฝันของคนเถื่อนบางรายแหงนมองขึ้นไปบนฟ้า เขาแลเห็นเมฆล่องลอยเสรีไร้พรมแดน ไม่ต้องอาวรณ์เรื่องพาสปอร์ตและวีซ่า เขาอยากกลายเป็นเมฆ"


หรือในบทที่เขาพูดถึงปู่และย่าของเขาใน 'ดาวปู่ดาวย่า'

ผมไม่รู้ตัวหรอกว่า ในระหว่างการบ่นด่า การล่อหลอกเพื่อหลีกเลี่ยง หรือการไปส่งข้าวให้ย่าในตอนสายของวันโรงเรียนหยุด มีสิ่งหนึ่งก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ความผูกพันข้องเกี่ยว ความห่วงใย มันก่อตัวขึ้นทั้งที่ไม่มีคำหวานแต่ประการใดเลย สิ่งเหล่านี้มาปรากฎชัดเจนขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะในคราวที่ย่าป่วยหนัก และในคราวที่ผมไปเผาศพย่า

สำหรับผม ถ้าดาวปู่เป็นดาวที่ส่องแสงสวยงามอยู่ไกลๆ ดาวย่าก็เป็นดาวที่อยู่ใกล้ๆ ใกล้เสียจนเข้าใจผิดว่าไม่มีอะไรสวยงาม นอกจากริ้วรอยขรุขระอันแสนจะเป็นจริงและจับต้องได้

จนเวลาผ่านไป เข้าใจชีวิตมากขึ้น จึงมองเห็นคุณค่าของความขรุขระนั้น นี่คือดาวที่ปกติมักหม่นมัวมอมแมมท่ามกลางดาวที่สุกใสดวงอื่น จนกระทั่งฟ้าหม่นมืด และกลืนแสงดาวอื่นเลือนลับไป ดาวมอมแมมนี้ยังอยู่

สว่างพรายและเต้นไหวระริก--เมื่องมองผ่านหยาดน้ำในดวงตา--อยู่ในฟ้าชีวิตอันโศกสวย


ในบางบทเขาพูดถึงแม่น้ำลำคลองที่เขารู้สึกผูกพัน ใน 'สายน้ำแห่งอดีต'

ภาพความจำของผมเกี่ยวกับประตูน้ำ บันทึกผ่านช่วงเวลาประมาณสามสิบปี หากเป็นภาพถ่าย สารเคมีที่ฉาบกระดาษและเนื้อกระดาษเริ่มเสื่อมคุณภาพ เกิดเป็นรอยด่างลบเลือน สีขาวแปรเป็นเหลืองคร่ำคร่า กระนั้นยังรู้สึกได้ว่า ฟองน้ำสาดกระเซ็นตรงช่องประตูระบายน้ำช่างใสสะอาด ชวนให้อยากกระโดดลงไปดำผุดดำว่าย ทั้งที่รู้ว่ามีโอกาสถูกน้ำวนดูดลงไปเป็นเหยื่อกุ้งหอยปูปลา

ในความรู้สึกส่วนลึก ยังหวาดระแวงว่าจะมีมือลึกลับดึงขาเอาไว้ไม่ให้ขึ้นฝั่ง อย่างที่มีคำเล่าลือหลังการจมน้ำตายของใครสักคน

มาถึงปัจจุบันภาพปัจจุบันที่ไม่อยากเก็บไว้ในความทรงจำ แต่มันเป็นภาพสีอย่างดี มีวันเดือนปีเป็นตัวเลขคอมพิวเตอร์อยู่บนภาพ ทันทีที่บานประตูเหล็กถูกไขรอกสูงขึ้นทีละน้อยน้ำไหลลงสู่ด้านใต้ประตูไม่รุนแรงอะไร เพราะน้ำน้อย ทั้งยังหนาแน่นด้วยผักตบชวา น้ำเป็นสีดำคล้ำ ยากจะแยกแยะว่ามันประกอบด้วยสารเคมีอะไรบ้าง ที่แน่ๆ มีพิษร้ายแรงทำให้ปลาลอยตาย ที่ไม่ตายก็มีบาดแผลเหวอะหวะน่ากลัว

ผมอยากให้ภาพนี้เป็นแค่ภาพเสกสรรปั้นแต่งตามประสาของคนเขียนหนังสือขายอย่างผม แต่มันไม่ยอมเป็นเช่นนั้น


บางบทเขาก็บรรยายถึงความรู้สึกที่ต้องห่าง 'บ้าน' ถิ่นฐานที่เขาเกิดและเติบโต

บางคราวดวงดาวอันเป็นดวงตาของท้องฟ้าอาจแลเห็นได้ว่า สายตาของบางคนวาดเวิ้งว้างอยู่บนฟ้ากว้างโดยไม่มีโอกาสได้สัมผัสสายตาของของผู้คนที่เขาผูกพันด้วยเลย สายตาอันน่าเวทนาจะต้องเลือนสลายไป เมื่อเจ้าของดวงตาปล่อยให้น้ำใสเอ่อคลอดวงตา

ทำไมคนเรามักคิดถึงบ้านในเวลาเย็นค่ำ

คงเป็นเพราะมันเป็นเวลาที่คนในครอบครัวพร้อมหน้ากัน

คงเป็นเพราะเวลาค่ำคนเราต้องอยู่คนเดียว เป็นเวลาที่เสียงเต้นของหัวใจดังชัดเจนจนยากจะหลีกหนี มันนำพาเอาหลายสิ่งหลายอย่างตามมา เป็นความคิดถึงห่วงหา ความกังวลห่วงใย ความเจ็บปวดรวดร้าว ความทรงจำที่อยากลืม เหล่านี้ถูกกลบเกลื่อนได้ในเวลากลางวันด้วยการงาน

หรือด้วยการพบปะผู้คน


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+


เสียงเต้นของหัวใจ
วัฒน์ วรรลยางกูร
Isbn : 9747520982


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+



ชื่อจริง:
วัฒน์ วรรลยางกูร

ประวัติการศึกษา:
เกิด 12 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดลพบุรี จบมัธยมปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แล้วมาศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่จบ เพราะต้องเตลิดหนีเข้าป่าด้วยเหตุผลทางการเมือง

ประวัติการทำงาน / ผลงาน:
หลังจากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบก็มาทำงานเป็นนักข่าว-นักเขียนประจำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ธงปฏิวัติ มาตุภูมิรายวัน นิตยสารถนนหนังสือ และ Good Life ตามลำดับ ปัจจุบัน นักเขียนอิสระ และคอลัมนิสต์ประจำมติชนสุดสัปดาห์

รางวัลที่เคยได้รับ:
เกียรติประวัติ ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย อาทิ ผลงานดีเด่นอันดับที่ ๑ จากรายการถนนนักเขียน ทางสถานีวิทยุยานเกราะ, รางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี พ. ศ. 2525 ของสมาคมภาษาและหนังสือฯ จากเรื่อง “ความฝันวันประหาร”, รางวัลวรรณกรรมไทยบัวหลวง (ชมเชย) ประจำปี พ. ศ. 2533 จากรวมเรื่องสั้น “รถไฟสังกะสีขบวนสอง” ล่าสุด “คีตกวีลูกทุ่ง : ไพบูลย์ บุตรขัน” ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดี ประจำปี พ. ศ. 2542 จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กรมวิชาการ และด้วยฝีมือการเขียนที่ได้รับการยอมรับว่า “ชั้นเยี่ยม” ทำให้งานเขียนของวัฒน์ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย อาทิ บนเส้นลวด (ภาษาญี่ปุ่น) เรื่องสั้น “ลึกในหัวใจแม่” “ก่อนถึงดวงดาว” บทกวี “กล้วยหาย” (ภาษาอังกฤษ) และเรื่องสั้น “สาวน้อยตกน้ำในฤดูหนาว” (ภาษาเยอรมัน)

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

Books bought:
-Art4d Number 133--Dec 06-Jan 07
-นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 263--มกราคม 2550

Book read:
-เสียงเต้นของหัวใจ--วัฒน์ วรรลยางกูร

Wednesday, January 24, 2007

เมื่อฝนตกมันก็ต้องเปียก

2007-01-24


“Form Follow Function” เป็นคำใหญ่ที่ทรงอิทธิพลคำนึงในวงการสถาปัตยกรรม ซึ่งเถียงยาก เมื่อมันถูกเอื้อนเอ่ยออกจากปากของใคร โดยมากมักไม่อยากมีใครอยากต่อปากต่อคำ เพราะมันช่างเป็นเรื่องของเหตุและผล (และดูเป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้-ยุคนี้วิทยาศาสตร์มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด) ใครริอาจเถียงบางครั้งอาจจะตกอยู่ในสภาพที่เปลืองเนื้อเปลืองตัวโดยใช่เหตุ


สมัยเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีไม่สูงนัก(ไม่ปีสองก็ปีสาม) เคยเข้าไปดูรุ่นพี่พรีเซ็นท์แบบกับอาจารย์(เวลามีการพรีเซ็นท์แบบนักศึกษาชั้นปีอื่นสามารถเข้ามาฟังและแสดงความคิดเห็นได้) รู้สึกว่าจะเป็นโครงการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรสักแห่งหนึ่ง รุ่นพี่ที่ผมสนิทคนนึงกำลังถูกอาจารย์ท่านหนึ่งต้อนจนเหตุผลของอาจารย์ล้อมไว้หมดแล้ว(กรุณาออกมามอบตัวซะโดยดี ^_^) จนเกือบจะต้องยอมแพ้ เหตุที่ทำให้เหตุผลล้อมหน้าล้อมหลังรุ่นพี่คนนี้ก็คือ พี่คนนี้แกออกแบบบ้านแยกออกเป็นสองส่วนสองหลัง โดยมีทางเดินเชื่อมกัน แต่บริเวณทางเดินดั้นไม่ทำหลังคา ด้วยสาเหตุก็เพราะมันจะใหญ่และดูเทอะทะจนเกินไป และถ้าทำหลังคาอาจจำเป็นต้องตัดต้นไม้ออกอีกหลายต้น ทำให้โดนอาจารย์ต้อนจนเกือบจนมุม สาเหตุก็เนื่องมาจากความอ่อนด้อยในการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย (ที่อาจารย์คิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางอ่ะนะ)

“Form Follow Function” หรือรูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย เป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหา(ถ้าคิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางจนเกินไป) เพราะในบางขณะผมว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ประโยชน์ใช้สอยมันใช้งานได้สูงสุด--มนุษย์ไม่ควรจะปรนเปรอตัวเองขนาดนั้น สำหรับผมแล้วออกจะเก๋ดีถ้าหากบางวันเราจำเป็นต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเอง(ดีซะอีกปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราบ้าง และการเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร) ผมว่ารุ่นพี่ผมเขาก็คงคิดอะไรคล้ายๆ อย่างนี้

“ถ้าฝนตกเธอจะทำยังไง ไม่มีหลังคาอย่างนี้” อาจารย์ท่านหนึ่งโยนคำถามออกมากลางห้องประชุม
“ถ้าฝนตกก็เปียกสิครับอาจารย์” ผมแกล้งทำเป็นปล่อยมุขตลกกลบเกลื่อนแบบโง่ๆเพื่อช่วยเหลือรุ่นพี่ ได้ผลเพราะ ในห้องเริ่มมีเสียงหัวเราะ
รุ่นพี่ได้ทีพูดเสริมขึ้นมาทันที “ใช่ครับฝนตกก็เปียก แล้วเวลาเปียกเนี่ยเราไม่เจ็บด้วยนะครับ” เพื่อนๆในห้องเฮกันลั่น
ถึงเวลานี้อาจารย์ที่ปรึกษาของรุ่นพี่คนนี้—อาจารย์มานพ ภาคอินทรีย์ คงจะรอจังหวะนี้อยู่นาน แกเลยปล่อยหมัดเด็ดช่วยลูกศิษย์
“ผมว่าไม่เสียฟอร์มเท่าไหร่หรอก ถ้ามนุษย์คนนึงจะเปียกฝนบ้าง ไหนๆ อุตส่าห์อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีฝนตกแล้ว” พอพูดจบ—แกก็หัวเราะชอบใจ

เมื่อเช้าวานนี้มีฝนตกลงมาล่ะ (มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด)
ตอนเดินจากสถานนีรถไฟฟ้ามาที่ออฟฟิศผมเองก็เปียกฝน—เล็กน้อย ไม่มากอะไร
แล้วคุณล่ะเคยเปียกฝนไหม

แล้วจะรู้สึกเสียฟอร์มไหมถ้าวันหนึ่งต้องเปียกฝน

หรือต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านของตัวเอง
ทั้งที่เวลาเปียกเราก็ไม่ยักจะเจ็บ ^_^


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki

Friday, January 19, 2007

Garry Emery

2007-01-19

"My design sensibility has been formed by exposure to an eclectic array of 20th-century artists and art movements. I am a modernist but without dogma, a typographic traditionalist who seeks out the freedom of the accidental, a pragmatist who balances the rational and the lateral simultaneously. I design opportunistically, approaching each design commission as an exploration. I apply no design formula or prescription." Garry Emery



ภาพถ่ายของลุง

วห: สวัสดีครับลุงผมชื่อวิชิต หอยิ่งสวัสดิ์ ขอรบกวนเวลาลุงนิดนึงนะครับ อยากขอสัมภาษณ์ลุงนิดหน่อย เออคือผมมีชื่อเล่นว่าจี้นะครับ ระหว่างคุยกันลุงเรียกผมว่าจี้ก็ได้

กอ: ยังไงก็ได้ ฉันไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันมากมาย มันก็แค่ชื่อ

วห: เราเคยเจอกันครั้งนึงแล้ว เมื่อสามปีที่แล้วลุงจำได้ไหม

กอ: ใช่เมื่อสามปีที่แล้วมีคนเชิญฉันไปพูดที่กรุงเทพฯ รู้สึกว่าจะเป็นที่โบสถ์แถวถ์ย่านสีลม

วห: ใช่ครับโบสถ์ในซอยคอนแวนท์แถวสีลม...โบสถ์ชื่ออะไรหว่า ช่างมันเถอะครับผมนึกชื่อไม่ออก ไม่เป็นไรเรามาคุยกันต่อดีกว่า เออก่อนอื่นผมต้องเกริ่นแนะนำตัวคุณลุงก่อนนะครับ เพราะส่วนใหญ่บทสัมภาษณ์ที่ผมเคยอ่านเนี่ย ช่วงย่อหน้าแรกๆ จะต้องมีการเกริ่นนำก่อน คือยังงี้ครับผมจะเกริ่นนำว่า ลุงคนที่ผมกำลังคุยด้วยเนี่ย แกชื่อ แกร์รี่ อีเมอรี่ แกเป็นกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ที่ผมชอบมากๆ

กอ: รู้สึกว่าครั้งนี้จะเป็นการเกริ่นนำที่แปลกที่สุดที่ฉันเคยได้ยินมา (ลุงแกยิ้ม) เพราะส่วนใหญ่เวลาคนที่สัมภาษณ์ฉันแล้วเอาไปเขียนลงหนังสือส่วนใหญ่เขาก็จะเกริ่นแต่อะไรที่ดูดีๆ เช่นเป็นกราฟิกดีไซน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนนึงในประเทศออสเตเรีย มีงานมากมายทั่วโลกอะไรอย่างเนี่ย หรือถ้าดูร้ายๆหน่อย ก็อย่างเช่นเป็นพวกนิยมโมเดิร์นนิสท์ เป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายของวงการกราฟฟิก

วห: คือผมไม่อยากเกริ่นอะไรที่ดูกว้างๆ และเลื่อนลอยแบบนั้นน่ะครับลุงแล้วอีกอย่างเนี่ย คนที่อ่าน Blog เนี่ยก็มีแต่เพื่อนๆผมทั้งนั้น ผมจึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรที่ดูเป็นทางการแบบนั้น ผมว่าให้คนอ่านเขาอ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเขาก็รู้จักลุงเองแหละ เรื่องแบบนี้ผมว่าน่าจะปล่อยไปตามธรรมชาติ ผมว่าแค่เกริ่นว่าเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ผมชอบเนี่ยก็น่าจะโอแล้ว--ดูซับเจคทีฟดีครับ

กอ: ก็แล้วแต่นะ สำหรับผมยังไงก็ได้(ลุงแกยิ้ม)

วห: เมื่อสามปีที่แล้วตอนที่ผมนั่งฟังลุงพูดเนี่ย ผมนั่งอยู่ฝั่งซ้ายมือ เออถ้ามองจากสายตาลุงเนี่ย ก็เป็นฝั่งขวามือของลุง ผมนั่งๆ อยู่แถวหน้าหน้าหน่อย เป็นตั้งแต่สมัยเรียนแล้วผมเป็นคนไม่กลัวการนั่งหน้าชั้นเรียนเลย ตอนเรียนมหาลัยเวลาฟังเลคเชอร์ก็นั่งหน้าสุด วันนั้นเราสบตากันก็หลายครั้ง ถึงวันนี้ลุงคิดว่าลุงจำหน้าผมได้ไหมครับ รู้สึกคุ้นๆหน้าหรือเปล่า

กอ: ให้ตายเถอะฉันไม่คิดว่าเธอจะเริ่มต้นคำถามแรกด้วยคำถามนี้ เอาเป็นว่าฉันจำหน้าเธอไม่ได้ก็แล้วกัน

วห: ครับผมก็คิดว่าอย่างนั้นแหละ เราเปลี่ยนเรื่องคุยกันดีกว่า ตอนนี้ผมอยากจะให้ลุงเล่าประวัติชีวิตย่อๆ ของลุงให้ฟังหน่อยว่าลุงเข้ามาในแวดวงออกแบบกราฟฟิกได้ยังไง

กอ: ฉันจำได้ว่าเมื่อสามปีที่แล้วฉันเคยพูดเรื่องนี้ไปแล้วนะ เธอจำไม่ได้หรอ

วห: อันนี้เป็นคำถามนำครับ ต้องแกล้งทำเป็นไม่รู้นิดนึง เพื่อลุงจะได้ตอบ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ของผมที่กำลังอ่าน Blog นี้อยู่

กอ: งั้นผมเล่าอีกครั้งก็ได้(ลุงแกยิ้ม) คือผมเกิดในประเทศออสเตเรียฝั่งตะวันตก แล้วก็ไม่ได้ศึกษาร่ำเรียนมาในด้านกราฟฟิกดีไซน์เหมือนกับดีไซน์เนอร์คนอื่นๆ เขาหรอก ตอนอายุ 14 ปีผมก็ต้องออกจากโรงเรียนมาหางานทำแล้ว แรกเริ่มเลยผมเข้าไปทำงานที่สตูดิโอที่ทำงานเกี่ยวกับงานออกแบบพาณิชย์ศิลป์แห่งหนึ่ง จากนั้นผมก็ย้ายจากเมืองเพิร์ทซึ่งเป็นบ้านเกิดไปอยู่ที่เมืองเมล์เบิร์น ทำงานเป็นพนักงานคัดอักษรด้วยมือ บนกล่องเครื่องสำอางและกล่องยา ด้วยงานเหล่านี้นี่เองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมลุ่มหลงในศาสตร์ของการคัดตัวหนังสือด้วยมือ(calligraphy)แล้วก็การออกแบบตัวอักษร(typography) จากประสบการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้ผมได้ตระหนักว่า ถ้อยคำที่ปรากฎเป็นตัวหนังสือเป็นมากกว่าข้อมูลแต่มันเป็นการสื่อสารแสดงถึงทัศนะคติและช่วยปลุกเร้าจินตนาการของเรา

วห : แหมคุณลุงพูดได้เหมือนเมื่อตอนสามปีที่แล้วเปี๊ยบเลยนะครับ

กอ : (ลุงแกยิ้ม)


วห : คำถามต่อไปเลยดีกว่า แล้วอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานกราฟฟิกดีไซน์ของลุงครับ

กอ : ก็มีหลายอย่างนะอย่างเช่น ศิลปะ สถาปัตยกรรม แล้วก็พวกวัฒนธรรมป๊อบ

วห : คำถามต่อไปเป็นคำถามที่ค่อนข้างเชยแล้วก็ค่อนข้างจะจริงจังซักหน่อยนะครับ แต่มันจำเป็นต้องถาม ผมเห็นเวลาเขาสัมภาษณ์นักออกแบบเขาก็มักจะชอบถามคำถามนี้กัน

กอ : ถ้าคุณคิดว่าถ้ามันจำเป็นต้องถาม ผมก็คงจำเป็นต้องตอบ ถ้ามันเป็นคำถามที่ผมตอบได้(ยิ้ม)

วห : อะไรคือปรัชญาในการทำงานออกแบบของลุงครับ?

กอ : ปรัชญาในออกแบบคือสิ่งที่สามารถทำได้จริง(practical) มันจะเติบโตขึ้นมาจากวิถีทางที่คุณใช้ทำงาน มาจากประสบการณ์ที่เกิดจากการลงมือทำ จากความล้มเหลว จากความสำเร็จ จากการเรียนรู้ การออกแบบไม่สามารถลดทอนให้กลายเป็นสูตร ปรัชญาในการออกแบบของผมเกิดจาการฝึกฝนและการปฎิบัติในการสร้างรูปแบบตัวอักษรด้วยทักษะในเชิงช่าง หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาของการรวบรวมความคิดต่างๆ ที่หลากหลายโดยเปิดรับทุกๆ ความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวแล้ว ใช้การทดลองและการปรับเปลี่ยนเพื่อเลือกใช้ความคิดเหล่านั้น สำหรับผมแล้วสาระสำคัญในการเป็นนักออกแบบก็คือ การสื่อสาร การอธิบาย การสอน และที่สำคัญที่สุดก็คือ "การเปิดเผย" สาระของการเปิดเผยที่ว่านี้ก็คือ แนวความคิดที่ทั้งผู้อ่านและผู้ดูสามารถค้นพบและพัฒนาความหมายที่เกี่ยวกับตัวงานด้วยตัวของเขาเอง ในขบวนการนี้พวกเขาเอง(ในที่นี้หมายถึงผู้ดู)ก็จะกลายเป็นนักออกแบบด้วยในชั่วขณะนั้น มันเป็นเรื่องของการดึงดูดผู้อ่าน(ผู้ดูู)และการสร้างระบบในการตีความ ซึ่งจะว่าไปแล้วปรัชญาก็คือระบบของความเชื่อระบบหนึ่งซึ่งความเชื่อเหล่านั้นสามารถนำไปปฏิบัติได้ สำหรับผมนี่คือสิ่งที่นักออกแบบพยายามที่จะทำ คือการพยายามหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้ตัวเองค้นพบวิธีในการแก้ปัญหาในเงื่อนไขต่างต่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการออกแบบด้วยตัวเอง (heuristic) สำหรับผมขบวนการที่เกิดขึ้นเหล่านี้นั้นล้วนแล้วแต่อยู่บนพื้นฐานของ surrealism, modernism, abstraction, minimalism รูปแบบโครงร่างของการเขียนอักษร และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเราก็คำนึงถึงวัฒนธรรมแบบสากล(Grobal Culture) และพื้นที่ต่างๆ ในส่วนย่อยของโลกรวมถึงวัฒนธรรมในพื้นที่เหล่านั้นด้วย นี่คือวิธีที่นักออกแบบพยายามอธิบายให้ผู้คนสามารถเข้าใจด้วยพื้นฐานความเข้าใจที่เกิดจากตัวเขาเอง(ผู้ดู) ด้วยการเปิดเผย มโนภาพและความคิด ที่สะท้อนอยู่ในระดับที่ลึกที่สุดของการรับรู้และความหมาย

วห : โหลุง ตอบยาวเลยนะครับ(ผมยิ้ม) แต่ก็ชัดเจนดี คำถามต่อไปเลยดีกว่าช่วงนี้ ที่ประเทศของผมความรู้สึกและสำนึกแบบชาตินิยมกำลังจะกลับมาอีกครั้ง--ด้วยสาเหตุซึ่งเกิดจากหลายเงิื่อนไข ซึ่งผมเองก็จะไม่พูดถึงในที่นี้(ขี้เกียจสาธยายให้ชาวต่างชาติฟัง) ซึ่งความคิดเหล่านี้ได้รุกลามเข้ามาในวงการออกแบบด้วย สำหรับลุงแล้ว ลุงคิดว่างานออกแบบของลุงนั้นได้สะท้อนภาพความเป็นออสเตรเรียออกมาหรือเปล่าใน visual language ที่ลุงได้ออกแบบ

กอ : ผมค่อนข้างที่จะมีปัญหากับสมมติฐานของความคิด ที่ว่าอะไรคือ visual language ของคนออสเตรเลีย บางทีสิ่งนี้อาจจะทำได้ง่ายกว่าในการที่จะบอกว่าอะไรคือลักษณะสำคัญของความเป็นออสเตรเลียโดยใช้มุมมองจากคนนอกที่ไม่ใช่คนออสเตรเลีย แต่ผมสามารถพูดได้ว่ากิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนออสเตรเรียส่วนใหญ่ก็จะสะท้อนความหลากหลายและเงื่อนไขที่มีมากกว่าหนึ่งที่ผสมผสานกันอยู่ สิ่งเหล่านี้อาจจะรวมตัวแล้วสามารถสะท้อนความคิดในการทำงานออกแบบในภูมิภาคแบบที่เราเป็น หรือไม่บางทีมันก็ไม่สามารถสะท้อนอะไรได้เลย

เมื่อกี้นี้คุณเกริ่นว่าผมเป็นกราฟฟิกดีไซน์ที่คุณชอบบางทีถึงตอนนี้คุณจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมคุณถึงชื่นชอบงานผม

วห : งานลุงเรียบง่ายดูสบายตาและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ปรากฎในงาน ซึ่งก็คือพวก spacing และพวก grid ที่เรามองไม่เห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะเห็นในงานของงานออกแบบที่เป็นพวกโมเดิร์นนิสท์ สำหรับผมแล้วลุงเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยังมีความคิดแบบนั้น ซึ่งสมัยนี้ใครๆ ก็พูดว่าความคิดแบบนี้มันช่างโบราณ และเรียบง่ายเกินไป แล้วอีกอย่างผมชอบระบบความคิดในการทำงานของลุงด้วย ตอนที่ลุงออกแบบหนังสือรวบรวมผลงานทางสถาปัตยกรรมของ Glenn Murcutt ที่มีชื่อว่า Glenn Murcutt : A Singular Architectural Practice ผมชอบวิธีที่ลุงวางโครงสร้างหนังสือ รวมถึงรูปเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบหน้าปกที่แสนเรียบง่ายในขณะเดียวกันก็สะท้อนแนวความคิดและคุณสมบัติพิเศษที่ปรากฎในงานของ Glenn Murcutt ได้เป็นอย่างดี กราฟิกของลุงไม่เคยโดดเด่นเกินเนื้อหา ไม่เหมือนกับกราฟิกดีไซน์รุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานสะท้อนตัวตนมากกว่า นอกจากงานกราฟฟิกที่ดีแล้ว Glenn Murcutt ยังเป็นสถาปนิกที่ผมชื่นชอบมากๆด้วย อย่างหลังนี่ดูจะเป็นเรื่องส่วนตัวไปหน่อย แต่ยังไงก็ตามผมก็อยากที่จะบอกลุง


หน้าปกหนังสือ Glenn Murcutt : A Singular Architectural Practice ที่ออกแบบโดยลุง


กอ : Glenn Murcutt เป็นสถาปนิกที่ดีและเป็นเพื่อนสนิทของผม งานชิ้นนั้นผมแค่เพียงเป็นคนวางแนวคิดหลักในการออกแบบ ถ้ามันจะมีความดีอยู่บ้างผมขอยกความดีเหล่านั้นให้บรรณาธิการ ช่างภาพ และนักเขียนทั้งสองท่าน Haig Beck กับ Jackie Cooper และตัวของ Glenn Murcutt เองที่ทำงานสถาปัตยกรรมที่ดีงาม

วห : แล้วใครเป็นผู้ชี้นำ(Mentor) คนสำคัญที่สุดในชีวิตลุงครับ

กอ : กราฟิกดีไซน์เนอร์ชาวแคริฟอร์เนียที่มีชื่อว่า Les Mason ตอนนี้เขาอาศัยอยู่ที่ ออสเตรเลีย

วห : ถ้าลุงสามารถเชิญแขก 5 คนมารับประทานอาหารเย็นร่วมกันเพื่อพูดคุยสนทนาปราศัย แขกเหล่านั้นของลุงจะเป็นใครบ้าง

กอ : Richard Serra(ศิลปินแนวมินิมอลลิสท์) , Tadao Ando(สถาปนิกชาวญี่ปุ่น), Issey Miyake(ดีไซน์เนอร์-ช่างตัดเสื้อชาวญี่ปุ่น) , Philip Glass(นักแต่งเพลง), Keith Jarrett(นักดนตรีแจ๊ส) และสุดท้าย Nelson Mandela(ไม่ต้องวงเล็บทุกคนก็น่าจะรู้จัก) เพราะเรามีที่นั่งเกินกว่า 5 ที่(ลุงแกยิ้ม)

วห : ผมเคยฟังเพลงของ Keith Jarrett ชุดที่เขาเล่นสดที่เยอรมัน รู้สึกว่าจะชื่อชุด The Koln Concert เขาเล่นดนตรีเหมือนกับกำลังปลูกต้นไม้ ตัวโน้ตของ Jarrett นั้นแตกกิ่งก้านสาขาได้ ผมชอบอัลบั้มนี้ของเขามากๆ เลยครับลุง

กอ : อืม

วห : ลุุงมีงานอดิเรกไหมครับ ตอนนี้เวลาที่ลุงว่างนั้นลุงทำอะไร

กอ : ตอนนี้ผมกำลังหัดเล่น malibu surf board

วห : โหลุงนี่ซ่าไม่เบาเลยนะครับ ต่อไปเป็นคำถามสุดท้ายแล้วครับตอนนี้ลุงก็อายุ หกสิบต้นๆ แล้วถ้าพรุ่งนี้ลุงคิดที่จะรีไทล์ตัวเอง และมีเวลาเหลือเฟือ ลุงจะทำอะไร

กอ : ผมคงจะไปศึกษาต่อทางด้านสถาปัตยกรรม แต่ผมก็คงยังทำงานออกแบบกราฟฟิกอยู่และยังไม่มีความคิดที่จะรีไทล์ในตอนนี้

วห : ลุงสนใจทางด้านสถาปัตยกรรมมากเลยหรอครับ

กอ : ครับผมสนใจมันมาก

วห : มิน่าล่ะ เห็นลุงออกแบบรูปเล่มให้หนังสือสถาปัตยกรรมอยู่หลายเล่ม

กอ : (ลุงแกยิ้ม)

วห : สุดท้ายแล้ว มีอะไรจะฝากคนหนุ่มสาวที่กำลังอ่าน Blog นี้อยู่หรือเปล่าครับลุง

กอ : การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การศึกษาในระบบโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย ตัวผมเองก็เป็นกราฟฟิกดีไซน์ที่ไม่ผ่านการศึกษาในระบบเลยด้วยซ้ำ แต่ศึกษาเรียนรู้เอาเองจากการอ่าน การทดลองปฎิบัติด้วยตัวเอง และการฝึกสังเกตโลกรอบตัว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความหมายจริงๆ ของการศึกษา

วห : ลุงพูดเหมือนวันที่ลุงมาพูดที่กรุงเทพฯเมื่อสามปีที่แล้วเลยนะครับ(ผมยิ้ม)

กอ : (ลุงแกยิ้มตอบ)



ลองเข้าไปดูงานของลุงได้ที่

http://www.emerystudio.com


ปล.(เกี่ยวกับคำย่อ)
วห ย่อมาจาก วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์
กอ ย่อมาจาก แกร์รี อีเมอรี


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-

Saturday, January 13, 2007

Blog Tag

2007-01-13

สาเหตุอันเนื่องมาจาก
http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2007/01/blog-tag.html

ที่ส่งต่อมาโดยพี่อ๋อง ^_^
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เริ่มเลยดีกว่า


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

1.เกี่ยวกับจักรยาน--สมัยเด็กๆ (ตอนนั้นน่าจะประมาณป.3) ตอนที่กำลังเห่อจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ที่แม่ซื้อให้ ปั่นไปไหนต่อไหนกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ที่อยู่ในซอยเดียวกันตลอดทั้งวันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ด้วยความฮึกเฮิมทะเยอทะยานอยากเดินทางไกล ของแก๊งค์เรา(มีประมาณ 6-8 คน มีผมในตอนนั้นที่อายุน้อยที่สุดในแก๊ง คนที่อายุมากที่สุดอยู่ชั้นมอสี่) เกิดไอเดียว่าเราน่าจะปั่นจักรยานไปเที่ยวทะเลกัน(ปั่นจากแถวๆ เอกมัยไปบางแสน) น่าสนุกๆ ผมรีบปั่นจักรยานไปบอกแม่เกี่ยวกับไอเดียที่ว่านี้ แต่แม่ไม่อนุญาต "บ้าหรือมันไม่ได้ใกล้ๆนะ" แม่ผมพูดอย่างนั้น(แม่ผมพูดถูก มันไม่ได้ใกล้ๆจริงๆ) ทริปนี้เลยมีผมคนเดียวที่ไม่ได้ไป สองวันต่อมาพอชาวแก๊งกลับมา ด้วยสภาพผิวที่ดำคล้ำเพราะตากแดด พร้อมกับเรื่องเล่าสนุกสนานมากมาย เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเดินทางตอนเช้าไปถึงบางแสนก็เย็นแล้วนอนค้างที่ริมหาดหนึ่งคืน จากนั้นก็ปั่นกลับมาใช้เวลาสองวันเต็มๆ ทุกวันนี้เวลาที่ผมต้องเดินทางผ่านถนนสายบางนาตราด (เพื่อไปบางแสน--เดี๋ยวนี้เวลาไปบางแสนบางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องไปเส้นนี้แล้ว) ผมมักคิดถึงเรื่องราวในทริปนั้นของเพื่อนๆ ด้วยความรู้สึกทึ่งว่าพวกมันทำกันได้ยังไงว่ะ--ถึงแม้ว่าตอนนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อรถจักรยานยังไม่เคยหมดไป เพราะรู้สึกว่ามันเป็นยานพาหนะที่เรียบง่าย สมถะ แล้วก็ไม่ค่อยเป็นพิษเป็นภัยกับโลกดี (ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ^_^)


ภาพของคุณลุงที่ปั่นจักรยานมานั่งเล่นที่ริมแม่น้ำกาโม่ในเกียวโต

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

2. เกี่ยวกับนักเขียน--มิลาน คุนเดอรา คือนักเขียนที่ผมชื่นชอบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคนิคในการนำเสนอเรื่องราว หรือความละเอียดอ่อนในการมองชีวิตมองโลก หรือแม้กระทั้งมุมมองแบบนักวิชาการที่แสนฉลาดล้ำ--จนน่าหมั่นไส้ (อ่านหนังสือที่เขาเขียนแล้วรู้สึกว่ามึงคิดอะไรแบบนี้อยู่ตลอดเวลาได้ยังไงว่ะ) งานเขียนของเขากระโดดไปกระโดดมาอยู่บนสองฝั่งตลอด ระหว่างบทความทางวิชาการกับนิยาย ซึ่งผมชอบความคลุมเคลือแบบนี้ในงานเขียนของเขามากๆ (ตอนนี้ก็ลุ้นอยู่ทุกปี--อยากให้เขาได้รางวัลโนเบลจัง ^_^)



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

3. เกี่ยวกับการเขียนและการวาด(การ์ตูน)--สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ชั้นปอสี่ คุณครูประจำชั้นของผม 'มิสหม่อม' (ที่เรียกว่ามิสหม่อมก็เพราะ เคยได้ยินมาว่าแกมีเชื้อเจ้า--เสียดายที่ตอนนี้ผมลืมชื่อจริงของแกไปแล้ว :P) แกเป็นหญิงสูงอายุผมสีขาวซอยสั้นๆ ดูมีอายุ หน้าตาดุ(มากๆ) แต่ใจดีชอบใส่เสื้อสีขาวเรียบๆและกระโปรงสีดำมาสอนหนังสือทุกวัน แกเป็นมนุษย์คนแรกๆ ที่ติดตามงานเขียนหนังสือและการ์ตูนของผมแบบวันต่อวัน ^_^ มีครั้งนึงผมเคยถูกแกจับได้ ในขณะที่แกกำลังสอนหนังสืออยู่นั่น ผมเองกับง่วนอยู่กับการพยายามเปลี่ยนการ์ตูนเรื่อง 'วิงแมน' ที่ได้อ่านเมือคืนให้เป็นนิยายที่มีแต่ตัวหนังสือ แกหยิบสมุดที่ผมเขียนไปอ่าน แล้วพูดว่าอยากเขียนก็เขียนได้แต่ไม่ควรเขียนในเวลาเรียน เอาอย่างนี้แล้วกันเธออยากจะเขียนอะไรก็เขียนมา แล้วตอนเช้ามาวางไว้ที่โต๊ะครูให้ครูอ่าน อยากเขียนก็เขียนได้แต่ห้ามเขียนหนังสือผิด เดี๋ยวครูจะช่วยตรวจให้ หลังจากนั้นทุกๆ เช้าผมก็จะเอาสิ่งที่ผมเขียนที่บ้านทุกคืนไปวางที่โต๊ะแก ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือว่านิยายเกี่ยวกับยอดมนุษย์ พอตกเย็นแกก็จะเอามาคืนให้ผมพร้อมกับคำผิดที่แกแก้ให้ด้วยหมึกแดง หลังๆแกเขียนวิจารณ์เล็กๆน้อยเกี่ยวกับเนื้อเรื่องด้วย ดูจากอายุของแกในเวลานั้นและกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านพ้นไป คิดว่าเวลานี้แกน่าจะไม่อยู่บนโลกแล้ว ถ้าโลกที่อยู่ที่ด้านบนมีจริง ตอนนี้แกน่าจะอยู่ในที่ที่มีคนนิสัยดีๆ มาอยู่รวมกัน ^_^

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

4. เกี่ยวกับหนัง(เขียนตอบพี่อ๋องเลยต้องเขียนเกี่ยวกับหนังเสียหน่อย ^_^ )--ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ใช่เซียนหนังนะ ดูหนังไม่ค่อยบ่อยที่เฮ้าส์หรือลิโด้ก็ไม่ค่อยได้ไป (รู้จักหนังน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ) หนังที่ผมชอบมากๆ คือ หนังญี่ปุ่นเรื่อง The Taste of Tea ของผู้กำกับชื่อ Katsuhito Ishii ดูมาตั้งแต่สองปีที่แล้วตอนนี้ก็ยังชอบอยู่ ที่ชอบก็เพราะหนังมันเรียบจนแทบจะไม่มีเนื้อเรื่อง ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความรู้สึกล้วนๆ ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกที่ว่านี้ยังไงนะ--คือมันเรียบๆ น่ารักๆ เรื่อยๆ มีความรู้สึกแบบกวี และเต็มไปด้วยจินตนาการ ผสมอยู่ตลอดเรื่อง มันเรียบง่าย เพราะเรื่องมันง่ายจริงๆ และไม่ได้พยายามทำให้มันเรียบๆ (แบบคนขี้เก๊กขี้แอ็คอ่ะ) เออหนังเรื่องนี้มีอะไรบางอย่างคล้ายกับหนังของ Yasujiro Ozu แต่ดีกว่า(ใช้คำนี้กับหนังคลาสสิคนั้นเสี่ยงอันตรายมากๆ :P) ในแง่ที่มันเจือด้วยความขี้เล่นและไม่จริงจังขึงขังและมีอารมณ์ขัน--อันนี้เป็นความรู้สึกของผมนะ เออแล้วเพลงประกอบหนังเรื่องนี้น่ารักและเพราะมากๆ ด้วย ตอนไปงานเลี้ยงปีใหม่ของจีเอ็มที่ร้านแฮมล๊อค ถ้าเตรียมตัวทันก็คงจะซื้อดีวีดีเรื่องนี้ไปจับฉลากแหละ ^_^



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

5. เกี่ยวกับเพลง--อัลบั้ม Late for the Sky ของ Jackson Browne เป็นอัลบั้มที่ผมชอบมากที่สุด และฟังบ่อยมากๆ ฟังครั้งแรกสมัยเรียนอยู่ชั้นมอสี่ Jackson Browne ออกอัลบั้มนี้ในปี 1974 (ผมเองยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ :P) ผมชอบแทบทุกเพลงในอัลบั้มนี้ รู้สึกว่ามันจะเป็นซีดีเพลงสากลแผ่นแรกๆ ที่ซื้อในชีวิตเลยนะ จำได้ซื้อที่ร้าน One ที่อยู่แถวถนนสุริวงศ์--รู้สึกว่าตอนนี้ร้านนี้จะปิดไปแล้ว ทุกวันนี้สำหรับผม Late for the Sky จึงเป็นมากกว่าเพลง มันเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้เราระลึกถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เป็นวัยรุ่น

ถ้าใครยังไม่เคยฟังลองเข้าไปฟังดูได้ที่นี่นะ ^_^
http://www.last.fm/music/Jackson+Browne/Late+For+The+Sky



Late for The Sky(1974)--Jackson Browne




ครบ 5 ข้อแล้วนะครับ ^_^

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-เรื่องตบตา--ปราบดา หยุ่น

Tuesday, January 09, 2007

The Plan-less House

Shinkenchiku Residential Design Competition 2006
2007-01-04

Theme Description

It is generally thought that the plan is a means for describing lifestyle.

The fundamental principle of this descriptive technique is division. It is thought that the lifestyle inside a house is divided with the device of “walls.” Therefore, if only the elements called “walls” are picked out, and given an expression in which they are emphasized, people may understand the lines on a drawing that indicate the “walls” as describing the essence of a house.

Yet should a house be “walls”? Why can we not describe a house just by furniture? Why can we not describe a house just by tableware? Or what about a descriptive method using only floor textures? As the floor is the only component that the human body directly touches (actually, there are also doorknobs and toilet seats), if we were to describe a house by a technique of scanning with the body, the house would be described as a collection of textured floors. Or it would also be possible to describe a house in terms of air temperature, or in terms of malodorous places due to wind flows.

Why have I become so skeptical with regard to the descriptive method of walls? It is because I feel a sense of unease with the division of lifestyle, and the corresponding methods of spatial division. The cause might lie in devices such as mobile phones, which invalidate spatial divisions, and might also lie in the transformation (the becoming-amorphous) of interpersonal relationships and family relationships. Or, perhaps the “lifestyle” of the person that was the initial premise for the “division of lifestyle” disappears during the era of building a house. Because a person perhaps builds a house for somewhat distinct purposes, if this is investigated more thoroughly, the house, including every “thing,” rather than being something made for some particular purpose could also be said to somehow become a manifestation of its era. Taking a broad view of all of this, I am interested in a plan-less condition.


Kengo Kuma
judge

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
ประกาศผลรางวัล Shinkenchiku Residential Design Competition 2006
ในนิตยสาร Japan Architect ฉบับที่ 64









+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

อันนี้เป็นงานที่ผมกับเพื่อนส่งร่วมประกวด ^_^


The Plan-less Game
Wichit Horyingsawad and Puttichart Vanichtat

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-The Fold : Leibniz and the Baroque--Gilles Deleuze
Book read:
-เรื่องตบตา--ปราบดา หยุ่น

Wednesday, January 03, 2007

Cinemetrics Workshop

Relation Thinking and the New Architectural Imaging System
2007-01-04>2007-01-11





Digital technology has become an essential part of everyday life.

It has revolutionized the way we think and act in the world, possibly bringing about a radical shift in thinking.
It is a shift from linear and objective thinking to circuit and relational thinking, from only considering the parts to regardingthe whole. As we come to terms with this paradigm shift, there are many questions that arise.

What happens when architectural drawing moves from drawing boards to computer screen? With the possibilities of new understanding, do we use digital media merely as another form of drawing andpresentation tools, or do we use it to explore a new way of thinking about architecture and cities? CINEMETRICS, a new architectural imaging system for thinking about architecture, is an attempt to answer these questions. It is based on the notion of thinking about architecture and cities not as an isolated object, but as embedded in relationships, responsive to the currentunderstanding of the nature of the world. How we respond to such question affects every aspect of our involvement in the built environment as designers, architects or planners. To shift from linear thinking to relational thinking.

The Department of Architecture, Faculty of Architecture, Chulalongkorn University, Bangkok will hold a one week workshop aiming at investigating these questions. The workshop encourages students from design disciplines and others to explore the possibilities of digital media as a new imaging system for thinking about architecture and cities as fields of relationships. It will act as a point of departure towards the development of new tools that leads to a new understanding of our built environment of our time.

The workshop focuses on operative concepts and investigative methods for studying architecture and cities with digital tools. Participants will be first introduced to the concept of Cinemetrics by a lecture from Brian McGrath (Graduate School of Architecture, Planning and Preservation, Columbia University), followed by a movie session that resonate the idea. This will serve as a point of departure into discussion about the concept of Cinemetrics. Participants will then test the idea by conducting field studies on architecture and urban space with the help of digital tools. Finally, they will be asked to produce a final outcome of their investigation in any form presentation using 2D, 3D or 4D software.

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-

Monday, January 01, 2007

Que Sera, Sera

Whatever Will Be, Will Be
2007-01-01
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
**Happy New Years 2007**
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+


"Whatever will be, will be,
The future's not ours to see,
What will be, will be."

สวัสดีปี 2550
ปีใหม่นี้ขออวยพรให้เพื่อนๆ พี่ๆ
และน้องๆทุกคน
มีความสุขและความทุกข์
กับทุกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้
อย่างที่มันควรจะเป็น
ปล่อยไปตามธรรมชาตินะ
ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องฝืน--จี้ ^_^


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+


Doris Day (1924-)

เพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) ร้องเป็นครั้งแรกโดยนักแสดงหญิงที่มีชื่อว่า Doris Day ในหนังของ Alfred Hitchcock เรื่อง "The Man Who Knew Too Much" ที่ฉายในปี 1956 จากนั้นมาก็กลายเป็นเพลงฮิตที่ถูกนำมาร้องใหม่ซ้ำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งจนเรานับแทบไม่ไหว :P

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+



ด้านล่างเป็นเนื้อเพลง
(เผื่อมีใครอยากร้องตาม) ^_^

When I was just a little girl,
I asked my mother, "What will I be ?
Will I be pretty ?
Will I be rich ?"
Here's what she said to me :

"Que Sera, Sera
Whatever will be, will be,
The future's not ours to see,
Que sera, sera,
What will be, will be."

When I grew up and fell in love,
I asked my sweetheart, 'what lies ahead?
Will we have rainbows, day after day?
Here's what my sweetheart said:

Que sera, sera,
Whatever will be, will be
The future's not ours to see.
Que sera, sera,
What will be, will be

Now I have children of my own
They ask their mother what will I be
Will I be handsome, will I be rich?
I tell them tenderly

"Que Sera, Sera
Whatever will be, will be,
The future's not ours to see,
Que sera, sera,
What will be, will be.
Que Sera, Sera"

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-ขำขันกับฮิวเมอริสต์จิตแจ่มใส--ฮิวเมอริสต์