2007-01-24
“Form Follow Function” เป็นคำใหญ่ที่ทรงอิทธิพลคำนึงในวงการสถาปัตยกรรม ซึ่งเถียงยาก เมื่อมันถูกเอื้อนเอ่ยออกจากปากของใคร โดยมากมักไม่อยากมีใครอยากต่อปากต่อคำ เพราะมันช่างเป็นเรื่องของเหตุและผล (และดูเป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้-ยุคนี้วิทยาศาสตร์มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด) ใครริอาจเถียงบางครั้งอาจจะตกอยู่ในสภาพที่เปลืองเนื้อเปลืองตัวโดยใช่เหตุ
สมัยเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีไม่สูงนัก(ไม่ปีสองก็ปีสาม) เคยเข้าไปดูรุ่นพี่พรีเซ็นท์แบบกับอาจารย์(เวลามีการพรีเซ็นท์แบบนักศึกษาชั้นปีอื่นสามารถเข้ามาฟังและแสดงความคิดเห็นได้) รู้สึกว่าจะเป็นโครงการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรสักแห่งหนึ่ง รุ่นพี่ที่ผมสนิทคนนึงกำลังถูกอาจารย์ท่านหนึ่งต้อนจนเหตุผลของอาจารย์ล้อมไว้หมดแล้ว(กรุณาออกมามอบตัวซะโดยดี ^_^) จนเกือบจะต้องยอมแพ้ เหตุที่ทำให้เหตุผลล้อมหน้าล้อมหลังรุ่นพี่คนนี้ก็คือ พี่คนนี้แกออกแบบบ้านแยกออกเป็นสองส่วนสองหลัง โดยมีทางเดินเชื่อมกัน แต่บริเวณทางเดินดั้นไม่ทำหลังคา ด้วยสาเหตุก็เพราะมันจะใหญ่และดูเทอะทะจนเกินไป และถ้าทำหลังคาอาจจำเป็นต้องตัดต้นไม้ออกอีกหลายต้น ทำให้โดนอาจารย์ต้อนจนเกือบจนมุม สาเหตุก็เนื่องมาจากความอ่อนด้อยในการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย (ที่อาจารย์คิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางอ่ะนะ)
“Form Follow Function” หรือรูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย เป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหา(ถ้าคิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางจนเกินไป) เพราะในบางขณะผมว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ประโยชน์ใช้สอยมันใช้งานได้สูงสุด--มนุษย์ไม่ควรจะปรนเปรอตัวเองขนาดนั้น สำหรับผมแล้วออกจะเก๋ดีถ้าหากบางวันเราจำเป็นต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเอง(ดีซะอีกปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราบ้าง และการเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร) ผมว่ารุ่นพี่ผมเขาก็คงคิดอะไรคล้ายๆ อย่างนี้
“ถ้าฝนตกเธอจะทำยังไง ไม่มีหลังคาอย่างนี้” อาจารย์ท่านหนึ่งโยนคำถามออกมากลางห้องประชุม
“ถ้าฝนตกก็เปียกสิครับอาจารย์” ผมแกล้งทำเป็นปล่อยมุขตลกกลบเกลื่อนแบบโง่ๆเพื่อช่วยเหลือรุ่นพี่ ได้ผลเพราะ ในห้องเริ่มมีเสียงหัวเราะ
รุ่นพี่ได้ทีพูดเสริมขึ้นมาทันที “ใช่ครับฝนตกก็เปียก แล้วเวลาเปียกเนี่ยเราไม่เจ็บด้วยนะครับ” เพื่อนๆในห้องเฮกันลั่น
ถึงเวลานี้อาจารย์ที่ปรึกษาของรุ่นพี่คนนี้—อาจารย์มานพ ภาคอินทรีย์ คงจะรอจังหวะนี้อยู่นาน แกเลยปล่อยหมัดเด็ดช่วยลูกศิษย์
“ผมว่าไม่เสียฟอร์มเท่าไหร่หรอก ถ้ามนุษย์คนนึงจะเปียกฝนบ้าง ไหนๆ อุตส่าห์อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีฝนตกแล้ว” พอพูดจบ—แกก็หัวเราะชอบใจ
เมื่อเช้าวานนี้มีฝนตกลงมาล่ะ (มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด)
ตอนเดินจากสถานนีรถไฟฟ้ามาที่ออฟฟิศผมเองก็เปียกฝน—เล็กน้อย ไม่มากอะไร
แล้วคุณล่ะเคยเปียกฝนไหม
แล้วจะรู้สึกเสียฟอร์มไหมถ้าวันหนึ่งต้องเปียกฝน
หรือต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านของตัวเอง
ทั้งที่เวลาเปียกเราก็ไม่ยักจะเจ็บ ^_^
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki
Wednesday, January 24, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
ชอบคำตอบของอาจารย์จังค่ะ
ไม่กลัวเวลาเปียกฝน...
แต่กลัวความเหงาที่มากับฝน
เปียกฝนบ่อย
ลืมถือร่มไปไหนมาไหนด้วย
เวลาถืมร่ม ฝนก็ไม่ตก
เป็นพี่ พี่จะตอบว่า Emotion ก็ functional นะคะอาจารย์ บ้านน่าจะมีส่วนที่แสดงความรู้สึกของเจ้าของบ้าน ไม่ใช่สร้างบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว
ป.ล.จี้อ่าน"นอนใต้ละอองหนาว" แล้วใช่ไหม พี่เพิ่งอ่าน พออ่านก็อ่านรวดเดียวจบ พี่ชอบ"การให้ความหมายใหม่กับชีวิต" ของตัวละครมาก แล้วมันก็ไปโยงกับอารมณ์กึ่งๆ นิยายวิทยาศาสตร์ด้วย สนุกดี แถมอีโรติคอีกเพียบ 555
พี่ว่ามันเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินให้คุณค่ากับสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้ว เราจะพบว่ามันโคตรจะไม่ตายตัวเลย แถมยังเต็มไปด้วยอคติเริ่มต้นในใจผู้ตัดสิน ถึงสถาปนิกสักคนจะออกแบบสวรรค์วิมานอะไรขึ้นมา ถ้าคนจะติ มันก็หาที่ติได้เสมอ แต่ถ้าเป็นคนที่จะชม มันก็หาเหตุผลมาสนับสนุนคำชมตัวเองได้เหมือนกัน
เอาeames house ให้คุณครูดูหน่อย
Post a Comment