Monday, November 20, 2006

เรื่องของเชนกับนวลจัน

2006-11-20


Shane: I gotta be goin' on.
Joey: Why, Shane?
Shane: A man has to be what he is, Joey. You can't break the mold. I tried it and it didn't work for me.









เชนขี่ม้าลงมาจากหุบเขาในเขตรัฐไวโอมิ่งในบรรยากาศที่ดูสดใส กวางน้อยที่กำลังดื่มน้ำหันไปมองเชนอย่างไม่มีอาการตื่นกลัว ทุกอย่างช่างดูปรกติ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดูสงบและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติของเชน บุรุษผู้มาจากแดนไกลซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาในเขตชนบทของชาวไร่ชาวนา

นวลจันเดินอยู่บนทางที่แสนกันดารและร้อนระอุในชนบท สองข้างทางเป็นหญ้าขึ้นรก บรรยากาศวังเวง เธอเดินด้วยความมุ่งมั่น เหมือนคนกำลังวิ่งหนีความทุกข์(ความสุขของเธอกำลังรอเธออยู่ข้างหน้า) อย่างร้อนรน และเร่งรีบ เธอกำลังเดินเข้าไปในเมือง

ระหว่างทางเชนพบกับเด็กผู้ชายที่มีชื่อว่าโจอี้ ซึ่งแอบมองเชนตั้งแต่ตอนขี่ม้าลงมาจากหุบเขา แน่นอนมีอะไรบางอย่างบอกว่าเชนไม่ใช่ผู้ชายธรรมดา เขาคือผู้ชายที่จะมาช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาที่รักสงบ ที่อยู่กินอย่างพอเพียง จากน้ำมือของไรเกอร์และพรรคพวก ที่ต้องการขับไล่ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่เพื่อใช้ที่ดินเหล่านี้เลี้ยงฝูงวัวจำนวนมหาศาล ดังนั้นการเข้ามาของเชนก็คือการเข้ามาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และปกป้องผืนดิน(earth--พระแม่ธรณี--ตัวแทนเพศหญิง) จากผู้ที่จะมาแผ้วถางทำร้าย ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทันทีที่เชนขี่ม้าเข้ามา--ทุกอย่างจะไม่มีวันเหมือนเดิม เรื่องดีๆ กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะที่นวลจันเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้น เธอได้พบกับนางช้อย(ต่างฝ่ายก็ต่างตกใจเมื่อได้เห็นหน้ากันและกัน) จากนั้นนางช้อยก็พานวลจันเข้าไปหาแม่บ้าน ซึ่งบรรยากาศภายในบ้านหลังนั้นก็ดูทะมึนขึ้นเรื่อยๆ นวลจันเล่าให้แม่บ้านฟังว่า เธอกำลังท้อง เดินทางมาจากบ้านนอกก็เพื่อจะมาหาผัว(นายชอบ)ซึ่งหายไป(เธอมาด้วยเรื่องส่วนตัวล้วนๆ และก็ไม่ได้ต่อสู้เพื่ออะไรที่ดูยิ่งใหญ่) เธอขอรบกวนพักที่บ้านนี้ซักคืน แม่บ้านหันมาตวาดนางช้อยว่า กำลังนำความซวยเข้ามาในบ้าน แต่แม่บ้านก็ยังให้นวลจันนอนที่นี่ได้พร้อมกับกำชับว่าห้ามเข้าไปยุ่งในเรือนหลังใหญ่(ของคุณนายรัญจวน)--ทันทีที่นวลจันได้เข้ามาพักในบ้านหลังนั้น--ทุกอย่างในบ้านจะไม่มีวันเหมือนเดิม เรื่องร้ายๆ กำลังจะเกิดขึ้น

ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและการปกป้องผืนดิน(ของชาวไร่) เชนต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ นานา(ซึ่งเชนก็ไม่ได้ผ่านมันไปได้แบบหมูๆ) ไม่ว่าจะเป็นการทำดี(ตัดตอไม้ที่เกะกะขวางทาง)จนชนะใจโจ สตาร์เล็ต(พ่อของโจอี้) หรือการทำตัวคูลๆ นิ่งเฉยไม่ตอบโต้คริสลูกน้องของไรเกอร์จนชาวบ้านหมดศรัทธา จนถึงตอนการประทะกันตอนท้ายเรื่องกับไรเกอร์

บนเส้นทางในการเดินทาง--ตามหาผัว(นายชอบ) ของนวลจัน ก็ไม่ได้หมู ไหนจะยายเอิบ ไหนจะผีลูกยายเอิบ ไหนจะผีคุณนายรัญจวน ไหนจะนางช้อย ไหนจะผีแม่บ้าน ไหนจะต้องคลอดลูก ไหนจะต้องมารู้ความจริงว่าผัวของตัวเอง(ที่รักเป็นนักหนา) นั้นมีเมียอยู่ก่อนแล้ว มิหนำซ้ำเมียแกไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ก็...คนนั้นนั่นเอง และสุดท้ายนวลจันก็ต้องมาพบกับความจริงที่ทำให้เธอต้องทุกข์อย่างสาหัสก็คือ...นั่นเอง


สำหรับสังคมชาวไร่ เชนก็เปรียบเสมือนคนนอก (Outsider) เป็นคนที่เข้ามาเพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เป็นเพียงแค่คนที่เดินผ่านมา ซึ่งเชนไม่สามารถกลมกลืนกับสถานที่แห่งนี้--แม้ว่าชาวไร่จะรักเขาเป็นนักหนา เมื่อถึงเวลา เขาก็จำเป็นต้องบอกลาและเดินทางต่อไป

สำหรับสังคมภายในบ้านของคุณนายรัญจวน นวลจันซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าเป็นคนที่เข้ามาขอพักอาศัย แต่เธอเป็นเสมือนกุญแจ สำคัญ ให้ระบบการหลอกหลอนชั่วนิรันดรในบ้านหลังนี้ทำงาน ถ้าบ้านหลังนี้ขาดเธอสักคน ความสยองขวัญจนขนหัวลุก ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะจบลง ถ้ามองในแง่นี้เธอผู้รอนแรมมาจากแดนไกล ก็คือ คนใน( Insider)

และเมื่อคุณนายรัญจวนถามแม่บ้านว่า
"แกว่ามันจะกลับมาอีกมั้ย?"

และถ้าเชนตอบคำถามนี้แทนนวลจันได้
เขาก็อาจจะบอกว่า
"เบ้าหลอมของแต่ละคนเป็นยังไงก็จะเป็นอย่างนั้น
มันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง"

ในตอนท้ายเรื่อง
เชนกำลังเดินออกไป เดินออกไปจนลับสายตา
ในขณะที่นวลจันกำลังเดินเข้ามาเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ

และทุกอย่างกำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

แบบนี้หรือเปล่านะ?
ที่นิทเช่ เรียกมันว่า

"Eternal Reterns" :P

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+


Shane(1953)--George Steven
เปนชู้กับผี(2006)--วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่--มิแช็ล ฟูโกต์ แปลโดย ทองกร โภคธรรม

4 comments:

Anonymous said...

อ่านแล้วก็แอบเอ๋อ
หนังสองเรื่องที่ดูเหมือนต่างกันโดยสิ้นเชิง
แถม ท้ายด้วยนิทเช่

เอ๋อ จริงๆ นะเนี่ยะ

the aesthetics of loneliness said...

โครงสร้างของเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลก มันก็วนอยู่กับการที่ตัวเอกเดินทางออกจากเมือง ไปค้นหาอะไรบาง เผชิญหน้าอุปสรรค เจอตัวร้าย เจอผู้ช่วย แล้วในที่สุดก็ฟันฝ่าอุปสรรคสำเร็จ ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วก็จบเรื่อง แค่นี้เอง เหมือนกันตั้งแต่นิทานปรัมปรา สุดสาคร สโนว์ไวท์ ไปจนถึงสตาร์วอร์ส

wichiter said...

เห็นด้วยกับพี่อ๋องเรื่องโครงสร้างของเรื่องเล่า
(ที่พี่อธิบายให้ฟังนั้นใช้ได้กับหนังฮอลิวู้ดแทบทุกเรื่อง ^_^)

ที่เราอยากเสริมอีกนิดก็คือหนังทั้งสองเรื่องเป็นหนังสกุล Romance--ความหมายของคำนี้แตกต่างจากคำที่คนทั่วๆไปเข้าใจ ที่หมายถึงเรื่องราวรัก โรแมนติก แต่ Romance ในที่นี้หมายถึงหนังที่ตัวละครเอกยึดมั่นในอุดมคติหรืออะไรบางอย่างแบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เควนติน เคยเขียนบทหนังเรื่อง True Romance ซึ่งยิงกันเลือดสาดทั้งเรื่อง (ไม่หวานแหววเลยแม้แต่นิด) ซึ่งตัวละครเอกในเรื่องบูชาพระเอกการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งคล้ายๆ กับเชน และนวลจัน ซึ่งมีสิ่งที่เขา/เธอ ยึดเหนี่ยวอยู่แบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่น่าสนใจของหนังสองเรื่องนี้ก็คือ แม้โครงสร้างของหนังเหมือนกัน แต่รายละเอียดของหนังทั้งสองนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง(อาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ตรงข้าม--Binary opposition ของกันและกันได้เลย)
ตัวละครเอกของเรื่อง เชนเป็นชาย ในขณะที่นวลจันเป็นผู้หญิง
โลกของเชน แตัวละครแวดล้อมที่สำคัญล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย--โจอี้ โจสตาร์เล็ต คริส ไรเกอร์
ในขณะที่โลกของนวลจันตัวละครแวดล้อมที่สำคัญล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง--นังช้อย แม่บ้าน ยายเอิบ ลูกสาวยายเอิบ คุณนายรัญจวน
เชน--ต่อสู้ด้วยอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ เพื่อความยุติธรม เพื่อความถูกต้อง ปกป้องพื้นดิน(earth--พระแม่ธรณี--เพศหญิง)จากการคุกคามของนายทุน
นวลจัน--เธอเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อมาหานายชอบ(ผัว--เพศชาย) แน่นอนเธอไม่ได้ต่อสู้ด้วยอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ เธอแค่มาตามหาผัวของเธอ
เชน--เป็นคนนอกเป็นเพียงคนที่เดินผ่านมาให้ทุกสิ่งคลี่คลาย
ในขณะที่ นวลจัน--เป็นกุญแจสำคัญเป็นคนใน ที่จะทำให้ระบบการหลอกหลอนภายในบ้านหลังนั้นทำงาน

ปล--เราว่าจากข้อสังเกตเหล่านี้ ถ้าเราลองใส่แว่นแล้วมองด้วย ความคิดแบบโครงสร้างนิยม หรือ deconstruction ลองวิเคราะห์ดู ไม่แน่เราอาจจะได้ผลลัพท์อะไรที่สนุกๆ ก็ได้ ^_^

Anonymous said...

ตอนที่บุ๊ยไปดูหนังกับพี่อ๋องเรื่อง Lady in the Water ของผกก. เอ็มไนท์ ชยามาลา หลังดูจบพี่อ๋องได้พูดถึงโครงสร้่างของพล็อตหนังที่ซ้ำๆ กัน และเล่าเรื่องในแบบเดียวกันเป็นโครงสร้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงถ้าว่างๆ ลองคุยกับพี่อ๋องเรื่องนี้สิครับ แกคิดได้ละเอียดทีเดียว


สำหรับเรื่องโครงสร้างของภาพยนตร์ที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน
ผมคิดว่าใช่เลย อ่านเรื่องที่พี่จี้เขียนแล้วเราคิดถึงประเด็นเรืื่อง
ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

เราเคยคุยกับคนเขียนบทหนังเรื่องเพื่อนสนิท เกี่ยวกับหนังเรื่อง Momento ที่เขาทำลายโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ในทางการเขียนบทแล้วนี่ถือว่าเป็นการท้าทายและทดลองอะไรบางสิ่งบางอย่างกับผู้ชม

บางสิ่งบางอย่างที่ว่า ก็คือ ความสามารถในการปะติดปะต่อเรื่องราวของมนุษย์

เขาอธิบายว่า ไม่ว่าเราจะเล่าเรื่องแบบไหน ตามโคร้างสร้างหรือว่ารื้อถอนโครงสร้าง เราก็ไม่สามารถทำลายทักษะการทำความเข้าใจของมนุษย์ได้ ผู้ชมจะหาวิธีของตัวเอง(ตามแต่กรอบประสบการณ์)มาเรียบเรียงหนังที่ได้ดูจนเข้าใจในที่สุด


อาจตอบไม่ตรงกับเรื่องเลยนะ แต่ชอบอ่านเรื่องที่นำมาฝากในบล็อก และขอบคุณนะที่แวะไปแสดงความคิดเห็นที่บล็อกผม

:)