Wednesday, January 24, 2007

เมื่อฝนตกมันก็ต้องเปียก

2007-01-24


“Form Follow Function” เป็นคำใหญ่ที่ทรงอิทธิพลคำนึงในวงการสถาปัตยกรรม ซึ่งเถียงยาก เมื่อมันถูกเอื้อนเอ่ยออกจากปากของใคร โดยมากมักไม่อยากมีใครอยากต่อปากต่อคำ เพราะมันช่างเป็นเรื่องของเหตุและผล (และดูเป็นวิทยาศาสตร์จับต้องได้-ยุคนี้วิทยาศาสตร์มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด) ใครริอาจเถียงบางครั้งอาจจะตกอยู่ในสภาพที่เปลืองเนื้อเปลืองตัวโดยใช่เหตุ


สมัยเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีไม่สูงนัก(ไม่ปีสองก็ปีสาม) เคยเข้าไปดูรุ่นพี่พรีเซ็นท์แบบกับอาจารย์(เวลามีการพรีเซ็นท์แบบนักศึกษาชั้นปีอื่นสามารถเข้ามาฟังและแสดงความคิดเห็นได้) รู้สึกว่าจะเป็นโครงการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรสักแห่งหนึ่ง รุ่นพี่ที่ผมสนิทคนนึงกำลังถูกอาจารย์ท่านหนึ่งต้อนจนเหตุผลของอาจารย์ล้อมไว้หมดแล้ว(กรุณาออกมามอบตัวซะโดยดี ^_^) จนเกือบจะต้องยอมแพ้ เหตุที่ทำให้เหตุผลล้อมหน้าล้อมหลังรุ่นพี่คนนี้ก็คือ พี่คนนี้แกออกแบบบ้านแยกออกเป็นสองส่วนสองหลัง โดยมีทางเดินเชื่อมกัน แต่บริเวณทางเดินดั้นไม่ทำหลังคา ด้วยสาเหตุก็เพราะมันจะใหญ่และดูเทอะทะจนเกินไป และถ้าทำหลังคาอาจจำเป็นต้องตัดต้นไม้ออกอีกหลายต้น ทำให้โดนอาจารย์ต้อนจนเกือบจนมุม สาเหตุก็เนื่องมาจากความอ่อนด้อยในการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย (ที่อาจารย์คิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางอ่ะนะ)

“Form Follow Function” หรือรูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย เป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหา(ถ้าคิดแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางจนเกินไป) เพราะในบางขณะผมว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ประโยชน์ใช้สอยมันใช้งานได้สูงสุด--มนุษย์ไม่ควรจะปรนเปรอตัวเองขนาดนั้น สำหรับผมแล้วออกจะเก๋ดีถ้าหากบางวันเราจำเป็นต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเอง(ดีซะอีกปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราบ้าง และการเดินกางร่มอยู่ในบ้านตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร) ผมว่ารุ่นพี่ผมเขาก็คงคิดอะไรคล้ายๆ อย่างนี้

“ถ้าฝนตกเธอจะทำยังไง ไม่มีหลังคาอย่างนี้” อาจารย์ท่านหนึ่งโยนคำถามออกมากลางห้องประชุม
“ถ้าฝนตกก็เปียกสิครับอาจารย์” ผมแกล้งทำเป็นปล่อยมุขตลกกลบเกลื่อนแบบโง่ๆเพื่อช่วยเหลือรุ่นพี่ ได้ผลเพราะ ในห้องเริ่มมีเสียงหัวเราะ
รุ่นพี่ได้ทีพูดเสริมขึ้นมาทันที “ใช่ครับฝนตกก็เปียก แล้วเวลาเปียกเนี่ยเราไม่เจ็บด้วยนะครับ” เพื่อนๆในห้องเฮกันลั่น
ถึงเวลานี้อาจารย์ที่ปรึกษาของรุ่นพี่คนนี้—อาจารย์มานพ ภาคอินทรีย์ คงจะรอจังหวะนี้อยู่นาน แกเลยปล่อยหมัดเด็ดช่วยลูกศิษย์
“ผมว่าไม่เสียฟอร์มเท่าไหร่หรอก ถ้ามนุษย์คนนึงจะเปียกฝนบ้าง ไหนๆ อุตส่าห์อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีฝนตกแล้ว” พอพูดจบ—แกก็หัวเราะชอบใจ

เมื่อเช้าวานนี้มีฝนตกลงมาล่ะ (มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด)
ตอนเดินจากสถานนีรถไฟฟ้ามาที่ออฟฟิศผมเองก็เปียกฝน—เล็กน้อย ไม่มากอะไร
แล้วคุณล่ะเคยเปียกฝนไหม

แล้วจะรู้สึกเสียฟอร์มไหมถ้าวันหนึ่งต้องเปียกฝน

หรือต้องเดินกางร่มอยู่ในบ้านของตัวเอง
ทั้งที่เวลาเปียกเราก็ไม่ยักจะเจ็บ ^_^


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki

4 comments:

Anonymous said...

ชอบคำตอบของอาจารย์จังค่ะ

ไม่กลัวเวลาเปียกฝน...

แต่กลัวความเหงาที่มากับฝน

Anonymous said...

เปียกฝนบ่อย
ลืมถือร่มไปไหนมาไหนด้วย
เวลาถืมร่ม ฝนก็ไม่ตก


เป็นพี่ พี่จะตอบว่า Emotion ก็ functional นะคะอาจารย์ บ้านน่าจะมีส่วนที่แสดงความรู้สึกของเจ้าของบ้าน ไม่ใช่สร้างบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว

ป.ล.จี้อ่าน"นอนใต้ละอองหนาว" แล้วใช่ไหม พี่เพิ่งอ่าน พออ่านก็อ่านรวดเดียวจบ พี่ชอบ"การให้ความหมายใหม่กับชีวิต" ของตัวละครมาก แล้วมันก็ไปโยงกับอารมณ์กึ่งๆ นิยายวิทยาศาสตร์ด้วย สนุกดี แถมอีโรติคอีกเพียบ 555

the aesthetics of loneliness said...

พี่ว่ามันเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินให้คุณค่ากับสิ่งๆหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้ว เราจะพบว่ามันโคตรจะไม่ตายตัวเลย แถมยังเต็มไปด้วยอคติเริ่มต้นในใจผู้ตัดสิน ถึงสถาปนิกสักคนจะออกแบบสวรรค์วิมานอะไรขึ้นมา ถ้าคนจะติ มันก็หาที่ติได้เสมอ แต่ถ้าเป็นคนที่จะชม มันก็หาเหตุผลมาสนับสนุนคำชมตัวเองได้เหมือนกัน

Anonymous said...

เอาeames house ให้คุณครูดูหน่อย