About Place/ About Non-Place
2006-10-18
“Space is set of experiential dimensions that encompasses a set of objects and events, and in which it is possible to move about. Not necessarily preexisting or durable. Place is location invested with meaning, or affording identification, appropriation, or history.”
สถานที่ กับ บริบท (Place VS. Context)
ผิวโลก, แผ่นดิน, พื้นที่ ก็เหมือนสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งดำรง อยู่โดยตัวมันเองก็จริง แต่ไร้ความหมายในตัวเอง แต่จะกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อมนุษย์ในแง่ใดแง่หนึ่งขึ้นมานั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่ว่ามนุษย์กำหนดหรือวางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งเหล่านั้นไว้อย่างไร หรือ ว่าสิ่งนั้นสังคมได้กำหนดความรู้ นิยาม ชื่อ คำ หรือธรรมเนียมต่างๆ ให้มันอย่างไร
ร้านอะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่(about studio/about café) นั้นโดยตำแหน่งของมันบนพื้นโลก ตั้งอยู่ที่ 402- 408 ถนนไมตรีจิตต์ ป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100 ประเทศไทย แน่นอนสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยไปที่นั่น ความรู้ในเรื่องที่ตำแหน่งที่ตั้งของมันดูเหมือนจะไร้ประโยชน์ในการกำหนดลักษณะของพื้นที่แห่งนี้ แต่ความทรงจำของคุณนั้นพาคุณไปยังสถานที่ที่อยู่รอบๆที่นั่นได้ ที่ซึ่งคุณเคยมีประสบการณ์ร่วมในอดีต ความทรงจำจึงพาคุณเดินทางไปรอบๆ ความทรงจำนั้นไม่จำเป็นต้องมีลำดับเรื่องราวตามเวลาที่เป็นเส้นตรงแต่อย่างไร ความทรงจำสามารถที่จะนำเอาเรื่องราวและเหตุการณ์ที่มีประสบการณ์ในอดีตมารวมไว้ในที่เดียวกัน ยิ่งพยายามนึกถึงตำแหน่งของมันมากขึ้นเท่าไร ความทรงจำยิ่งจะทำให้สิ่งที่อยู่รอบๆที่นั่นชัดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคุณนึกพยามนึกถึงร้านแห่งนี้ คุณอาจจะได้ภาพของหัวลำโพง, ประตูจีน, น้ำพุที่เคยนั่งเล่นที่วงเวียน22 กรกฏาคม, ร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วเจ้าประจำที่เคยกิน แน่นอนว่าประสบการณ์ที่มีต่อเหตุการณ์และเวลาของชีวิตมนุษย์ทุกคนนั้นต่างกัน ทำให้ภาพของความทรงจำที่เกิดหรือนึกถึงเรื่องราวในสถานที่นั้นๆ ย่อมแตกต่างกัน ซึ่งในความทรงจำของคนอื่นๆ อาจจะต่างจากเรื่องราวที่ผมกล่าวไปในตอนต้น
แต่ในบางย่านบางสถานที่นั้น พื้นที่/สถานที่แห่งนั้นอาจสร้างความทรงจำร่วมได้(collective memory) คือ เป็นความทรงจำที่ทุกคนมีร่วมกัน ซึ่งความทรงจำชนิดนี้อาจจะเกิดจากสัณฐานหรือลักษณะเฉพาะบางอย่างของสถานที่นั้น ที่ทุกคนสามารถรับรู้และสึกได้ร่วมกัน จนมันกลายเป็นลักษณะเฉพาะพิเศษของย่าน/สถานที่นั้นๆ ที่เราเรียกว่า “sense of place”
ถ้าเราลองย้อนกลับมามองที่ตั้งของร้านอะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่(about studio/about café) อีกครั้ง จะเห็นว่าตำแหน่งและที่ตั้งของร้าน ตั้งอยู่ในย่านที่มีความเก่าแก่ย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ลักษณะของอาคารบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นตึกแถว ความสูง 2 ชั้น ซึ่งบริเวณพื้นที่ชั้นล่างส่วนใหญ่นั้นใช้ในการทำมาค้าขาย และมีพื้นที่บางส่วนเป็นท่ารถสำหรับขนถ่ายสินค้า ทางรถบรรทุก, บางส่วนที่เป็นโรงแรมเกรดบี และ อาบ อบ นวด บางส่วนเป็นร้านขายอะไหล่รถยนต์ และร้านทำป้ายต่างๆ โดยมีถนนไมตรีจิตต์ เป็นตัวเชื่อมพื้นแถวนี้กับพื้นที่ในบริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม เข้าด้วยกัน ในเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณนี้ ความหนาแน่นของผู้คนก็ไม่ได้มากมายอะไรเท่าไร และหากลองสังเกตดูผู้คนที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ไม่ค่อยเร่งรีบ มีลักษณะที่เรียบๆเนือยๆ สบายๆ แต่บริเวณตึกแถวที่อยู่ในซอยย่อยๆต่างๆนั้น มีความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆมากกว่าพื้นที่ๆอยู่ติดกับถนนไมตรีจิต ซึ่งลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะพิเศษที่เป็นอัตลักษณ์(identity)ของย่านหรือของพื้นที่บริเวณนี้
และเนื่องจากสภาวะของความเป็นสถานที่(place)ใดๆ ก็ตามเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงอยู่ของมันในพื้นที่และเวลา ดังนั้นร้านอะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่(about studio/about café) ตึกแถวที่มีลักษณะสีชมพูอ่อนที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมพื้นที่ระหว่างถนนสองสาย ก็ปรากฎตัวขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าใครผ่านไปผ่านมาในบริเวณนั้นก็ย่อมที่จะสามารถพบเห็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ขอบเขตและตำแหน่งที่ตั้งของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้จึงมีความชัดเจนในแง่ของความรู้สึกรับรู้ในเรื่องของการมีอยู่ในมิติที่เป็นกายภาพ อีกทั้งรูปแบบของของสถาปัตยกรรมที่ปรากฎนั้นก็ดูเหมือนว่าจะสอดประสานกลมกลืนไปกับบริบทที่แวดล้อม
แต่ในบางแง่มุมการดำรงอยู่ของสถานที่แห่งนี้ก็มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนในเรื่องความหมายของพื้นที่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความจงใจของเจ้าของร้านกาแฟแห่งนี้ สังเกตุได้จากชื่อร้านคือ ‘อะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่’ คล้ายๆว่าไม่ยอมบ่งชัดเจนว่าเป็นจะเป็นอะไรกันแน่ รอบๆราวๆว่าจะเป็นร้านขายกาแฟ แต่ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นสตูดิโอที่ไว้จัดแสดงงานศิลปะ ดังนั้นสิ่งที่อยู่รอบๆร้านกาแฟแห่งนี้จึงเป็นเรื่องราวของการแสดงงานศิลปะ ซึ่งในขณะเดียวกันสิ่งที่อยู่รอบๆงานศิลปะที่จัดแสดงนั้นอาจกลายเป็นบรรยากาศของร้านกาแฟ เมื่อแกนกลางความหมายของพื้นที่เกิดความคลุมเครือเปลี่ยนขั้วกันไปมาเหมือนชื่อร้าน ทำให้ความหมายที่ไหลเวียนอยู่ภายนอกไม่สามารถระบุแกนกลางได้ชัดเจน ซึ่งพื้นที่ในลักษณะนี้ ยากที่มนุษย์คนไหนจะเข้าไปสร้างความรู้สึกผูกพันและเปลี่ยนความหมายของพื้นที่นี้ให้กลายเป็น ‘สถานที่’(place)ได้
ในขณะที่ลักษณะของเหตุการณ์และกิจกรรมที่เกิดจากพื้นที่ภายในไม่เอื้อให้เกิดคุณลักษณะความเป็น’สถานที่’(place) ของพื้นที่นั้น ความเป็น ‘สถานที่’ กลับถูกส่งเข้ามาจากบริบท(Context)ภายนอก เพื่อสร้างความหมายแก่พื้นที่ภายใน เนื่องจากลักษณะพิเศษของความเป็นย่านที่มีลักษณะเฉพาะจากภายนอกโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในร้าน ผ่านหน้าต่างกระจกขนาดใหญ่ซึ่งวางตัวขนานไปกับถนนทั้งสองข้าง ที่อยู่แวดล้อมอาคาร ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างที่ว่างภายในกับที่ว่างภายนอกอาคาร ภาพกิจกรรมหรือวิถีชีวิตผู้คนของผู้คนบริเวณนั้นจะปรากฎขึ้นภายใน
สถานที่ กับ อสถานที่(Place VS. Non-Place)
เมื่อความคลุมเครือของเหตุการณ์และกิจกรรม ซึ่งเกิดจากการนำงานศิลปะซึ่งโดยลักษณะงานนั้นเป็นแบบ “representational art” เข้าไปแทรกในพื้นที่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเราถือว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งในแบบที่เราเรียกว่า “non- representational art” ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความน่าสนใจในการศึกษา เนื่องจาก งานศิลปะแบบจัดวาง(installation art) ที่เขามาติดตั้งในพื้นที่ร้านอะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่ ซึ่งโดยทั่วไปลักษณะของงานประเภทนี้จะเปลี่ยนความหมายของพื้นที่ใหม่ กลายเป็นสถานที่ที่ไม่มีจริงในโลก หรือในแผนที่ใดๆ แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำกิจกรรมนั้นเป็นการเฉพาะ และลักษณะของพื้นที่ไม่ค่อยผูกพันกับเวลาและวิธีคิดที่แยกอดีต ปัจจุบัน และอนาคตออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ตัวมันจะมีระบบเวลาเป็นของตัวเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนั้นให้กลายเป็น ‘อสถานที่’(non-place) ขณะเดียวกันลักษณะของพื้นที่ภายในร้านอะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่ ก็ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นพื้นที่ปิด ทำให้‘บริบท’(context) ส่งความหมายของความเป็น ‘สถานที่’(place) เชื่อมโยงความหมายให้พื้นที่ภายในและภายนอกนั้นสัมพันธ์กัน ทำให้ตัวมันเองก็มีความเป็น ‘สถานที่’(place) อยู่ด้วย
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
“คล้ายๆเป็นศิลปะ”(Smell like art)
“ได้รสชาดเหมือนอาหารและเครื่องดื่มปรกติ ให้ความรู้สึกเหมือนโต๊ะบิลเลียดและไม้คิวที่เล่นได้จริง เสียงต่างๆก็เหมือนเสียงดนตรีและเสียงของผู้คนที่พูดคุยกัน สถานที่ดูคล้ายเป็นร้านกาแฟและแกลเลอรี่ มันดู…คล้ายๆเป็น… ศิลปะ“
“นิทรรศการเดี่ยวของ สุรสีห์ กุศลวงศ์ ที่ อะเบาท์สตูดิโอ/อะเบาท์คาเฟ่ เป็นการพยายามที่จะทำให้เกิดความคลุมเครือ(เน้นเข้มโดยผู้เขียน—ผู้เขียน)ระหว่าง พื้นที่เฉพาะที่ใช้สำหรับแสดงงานศิลปะ(art site) และพื้นที่ปรกติทั่วไปที่ไม่ได้กำหนดหรือสร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงงานศิลปะ(non-art site) โดยที่สุรสีห์ใช้องค์ประกอบแต่ละส่วนของพื้นที่ทั้งหมดมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ตัวบริบทเป็นคำศัพท์สำคัญในการสร้างความหมายของงานจัดวางชุดนี้ : ตัวอาคาร, บทบาทและหน้าที่ต่างๆ, กิจกรรมที่เกิดขึ้นในสถานที่ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดโดยรวม ดูเผินๆแล้ว งานจัดวางชุดนี้ดูเรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ชิ้นงานประกอบด้วยโต๊ะ(บิลเลียด) พูล 2 โต๊ะที่ใช้เล่นได้จริงวางอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ตัวหนึ่งอยู่ชั้นบน อีกตัวหนึ่งอยู่ชั้นล่าง แผ่นพลาสติกหลากสีวางอยู่ปูอยู่บนโต๊ะในร้านกาแฟ, เฟอร์นิเจอที่ทำจากฟูกที่นอนที่มีลักษณะแบบงานประติมากรรม ถูกวางๆตามที่ต่างเพื่อปรโยชน์ใช้สอยสร้างความสบายให้กับผู้ที่เข้ามาในสถานที่, รูปทรงเราขาคณิตที่เขียนเป็นงานแบบนามธรรมบนกำแพงทั้งหมดของชั้นล่างรวมทั้งในห้องน้ำ”
พื้นที่ที่สุรสีห์สื่อสารให้คนดูนั้นเรียบง่ายและแสนที่จะคลุมเครือในความหมาย เขานำสิ่งใกล้ตัวมาสื่อสารและตั้งคำถามกับพื้นที่และคนดูที่เข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยพยายาม รวมพื้นที่ทางศิลปะ/พื้นที่ทางสังคม เข้าด้วยกัน นอกจากเขาจะใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์แล้วเขายังใช้ความคลุมเครือในพื้นที่เดิมที่มีอยู่เป็นประเด็นหลักในการทำงานชิ้นนี้ของเขา ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าถ้าคนไม่รู้ว่านี่เป็นงานศิลปะงานชิ้นนี้จะกลายเป็น ‘สถานที่’(place) เนื่องจากวัตถุที่เข้ามาติดตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงความหมายของพื้นที่เดิมน้อยมาก จุดที่น่าสนใจในพื้นที่แห่งนี้อยู่ที่ให้โอกาสคนดูได้เข้ามามีโอกาสเปลี่ยนความหมายของพื้นที่ตรงนี้ด้วยตนเอง เพียงแต่คุณบอกตัวเองให้ได้ว่านีสิ่งนี้คืองานศิลปะ หรือว่ามัน คล้ายๆว่า….จะเป็นเท่านั้นเพราะมีศิลปินกำลังให้ความหมายว่ามันเป็นอยู่ ในแง่ของความหมายในการเป็น ‘อสถานที่’(non-place) ของพื้นที่นั้นในสถานการณ์นี้นั้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าตราบใดที่มันยังให้ความรู้สึกที่เป็นร้านกาแฟนั้น มันก็ยังเป็น ‘สถานที่’(place) แต่เมื่อพื้นที่ร้านมันเป็นงานศิลปะทั้งหมดถึงเวลานั้นพื้นที่แห่งนี้ก็จะมีสภาพเป็น ‘heterotopia’หรือ ‘อสถานที่’ (non-place) ไปโดยปริยายเนื่องจากสถานที่ที่เราเรียกมันว่า“คล้ายๆเป็นศิลปะ”(Smell like art) จะกลายเป็นพื้นที่ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ไม่มีสถานที่จริงในโลก หรือในแผนที่(the heterotopia without geographical markers) ดังนั้น “ผู้ที่ดูงานจะถูกกระตุ้นให้ตอบโต้กับ “งาน” และบริบทของชิ้นงานนั้นๆ (ร้านกาแฟ/แกลเลอรี่, โต๊ะพูล/การแทงลูกพูล, โต๊ะพูล/งานศิลปะ) ตัวแปรและการเปลี่ยนแปลงต่างๆของพื้นที่เป็นอย่างไร เมื่อถูกมองอย่างเชื่อมโยงงกับมุมมองและทัศนะคติที่ผู้มองมีต่อสิ่งถูกมอง และถ้าสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ยังคงลักษณะอยู่เช่นเดิม ความหมายของพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่” สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้เข้าชมที่เกิดจากพื้นที่นั้นๆเป็นจึงเป็นปัจจัยสำคัญ
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-ทฤษฎีไร้ระเบียบ(Introducing Chaos)--Ziauddin Sardar แปลโดย เมธาวี เลิศรัตนา
Books read:
-
Thursday, October 19, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment