Wednesday, October 11, 2006

ตึกเสริมมิตร

Goodbye, My Urban Space
2006-10-11

“Space is set of experiential dimensions that encompasses a set of objects and events, and in which it is possible to move about. Not necessarily preexisting or durable. Place is location invested with meaning, or affording identification, appropriation, or history.”


ผมเป็นคนไม่สูบบุหรี่

อาจจะเคยสูบบ้างเป็นบางครั้งบางคราว บางค่ำคืน(ที่นึกสนุกอยากสูบ) ในวงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกัน และหากจำเป็นต้องนั่งสนทนาพาทีอยู่ในกลุ่มสิงห์อมควันทั้งหลายแล้ว ผมไม่เคยตั้งท่ารังเกียจ ปิดจมูก หรือเบ้ปาก

รู้ว่าบุหรี่มีโทษ อาจจะทำให้อายุในการอาศัยอยู่บนโลกของเรานั้นสั้นลง(ไปอีกหน่อย) สำหรับผมแล้วบุหรี่ไม่ต่างอะไรไปจาก อาหารฟาสฟู้ด รถยนต์ หรือข้าวของเครื่องใช้รอบๆ ตัว ในชีวิตประจำวัน ที่ล้วนแล้วแต่มีพิษภัยแฝงมากับการบริโภคทั้งสิ้น(โลกใบนี้ที่เราอยู่กันนั้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ อากาศมันก็ไม่ได้สะอาดอะไรนักหนา)--อาหารฟาสฟู้ดกินแล้วอ้วนไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รถยนต์ก่อมลพิษทางอากาศ นักวิทยาศาสตร์เคยออกมาบอกว่ามันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด green house effect และทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น(ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และสภาพอากาศแปรปรวน) จำได้ว่าเคยดูรายการของคุณสุทธิชัย หยุ่น ทางช่องเก้าในคืนหนึ่ง ว่าด้วยปัญหาของเรื่องสภาวะโลกร้อน มีคำถามหนึ่งที่เขาถามว่านักวิทยาศาสตร์ว่า "แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนขึ้นได้ยังไง" นักวิทยาศาสตร์คนนั้นตอบสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า "มนุษย์ต้องเลิกใช้รถยนต์"

คุณอาจจะบอกว่ารถยนต์นั้นต่างจากบุหรี่เพราะเป็นยานพาหนะ มีประโยชน์ แต่สำหรับคนไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล(อย่างผม)แล้ว การที่คุณใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้เร็วขึ้น สะดวกสบายขึ้น(หนึ่งคนต่อหนึ่งคัน วัตถุน้ำหนักเกือบสองตันบรรทุกวัตถุน้ำหนักไม่ถึงเจ็ดสิบกิโลกรัม--สำหรับผมมันเป็นสัดส่วนที่แปลกพิลึก) แต่พ่นควันพิษออกมาปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก มันก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับ (ผม) คนที่เดินอยู่บนทางเท้าริมถนนตรงไหน (ยังไงก็ตามเวลาเห็นรถติดแล้วจอดนิ่งๆ กันเป็นแพ ปล่อยควันพิษอยู่บนถนน ผมก็ไม่เคยคิดทำอะไรที่ไร้มารยาท เหมือนโฆษณารณรงค์ต่อต้านคนสูบบุหรี่เช่น เดินเข้าไปเคาะกระจกรถ แล้วถามคนขับว่า "เราเคยรู้จักกันหรือเปล่า? แล้วคุณมาทำร้ายฉันทำไม?")

เหตุผลเช่นเดียวกันกับที่ผมรู้สึกกับคนที่สูบบุหรี่ทั้งหลาย--ผมก็ไม่เคยคิดรังเกียจคนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล(ผมมีเพื่อนสนิทหลายคนที่ขับรถไปทำงานทุกวัน)

แต่ทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่าสังคมของคนสูบบุหรี่กำลังถูกริดรอนสิทธิในการใช้พื้นที่ลงไปเรื่อยๆ

(ไม่นับการกระทำทีไร้มารยาทที่ทางราชการมีต่อคนที่สูบบุหรี่ เช่น ติดภาพน่าเกียจ(ไม่น่ารื่นรมย์) พร้อมคำเตือน ถึงพิษภัยขนาดค่อนพื้นที่ของซองบุหรี่ รู้ว่าเป็นคำเตือน แต่การเตือนก็ควรรักษามารยาทและไม่ดูก้าวร้าวแบบนี้ไม่ใช่หรือ? ลองคิดดูสิ ถ้าแฮมเบอร์เกอร์ทุกชิ้น มีรูปคนอ้วนน่าเกียจติดอยู่บนกระดาษห่อพร้อมกับคำเตือน หรือถ้ารถยนต์ทุกคันที่ท้ายรถมีรูป ปอดเน่าๆ สีดำๆ ติดอยู่พร้อมกับ มีคำเตือนตัวใหญ่ๆ แปะเอาไว้ที่ท้ายรถว่า "ควันจากท่อไอเสียรถยนต์เป็นพิษต่อร่างกาย และสร้างภาวะเรือนกระจกให้กับโลก โปรดขับขี่ด้วยความระมัดระวัง" ผมคิดว่าคงไม่น่ารื่นรมย์นัก)

อย่างน้อยที่สุดก็สังคมของคนสูบบุหรี่ที่หน้าตึกเสริมมิตร ริมถนนอโศก ที่ผมเดินผ่านทุกเช้า

ในสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ผมเคยใช้ห้องสมุดของมูลนิธิญี่ปุ่น(ที่ตึกเสริมมิตร) เป็นห้องทำงานวิจัย(ส่งอาจารย์) หรือไม่ก็นั่งอ่านหนังสือเล่นๆ ไปบ่อยถึงขนาดที่โดนบรรณารักษ์(เป็นผู้หญิงสูงอายุ หน้าตาดุมากๆ แต่ก็ใจดีมากๆ--เธอมีบุคคลิกดีมากๆ ผมสีขาวโพรน ใส่แว่นตา และดูสุขุม ทุกวันนี้เธอไม่ได้ทำงานที่นี้แล้ว คิดว่าคงเกษียณอายุ แล้วไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุข อยู่ที่ไหนสักแห่ง ) แซวว่า "อ่านหนังสือหมดห้องสมุดหรือยังจ๊ะหนู? เห็นมาทุกวัน" แล้วก็ยิ้มให้

ทุกเช้าก่อนขึ้นไปใช้บริการห้องสมุดผมมักจะนั่งกินกาแฟ อยู่ที่ร้านกาแฟข้างตึก จากนั้นก็จะไปซื้อน้ำผลไม้ปั่น(เมนูที่กินประจำคือ สตอเบอรี่ ซันไลท์ ^_^) หน้าตึกเสริมมิตรกิน

ซึ่งกิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกเช้านี้เองที่ทำให้ผมต้องพบปะกับ สมาคมสิงห์อมควันแห่งตึกเสริมมิตร ^_^

ผมรู้สึกว่าสังคมของผู้ที่สูบบุหรี่หน้าตึกเสริมมิตรนั้น น่ารักและมีบุคคลิกเฉพาะ คุณจะเห็นภาพผู้บริหารระดับสูงชาวญีุ่ปุ่น ยืนคุยกับพนักงานส่งเอกสาร เห็นหนุ่มออฟฟิศหลากบริษัทที่ทำงานอยู่ด้านบนยืนคุยกัน อย่างออกรส บางกลุ่มบางพวกก็กางหนังสือพิมพ์พูดคุยวิเคราะห์การเมือง ด้วยบรรยากาศที่ดูผ่อนคลาย สบายๆ (แน่นอนที่สุดในมือของทุกคนนั้นคีบบุหรี่เอาไว้ด้วย)

ถ้าการไปออนเซ็นของคนญี่ปุ่นเป็นการสลายสถานะภาพทางสังคมของแต่ละบุคคล(ชั่วขณะ) พื้นที่สาธารณะบริเวณหน้าตึกเสริมมิตรก็น่าจะมีลักษณะอะไรที่คล้ายๆกันอยู่ (ถึงแม้กิจกรรมทั้งสองอย่างนั้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม)

ทุกวันนี้ถ้าคุณผ่านไปที่ตึกเสริมมิตรเวลาในช่วงเช้าๆหรือบ่ายๆ คุณก็จะไม่เห็นภาพการพบปะสังสรรค์กันทางสังคมแบบนี้อีกแล้ว แต่ภาพที่คุณเห็นก็คือจะมีอีเว้นส์หรือกิจกรรมโฆษณาสินค้า พูดออกไมค์เปิดลำโพงเสียงดัง(สำหรับผมมันเป็นภาพที่น่ารำคาญกว่าการเห็นคนสูบบุหรี่ยืนคุยกันเยอะแยะ--เพราะมันส่งเสียงเอะอะน่ารำคาญพูดจาเอาแต่ได้, เอาแต่ประโยชน์ของตัวเองและแน่นอนที่สุดมันทำทำให้เกิดมลภาวะทางเสียง)

เราเคยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟังเมื่ออาทิตย์ที่แล้วในขณะที่นั่งกินข้าวเย็นกัน เพื่อนเราถึงกับบ่นเสียดาย(เพราะรู้สึกดีกับมัน) เพราะเคยไปใช้พื้นที่บริเวณนี้สูบบุหรี่บ่อยๆ ตอนที่ต้องมาทำธุระแถวอโศก

ที่หน้าตึกเสริมมิตรวันนี้มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ติดอยู่ ไม่มีมนุษย์มายืนปฎิสัมพันธ์กัน บางวันบางเวลาคุณก็จะได้ยินเสียงเอะอะโวยวายเปิดเพลงเสียงดัง--พร้อมกับโฆษณาสินค้า(ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตจากสมองของคนที่เรียกตัวเองว่าครีเอทีฟ--นักสร้างสรรค์ :P )

ไม่มีคนยืนสูบบุหรี่ที่หน้าตึกแล้วอากาศน่าจะดีขึ้น โลกคงน่าอยู่มากขึ้น ที่หน้าตึกคงน่าภิรมย์มากขึ้น--เอาน่า มันน่าจะคุ้มค่านะ แค่พื้นที่ทางสังคมหายไปนิดหน่อย(แล้วได้พื้นที่ทางการตลาดทึ่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานมากขึ้น)

ถัดออกไปอีกนิด ทางด้านนอกตึก บนถนนอโศก รถติดกันเป็นแพ ควันสีขาวลอยอยู่เต็มบรรยากาศ

แน่นอนที่สุด
"มันไม่ใช่ควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่"


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-ฉันหลงรักฤดูกาล--สกุณี ณัฐพูลวัตน์

Books read:
-Art4D Magazine Number150--September 2006
-วารสารอาษา ฉบับ 08:49-09:49

1 comment:

the aesthetics of loneliness said...

ที่ตึกเบญจมาศนี่ก็มีเหมือนกัน แต่ผมไม่เคยไปร่วมแจมหรอก เพราะควันบุหรี่ทำให้ระคายคอ
บางทีคนเราก็อาจจะต้องการวัตถุอะไรบางอย่าง มาเป็นตัวเชื่อมโยง สร้างกิจกรรม และเป็นเหตุผล
ในการมาอยู่ใกล้ชิดกัน บางคนใช้เหล้า ใช้บุหรี่ บางคนใช้หนังสักรอบ กาแฟสักถ้วย ข้าวสักจาน
ถ้าไม่มีวัตถุ ก็ไม่มีอะไรมาเชื่อมโยงเรา เราไม่มีกิจกรรมร่วมกัน และเราไม่มีเหตุผลที่จะใกล้ชิดกัน
แค่รักกัน มันไม่ได้ทำให้เราใกล้ชิดกันได้ ไม่รู้ทำไม
ผมเลือกข้าวสักจาน อาหารตามสั่ง พิเศษไข่ดาวลูกนึง สามสิบบาท ทำให้เราอยู่ด้วยกันสักยี่สิบนาที