ภาพของความทรงจำที่เล็ดลอดออกมาจากรอยร้าวระหว่างคลื่นในทะเล
2006-10-30
Why has the pleasure of slowness disappeared? Ah, where have they gone, the amblers of yesteryear? Where have they gone, those loafing heroes of folk song, those vagabonds who roam from one mill to another and bed down under the stars? Have they vanished along with footpaths, with grasslands and clearings, with nature?
Slowness, Milan Kundera
ในหนังสือนิยายเล่มบางๆ เรื่อง “Slowness” ของมิลาน คุนเดอร่า ได้พูดถึงคุณค่าของ “ความอ้อยอิ่ง” “ความเนิบนาบ” หรือ “ความเชื่องช้า” พร้อมกับตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “ความเร็ว” ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุของมนุษย์
สำหรับสาระสำคัญในนิยายเล่มนี้นั้น คุนเดอร่าเชื่อว่า “ความเร็ว” ทำให้มนุษย์หลงลืมตัวตน ทำให้ความมีตัวตนของมนุษย์นั้นดูพร่ามัว ซึ่งความเร็วนั้นมีสัดส่วนแปรผันกับความเข้มข้นในการลืม โลกของความเร็วจึงเป็นโลกแห่งการลืมเลือน- -มันเป็นโลกที่ปราศจากความทรงจำในโลกที่ทุกอย่างเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว (อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง, รถยนต์ที่เร่งความเร็วได้ถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายใน 6 วินาที, การศึกษาในหลักสูตรเร่งรัด ฯลฯ) เราไม่สามารถจดจำอะไรได้ (ในโลกยุคใหม่ เพลงฮิตที่ติดชาร์ตอันดับหนึ่งในปีนี้ ปีถัดไปก็อาจจะไม่มีใครพูดถึงมันอีก ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าท่วมตัวเรามากมายในแต่ละวัน เรายังมีข้อมูลใหม่ๆ มากมายให้ต้องคอยอัฟเดทในแต่ละวันมิใช่หรือ-– ถ้าพูดกันตามภาษาของสื่อมวลชนที่นิยมใช้กันอย่างดาษดื่นก็จะบอกว่าเดี๋ยวไม่อินเทรนด์นะ!)
ในหนังสือเล่มนี้ คุนเดอร่าสังเกตพฤติกรรมโดยทั่วๆ ไปของมนุษย์ แล้วเขียนยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ในขณะที่เรากำลังเดินอยู่ แล้วต้องการนึกอะไรบางอย่างในขณะนั้นให้ออก เราก็จะพยายามเคลื่อนตัวให้ช้าลง ทำไมต้องเคลื่อนตัวช้าลง ความช้ามีผลต่อการปรากฏชัดเจนของความทรงจำอย่างไร ขณะเดียวกันในโมงยามที่เรากำลังมีความทุกข์ มีสิ่งที่ทำให้ผิดหวังสุมอยู่ข้างในอก หากลองสังเกตดู เราจะพยายามเคลื่อนตัวให้เร็วขึ้นๆ ในขณะที่เรากำลังเดินอยู่ มันเหมือนกับว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นนั้นสามารถสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราและสิ่งที่เราอยากจะลืมได้
ความเร็วสามารถทำให้เราลืมความทุกข์ที่เราไม่อยากจดจำเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น?
สำหรับคุนเดอร่า ความเชื่องช้าเนิบนาบมีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างอยู่ มันทำให้ความทรงจำที่ถูกฝังทับถมอยู่ในห้วงเวลาแห่งอดีตของเรานั้นค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นในห้วงแห่งการคิดคำนึงของเรา- -ในเวลาปัจจุบัน ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
จะว่าไป ความคิดในเรื่องนี้ของคุนเดอร่านั้นก็มีบางแง่มุมคล้ายกับความคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ฌอง โบดริยาร์ เพราะ โบดริยาร์เองก็เคยเปรียบเทียบมนุษย์ในโลกยุคใหม่- -ที่ทุกอย่างรอบตัวล้วนแล้วแต่เคลื่อนไหวด้วยความเร็ว ว่าเปรียบได้กับ “ฟองน้ำ” หรือ “กลุ่มก๊าซทึบแสง” ที่เงียบกริบ ว่างเปล่า เฉื่อยชา ที่พร้อมที่จะดูดซับทุกอย่างเข้าไปในตัว หลีกหนีสังคมเพียงเพื่อที่จะสลายตัวไปเองเมื่อถึงจุดอิ่มตัวจนไม่อาจดูดกลืนสิ่งใดๆ ได้อีก มนุษย์ในโลกยุคใหม่จึงเป็นเหมือนหลุมดำที่คอยดูดกลืนความหมายและข่าวสารทั้งหมดเข้าไปในตัว และคงเหลืออยู่แต่เพียงสิ่งซึ่งไร้ความหมาย ปฏิเสธหรือหมดปัญญาที่จะสร้างความหมายใดๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ของมนุษย์ล้วนเป็นผลมาจากข่าวสารที่ไหลบ่าเข้าใส่อย่างดุดันของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นและมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในยุคสมัยใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา
หรือในโลกยุคใหม่นั้น มนุษย์จะไม่มีทางเลือกใดๆ อีกนอกจากต้องยอมสยบให้กับปีศาจแห่งความเร็วที่คอยพรากภาพของความทรงจำไปจากชีวิต...
วินาทีนี้ (ในขณะที่ผมกำลังเรียบเรียงประโยคต่างๆ เหล่านี้อยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ให้คุณๆ ทั้งหลายได้อ่านกัน) ภายในห้องแคบเล็กๆ ที่ไร้ความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งใดๆ ห้องเงียบๆ ซึ่งตัดขาดจากความรวดเร็ว ความวุ่นวายและโกลาหลของเมืองใหญ่ที่อยู่ภายนอกหน้าต่าง ซึ่งจะว่าไป ประสบการณ์ของผมในตอนนี้ย่อมสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในห้องที่เงียบงัน (แห่งนี้) มากกว่าโลกของความโกลาหลที่อยู่ภายนอก โลกของผมในตอนนี้จึงเป็นโลกที่กำลังเคลื่อนไหวตัวอย่างเชื่องช้าๆ และเนิบนาบ
“ใช่ ต้องมีบางช่วงเวลาที่เราสามารถถอนตัวออกจากโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่อยู่ภายนอกได้” ผมบอกกับตัวเอง
และวินาทีที่ผมกำลังนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้น ความทรงจำก็ได้นำห้วงประสบการณ์ในอดีตของผมหวนคืนมายังพื้นที่ของปัจจุบันอีกครั้ง
ผมจำได้ มันเป็นความทรงจำที่มีต่อหนังเรื่องหนึ่ง--Birth of the Seanema ที่ผมเคยดูเมื่อหลายเดือนก่อน
ผมไม่แน่ใจว่าภาพของห้วงบรรยากาศ ณ เวลานั้น (ของผม) มันพร่าเลือนหรือว่าชัดเจน แต่ผมแน่ใจว่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในครั้งนั้นมีคุณสมบัติเฉพาะตัวบางอย่าง- -ที่พิเศษ
แล้วความทรงจำก็พาผมไปยังสถานที่แห่งนั้น
สถานที่แห่งหนึ่ง
ในโลกที่แสนเงียบงันของ ศะศิธร อริยะวิชา
ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงัดภายในโรงภาพยนตร์
ภาพที่อยู่ทางด้านหน้าผมนั้นเป็นภาพของเกลียวคลื่นกำลังค่อยๆ ม้วนตัวอย่างช้าๆ มันช้ายิ่งกว่าความช้าของภาพสโลว์โมชั่นที่เราพบเห็นได้ในหนังทั่วๆ ไป มันช้าในแบบที่ถ้าเรากดปุ่ม forward เพื่อเร่งความเร็วของภาพ- -มันก็ยังดูช้าอยู่ดี มันช้าในแบบที่เราอาจจะพูดได้ว่า ถ้าช้ากว่านี้อีกเพียงนิดเดียว ภาพที่อยู่ตรงหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับภาพนิ่ง
นอกจากจะภาพที่ปรากฏจะเคลื่อนไหวได้อย่างเชื่องช้าแล้ว ภาพเหล่านั้นยังโถมเข้าใส่ผมอย่างเป็นจังหวะ คล้ายคลื่นทะเลที่กำลังซัดเข้าหาฝั่งที่ละระลอก ทีละระลอก
ภาพที่อยู่ตรงหน้าเป็นระลอกคลื่นของภาพเหตุการณ์
ภาพของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่มีต่อเนื่อง
เสมือนภาพจิ๊กซอว์ที่ต่อตามจังหวะของระลอกคลื่นในท้องทะเล
ภาพของยอดเกลียวคลื่นถูกโถมทับกลบด้วยภาพของเมืองในมุมสูง แล้วต่อมา ภาพของเมืองในมุมสูงก็ค่อยๆ ถูกโถมทับกลบด้วยภาพของก้อนเมฆบนท้องฟ้า แล้วภาพของก้อนเมฆบนฟ้าก็ถูกโถมทับกลบด้วยภาพเม็ดฝนที่เกาะอยู่บนกระจกหน้าต่าง แล้วภาพของเม็ดฝนที่อยู่บนหน้าต่างก็ถูกกลบทับด้วยภาพของการจราจรที่จอแจของรถยนต์ที่อยู่บนทางด่วนภายในเมืองใหญ่ (โปรดอย่างเข้าใจผิดคิดว่าภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาเท่ากับเวลาที่คุณอ่านย่อหน้านี้จบ เพราะในความจริงมันเนิ่นนานกว่านั้นมาก)
เมื่อภาพของเหตุการณ์ใหม่ซัดเข้ามา ภาพของเหตุการณ์เก่าก็จางหายไป
เป็นจังหวะแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่เป็นจังหวะที่ช้า เนิบนาบ และหนืดเนือย
จากภาพที่ปรากฏบนจอ เมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง ผู้ชมที่นั่งชมอยู่บางท่านในขณะนั้นบางทีก็ไม่อาจทำใจเรียกภาพคลื่นไหวที่กำลังปรากฏอยู่ทางด้านหน้าจอขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านหน้าว่า “ภาพยนตร์” ได้ (ข้อมูลนี้ผม- – ผู้เขียน ได้ตั้งข้อสังเกตเอาเองจากจำนวนคนที่เดินออกไปข้างนอกก่อนที่หนังเรื่องนี้จะฉายจบ)
แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร (มิใช่เหรอ?) หากเรา (ซึ่งอาจจะหมายถึงผมและผู้ชมคนอื่นๆ ในขณะนั้น) จะใช้มาตรฐานของภาพยนตร์ที่เราเคยพบเคยดูอยู่บ่อยๆ มาวัดมาตรฐานความเป็น “ภาพยนตร์” ของหนังเงียบเรื่องนี้ของ ศะศิธร อริยะวิชา
ก็ไหนล่ะ พระเอก ไหนล่ะ นางเอก แล้วผู้ร้ายล่ะ อยู่ตรงไหน ตรงไหนของเรื่องล่ะที่เป็นปมขัดแย้ง ตรงไหนของเรื่องล่ะที่เป็นจุดคลี่คลายปมต่างๆ เหล่านั้น หรือว่าอยู่ที่ฉากสุดท้ายเอ่ย (แต่คงไม่ล่ะมั้ง เพราะดูจนจบเรื่องแล้วก็ยังไม่เห็น) ไหนล่ะ ฉากบู๊ล้างผลาญ และไหนล่ะ ฉากที่แสนน่ากลัวและสยดสยองจนขนลุกซู่ แล้วตรงไหนล่ะ ฉากที่ซึ้งตรึงใจในแบบที่เรากลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ และที่สำคัญที่สุด ฉากเลิฟซีนระหว่างพระเอกสุดหล่อและนางเอกแสนสวยของเราล่ะ- -อยู่ไหน
ถ้าใช้มาตรฐานในย่อหน้าที่แล้วมาตัดสินความเป็น “ภาพยนตร์” ของ Birth of the Seanema
ศะศิธร อริยะวิชา ก็คงไม่ต่างอะไรกับโนบิตะ ในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน
เพราะถ้าเราตัดสินเธอด้วยชุดความคิดแบบนั้น คะแนะที่เธอได้ก็คือ “ศูนย์”
แต่โลกกลมๆ ใบนี้ก็ใช่ว่าจะถูกขับเคลื่อนด้วยชุดความคิดใดชุดความคิดหนึ่งซะเมื่อไหร่กัน ในความเป็นจริงมันถูกขับเคลื่อนให้หมุนได้ด้วยชุดความคิดความอ่านที่หลากหลายและแตกต่างกัน- -อาจจะพูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่โลกจะมีความหลากหลายของ “ชีวภาพทางความคิด” (อันนี้เป็นการควงคำขึ้นมาใหม่แบบฉับพลัน ซึ่งผู้เขียนคิดเอาเองว่าเก๋ดีแล้ว แต่ถ้าผู้อ่านคิดว่าไม่ กรุณาใช้น้ำยาลบคำผิดจัดการมันซะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับมาอ่านเจออีกในภายหน้า คิดอะไรมากมาย มันก็เป็นเพียงแค่ “คำ” )
ก็อย่างว่า ในโลกของภาพยนตร์ มันก็ไม่น่าจะหลุดพ้นไปจากกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ เขาก็รู้กันว่าพี่เบิ้มอย่างฮอลลีวู้ดนั้น กำลังครอบครองพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ของแทบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในตอนนี้
แน่นอนว่าหนังฮอลลีวู้ดทั้งหมดนั้นเป็นหนังแบบ “เล่าเรื่อง” (ที่จริงหนังในโลกส่วนใหญ่ก็เป็นหนังเล่าเรื่องทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังอินดี้หรือหนังอินเดียก็ตาม) ด้วยคุณสมบัติของการเป็นหนังเล่าเรื่อง แน่นอน มันย่อมมีเนื้อเรื่องที่จะเล่า มีจุดเริ่มต้นแล้วก็ต้องมีจุดจบ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเรียงกันตามลำดับเวลาก่อนหลัง)
แต่ใช่ว่าถ้าขึ้นชื่อว่าหนังแล้ว จำเป็นต้องเล่าเรื่องอยู่เป็นสรณะเสียเมื่อไหร่ ในบางครั้งบางหนหนังอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องมีเรื่องใดๆ ที่ต้องเล่าก็ได้ บางทีมันอาจจะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ผู้คนได้หลงลืมไป
จะว่าไปแล้ว Birth of the Seanema ของศะศิธร อริยะวิชา น่าจะเป็นตัวอย่างของหนังประเภทหลังที่ว่าได้เป็นอย่างดี
หากเราลองมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาศิลปะแขนงที่เจ็ดที่เราเรียกกันว่า “ภาพยนตร์” ในทุกวันนี้ได้ผ่านการเดินทางบนถนนสายอารยธรรมของมนุษย์มากว่า 100 ปีแล้ว
จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่เกิดจากการถ่ายด้วยกล้องที่เป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ใช้งานโดยใช้มือหมุนฟิล์มด้วนแกนไม้ที่อยู่ภายนอกกล่องโดยใช้ถ่ายภาพขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งเข้าเทียบชานชลาอันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายโดยสองพี่น้องตระกูลลูมิแยร์
ทุกวันนี้ภาพยนตร์มาไกลจุดเริ่มต้นของมันในแบบที่ถ้าพี่น้องตระลูมิแยร์มาเห็นเข้าก็คงตกใจ ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันแล้วอาจจะพูดได้เลยว่าไม่มีสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้ในโลกภาพยนตร์ ไดโนเสาร์วิ่งกันยั้วเยี้ยเต็มจอก็ทำกันมาแล้ว อุกาบาตพุ่งชนโลกก็ทำกันมาแล้ว ฉากน้ำท่วมโลกซึ่งเป็นสุดยอดของความหายะนะของมวลมนุษยชาติก็ทำมาแล้ว วินาทีนี้หากเราต้องการจะสร้างภาพความฉิบหายของมวลมนุษยชาติใดๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในโลกของภาพยนตร์นั้น- -ก็คงจะไม่มีอะไรที่เกินความสามารถของผู้สร้างภาพยนตร์ในยุคสมัยนี้อย่างแน่นอน
ในภาพยนตร์ยุคโบราณ อสูรกายหรือปีศาจร้ายเวลาปรากฏตัวในภาพยนตร์นั้นอาจจะแฝงตัวอยู่ในเงามืด ความน่ากลัวจึงเกิดจากภาพที่ผู้ดูจินตนาการขึ้นมาเองตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน ทุกวันนี้ปีศาจร้ายเหล่านั้นอาจจะปรากฏตัวออกมาแสยะยิ้มจนแทบจะเห็นเขี้ยวเล็บของมันทั้งหมด มันช่างดูแล้วสมจริงเสียนี่กระไร (บางทียุคนี้ความสมจริงสมจังอาจจะเป็นสดมภ์หลักทางความคิด- -หรือบางทีนี่อาจจะเป็นอีโก้ (แบบใหม่ ๆ) ของคนทำหนังสมัยใหม่ที่แสดงออกผ่านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ล้วนแต่วัดความเจ๋งกันที่ความสมจริงของภาพดิจิตอลเหล่านั้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ “พื้นที่ว่าง” ที่เว้นให้ผู้ชมใช้จินตนาการของตนเข้าไปเติมหรือมีส่วนร่วมจึงเหลือน้อยเต็มที)
แต่ถึงกระนั้น
ในวาระที่ศาสตร์แห่งภาพยนตร์นั้นมีอายุอานามครบรอบ 100 ปี ผู้กำกับภาพยนตร์แนว Avant-garde อย่าง ฌอง-ลุค โกดาร์ ก็ยังออกมาบอกว่ามนุษย์ยังใช้ศักยภาพของหนังได้อย่างกระมิดกระเมี้ยน และยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือใช้ศักยภาพของภาพยนตร์ได้อย่างด้อยประสิทธิภาพจนน่าใจหาย!)
เราลืมกันไปหรือเปล่าเอ่ย? ว่าก่อนที่ศาสตร์อย่างภาพยนตร์จะใช้ศิลปะของการ “เล่าเรื่อง” เป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างและผลิตเป็นส่วนใหญ่เหมือนดังเช่นที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ภาพยนตร์นั้นยังเคยเป็นศาสตร์ที่ใสซื่อและแสนที่จะบริสุทธิ์ด้วยการเป็นงานศิลปะในแบบที่เราเรียกกันว่า “Moving Image”
จะว่าไปแล้วก็มีความเป็นไปได้อยู่ที่ภาพยนตร์ได้หยิบยืมศาสตร์ของ “การเล่าเรื่อง” มาจากงาน “วรรณกรรม” แต่จนแล้วจนรอดศิลปะทั้งสองแขนงถึงแม้จะใช้ศาสตร์ของการเล่าเรื่องเหมือนกัน (มีปทัสถานสถานบางอย่างในศาสตร์ของเรื่องเล่าที่ทำให้คนดูพยายามที่จะผูกโยงภาพในงานภาพยนตร์ที่เห็นให้กลายเป็นเรื่องเล่า ทำให้เรามองข้ามคุณสมบัติที่แท้จริงบางอย่างในงานภาพยนตร์ไป) ซึ่งโดยตัวของมันเองแล้ว ทั้งสองศาสตร์นี้ต่างก็มีคุณสมบัติพิเศษที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มี
หากเราลองนึกย้อนไปลองสังเกตประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ภาพที่เราได้จากการกวาดสายตาผ่านตัวอักษรในงานวรรณกรรมบนแผ่นกระดาษที่ปรากฏในหนังสือนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นจินตภาพ ที่จะว่าไปแล้วก็แสนที่จะพร่าเลือนแต่ก็ดูแจ่มชัดในแง่ของการที่มันเป็นภาพที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ (กระบวนการที่เปลี่ยนจากการเห็นตัวอักษร จากคำเป็นประโยค จากประโยคเป็นย่อหน้า ให้กลายเป็นภาพในงานวรรณกรรมนั้นเป็นกระบวนการที่น่ามหัศจรรย์มาก) ฉากและสถานที่ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของเรานั้นถึงแม้ว่าจะดูสมจริงแต่มันก็ไม่เคยชัดเจน เวลาที่เราอ่านงานวรรณกรรม เราอาจจะจินตนาการถึงตัวละครเหล่านั้นได้ แต่ยังไงก็ตามภาพใบหน้าของคนเหล่านั้นก็ไม่เคยเป็นภาพที่ปรากฏออกมาอย่างชัดแจ้ง มันยังคงเป็นใบหน้าที่เหมือนมีเมฆหมอกมาบัง ทั้งดูพร่างพรายและคลุมเคลือ
โลกในงานวรรณกรรมจะเป็นโลกที่ถูกสมมุติขึ้นมาใหม่ ซึ่งผู้อ่านแต่ละคนก็สามารถสมมุติโลกที่ว่านี้ขึ้นมาด้วยเงื่อนไขอันเกิดจากประสบการณ์ของแต่ละคน พื้นที่ในงานวรรณกรรมจึงเป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้อ่านแต่ละคน
จะว่าไปก็จะมีแต่เงื่อนไขของเวลาในงานวรรณกรรมแต่ละชิ้นเท่านั้นที่ทำให้โลกสมมุติของผู้อ่านแต่ละคนนั้นเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะเวลาโลกวรรณกรรมนั้นเชื่อมโยงอยู่กับเงื่อนไขบางอย่างในโลกของความเป็นจริง
สิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่ในทีนี้นั้นไม่ได้หมายถึงคุณสมบัติของทิศทางการเคลื่อนที่ต่อเนื่องกันเป็นเส้นตรง แต่เป็นเรื่องของความสามารถในการเคลือบคลานเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งของเวลา (ไม่เกี่ยวกับเรื่องทิศทาง และลำดับก่อนหลัง แต่เกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะของเวลาเอง) เวลาในโลกของวรรณกรรมไม่ว่าเนื้อเรื่องที่เล่าถูกเล่าแบบต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง (ซึ่งไม่เรียงกันตามลำดับของเวลา) ก็ตาม มันยังคงต้องอาศัยประสบการณ์ในเรื่องเวลาของมนุษย์ในโลกทางกายภาพที่อยู่ภายนอกเป็นตัวสร้างมันขึ้นมา วรรณกรรมจึงไม่สามารถพาเราหลุดพ้นออกไปจากโลกของเวลาที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงได้ มันยังคงมีเส้นสายบาง ๆ อันเกิดจากประสบการณ์ของเราผูกโยงมันเอาไว้อยู่
ในขณะที่โลกของภาพยนตร์ด้วยเงื่อนไขของการเป็นภาพซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ใช้การบันทึกภาพเหล่านั้นจากโลกภายนอก (ไม่ได้เกิดจากจินตนาการของเรา--ซึ่งเป็นโลกในมโนคติ) ภาพที่เรารับรู้จากงานภาพยนตร์จึงมีความเกี่ยวเนื่องกับโลกแห่งความเป็นจริงอยู่
แต่ตัวภาพยนตร์เองก็มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างอยู่ ทำให้ถึงแม้ว่ามันจะเกี่ยวโยงกับความเป็นจริง แต่มันก็เป็นโลกที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว และมีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากโลกสมมุติที่เกิดขึ้นในงานวรรณกรรม
คุณสมบัติที่ทำให้โลกในภาพยนตร์นั้นแตกต่างไปจากโลกวรรณกรรมและโลกของความเป็นจริงทางกายภาพก็คือ คุณสมบัติในการหน่วงเหนี่ยว ยืด ย่อและขยาย การคลืบคลานเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งของเวลา ด้วยเหตุนี้เองโลกภาพยนตร์นั้นจึงสามารถสร้างเงื่อนไขการมีอยู่ของเวลาในรูปแบบใหม่ๆ ในแบบที่โลกอื่นๆ นั้นสร้างไม่ได้
โลกในภาพยนตร์จึงเป็นโลกที่มีลักษณะเฉพาะที่พื้นที่ (ในที่นี้ก็คือภาพ) และเวลานั้นเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยในเรื่องของพื้นที่และเวลาซึ่งมีซึ่งเป็นอิสระจากโลกที่อยู่ภายนอก
ซึ่งคุณสมบัติพิเศษในเรื่องเวลาของภาพยนตร์นั้นดูเหมือนว่าจะปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้--Birth of the Seanema ของ ศะศิธร อริยะวิชา ด้วยเช่นเดียวกัน และดูเหมือนว่าศะศิธรจะพาเรากลับไปยังจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ในกรอบความคิดที่มองงานภาพยนตร์เป็น “Moving Image” เหมือนในอดีตที่มันเคยเป็นอีกครั้งหนึ่ง
งานชิ้นนี้ของเธอจึงไม่ใช่งานที่ยัดความหมายลงไปในเรื่องหรือพยายามยัดเรื่องเล่าลงไปในภาพ (โดยเพิกเฉยต่อคุณสมบัติพิเศษของภาพยนตร์) แต่งานของเธอคือการพยายามสร้างโลกในแบบของเธอ โลกที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลที่เธอรักและผูกพัน (เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าชอบความโล่งกว้างของทะเล) กับโลกในเมืองที่แสนวุ่นวายที่เธออยู่อาศัย โดยการใช้คุณสมบัติพิเศษของภาพยนตร์เป็นวัตถุดิบ
ซึ่งโลกที่เธอได้สร้างขึ้นมานั้นก็มีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ถึงมันจะเต็มไปด้วยความเนิบนาบ แต่มันก็มีลักษณะบางอย่างที่เป็นลักษณะพิเศษในงานภาพยนตร์ชิ้นนี้
มันเป็นโลกที่เคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้าซึ่งมีส่วนผสมของความเศร้า ภาพยนตร์ในเรื่องนี้มีคุณสมบัติบางอย่างซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับที่บทกวีทั้งหลายที่มีอยู่บนโลกนั้นมี (ซึ่งข้อความที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาพที่แทรกขึ้นมาในระหว่างเรื่องนั้นก็มีคุณสมบัติของการเป็นบทกวีอยู่เช่นเดียวกัน)
เป็นไปได้ที่ความเนิบนาบ หนืดเนือยในโลกใบนั้นของเธอทำให้เราสามารถเข้าไปสังเกตสังการณ์ รายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ที่เราสามารถมองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน (สถานที่ต่างๆ ภายในเมือง) ด้วยมุมมองใหม่ๆ ซึ่งตัวเรานั้นเพิกเฉยหากเราพิจารณามันด้วยการคลืบคลานเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งของเวลาด้วยประสบการณ์ปรกติของโลกจริงที่เราสามารถรับรู้มันได้ในทางกายภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความหมายใหม่ๆ ความหมายใหม่ที่เรามีต่อโลกใบเดิมซึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่เป็นผลผลิตของภาพที่เล็ดลอดออกมาจากรอยรั่วของเวลาผสมผสานกับความทรงจำและประสบการณ์ของเราที่เคยผ่านมาในอดีต ทำให้คนดูสามารถเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้กับประสบการณ์ของตนเองด้วยเงื่อนไขที่เฉพาะตัวและแตกต่างกัน
จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ของศะศิธรนั้น มีคุณสมบัติบางอย่างที่เราสามารถพบในสุนทรียศาสตร์ในแบบญี่ปุ่น ซึ่งชาวอาทิตย์อุทัยเรียกคุณสมบัติของความงามชนิดนี้ว่า “โมโนโนะ อาวาเระ” หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ ความเศร้าสร้อยของสรรพสิ่ง ” ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็คืออารมณ์ของความรู้สึกที่เกี่ยวกับความงดงามของสิ่งที่ได้ผ่านไปหรือกำลังจะผ่านไป ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเราสามารถรับรู้คุณสมบัติเหล่านี้ผ่านประสาทสัมผัสและการมองเห็นของเรา ผ่านความงามของการดำรงอยู่และสูญสลาย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีนัยยะ ความหมายของปรัชญาในศาสนาพุทธแฝงอยู่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับกำเนิดของธรรมชาติและการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอันดั้งเดิมเมื่อถึงเวลา
ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงัดภายในโรงภาพยนตร์
ทันทีที่แสงไฟในโรงภาพยนตร์สว่างจ้า
มันได้นำผมกลับมายังที่นี่
วินาทีนี้ (ในขณะที่ผมกำลังเรียบเรียงประโยคต่างๆ เหล่านี้อยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ให้คุณๆ ทั้งหลายได้อ่าน ซึ่งถึงตอนนี้ผมเองก็คิดว่ามันใกล้ที่จะเสร็จเต็มทีแล้ว) ภายในห้องแคบเล็กๆ ที่ไร้ความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งใดๆ ห้องเงียบๆ ซึ่งตัดขาดจากความรวดเร็ว ความวุ่นวายและโกลาหลของเมืองใหญ่ที่อยู่ภายนอกหน้าต่าง ซึ่งจะว่าไปประสบการณ์ของผมในตอนนี้ ย่อมสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในห้องที่เงียบงัน (แห่งนี้) มากกว่าโลกของความโกลาหลที่อยู่ภายนอก โลกของผมในตอนนี้จึงเป็นโลกที่กำลังเคลื่อนไหวตัวอย่างเชื่องช้าๆ และเนิบนาบ
“ทะเลคือที่เก็บงำความทรงจำทั้งหมดของสรรพสิ่งทั้งมวลในโลก มันถักใยบาง ๆ ระหว่างความทรงจำ ความฝัน ความรู้สึกของผู้คนและเมืองแห่งหนึ่งผ่านภาพจากเสี้ยวเล็กๆ ของความทรงจำที่รั่วผ่านรอยร้าวของมัน”
ผมนึกถึงถ้อยคำในสูจิบัตรที่แสดงข้อมูลของภาพยนตร์เรื่องนี้
มาถึงวินาทีนี้ตัวผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าความเชื่องช้าสามารถหน่วงเหนี่ยวความทรงจำไว้กับเราได้จริงๆ ความเชื่องช้ามีประสิทธิภาพอย่างที่คุนเดอร่าพูดไว้จริงๆ?
ระลอกคลื่นของภาพเหตุการณ์ที่มาก่อนจะไม่ถูกระลอกคลื่นของภาพเหตุการณ์ที่มาทีหลังทำให้มันจางหายไปในโลกที่เชื่องช้า ภาพของความทรงจำในครั้งเก่าก่อนจะไม่ถูกภาพความทรงจำใหม่ซัดทำให้มันจางหายไปเหมือนคลื่นในทะเล
หรือแท้จริงแล้วความทรงจำก็เป็นเสมือนหยดน้ำที่อยู่ในห้วงมหาสมุทรขนาดใหญ่ที่อาศัยคืนวันที่โลกภายในตัวของเราเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าเล็ดลอดออกมาทางรูรั่วของรอยร้าวและหยิบฉวยจินตภาพที่เกิดขึ้นมาในห้วงเวลาปัจจุบัน เพื่อนำวันเวลาในอดีตของเรากลับมาอีกครั้ง
ในหนังเรื่อง Birth of the Seanema มีข้อความหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า
“I am your forgotten memories, I am your invented memories”
หรือแท้จริงแล้ว
ความทรงจำทั้งหลาย แท้ที่จริงก็เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์ประกอบสร้างมันขึ้นมา
เอาไว้ให้อยู่เป็นเพื่อนคลายเหงา
ในโลกที่แสนเดียวดาย
*เผยแพร่ครั้งแรกที่ โอเพ่นออนไลน์: http://www.onopen.com
Link: http://www.onopen.com/2006/02/746
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Corporate Fields: Office Project by AA Design Research Lab--Edited by Brett Steele
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment