2006-11-20
Shane: I gotta be goin' on.
Joey: Why, Shane?
Shane: A man has to be what he is, Joey. You can't break the mold. I tried it and it didn't work for me.
เชนขี่ม้าลงมาจากหุบเขาในเขตรัฐไวโอมิ่งในบรรยากาศที่ดูสดใส กวางน้อยที่กำลังดื่มน้ำหันไปมองเชนอย่างไม่มีอาการตื่นกลัว ทุกอย่างช่างดูปรกติ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดูสงบและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติของเชน บุรุษผู้มาจากแดนไกลซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาในเขตชนบทของชาวไร่ชาวนา
นวลจันเดินอยู่บนทางที่แสนกันดารและร้อนระอุในชนบท สองข้างทางเป็นหญ้าขึ้นรก บรรยากาศวังเวง เธอเดินด้วยความมุ่งมั่น เหมือนคนกำลังวิ่งหนีความทุกข์(ความสุขของเธอกำลังรอเธออยู่ข้างหน้า) อย่างร้อนรน และเร่งรีบ เธอกำลังเดินเข้าไปในเมือง
ระหว่างทางเชนพบกับเด็กผู้ชายที่มีชื่อว่าโจอี้ ซึ่งแอบมองเชนตั้งแต่ตอนขี่ม้าลงมาจากหุบเขา แน่นอนมีอะไรบางอย่างบอกว่าเชนไม่ใช่ผู้ชายธรรมดา เขาคือผู้ชายที่จะมาช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาที่รักสงบ ที่อยู่กินอย่างพอเพียง จากน้ำมือของไรเกอร์และพรรคพวก ที่ต้องการขับไล่ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่เพื่อใช้ที่ดินเหล่านี้เลี้ยงฝูงวัวจำนวนมหาศาล ดังนั้นการเข้ามาของเชนก็คือการเข้ามาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และปกป้องผืนดิน(earth--พระแม่ธรณี--ตัวแทนเพศหญิง) จากผู้ที่จะมาแผ้วถางทำร้าย ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทันทีที่เชนขี่ม้าเข้ามา--ทุกอย่างจะไม่มีวันเหมือนเดิม เรื่องดีๆ กำลังจะเกิดขึ้น
ขณะที่นวลจันเดินเข้าไปในบ้านหลังนั้น เธอได้พบกับนางช้อย(ต่างฝ่ายก็ต่างตกใจเมื่อได้เห็นหน้ากันและกัน) จากนั้นนางช้อยก็พานวลจันเข้าไปหาแม่บ้าน ซึ่งบรรยากาศภายในบ้านหลังนั้นก็ดูทะมึนขึ้นเรื่อยๆ นวลจันเล่าให้แม่บ้านฟังว่า เธอกำลังท้อง เดินทางมาจากบ้านนอกก็เพื่อจะมาหาผัว(นายชอบ)ซึ่งหายไป(เธอมาด้วยเรื่องส่วนตัวล้วนๆ และก็ไม่ได้ต่อสู้เพื่ออะไรที่ดูยิ่งใหญ่) เธอขอรบกวนพักที่บ้านนี้ซักคืน แม่บ้านหันมาตวาดนางช้อยว่า กำลังนำความซวยเข้ามาในบ้าน แต่แม่บ้านก็ยังให้นวลจันนอนที่นี่ได้พร้อมกับกำชับว่าห้ามเข้าไปยุ่งในเรือนหลังใหญ่(ของคุณนายรัญจวน)--ทันทีที่นวลจันได้เข้ามาพักในบ้านหลังนั้น--ทุกอย่างในบ้านจะไม่มีวันเหมือนเดิม เรื่องร้ายๆ กำลังจะเกิดขึ้น
ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและการปกป้องผืนดิน(ของชาวไร่) เชนต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ นานา(ซึ่งเชนก็ไม่ได้ผ่านมันไปได้แบบหมูๆ) ไม่ว่าจะเป็นการทำดี(ตัดตอไม้ที่เกะกะขวางทาง)จนชนะใจโจ สตาร์เล็ต(พ่อของโจอี้) หรือการทำตัวคูลๆ นิ่งเฉยไม่ตอบโต้คริสลูกน้องของไรเกอร์จนชาวบ้านหมดศรัทธา จนถึงตอนการประทะกันตอนท้ายเรื่องกับไรเกอร์
บนเส้นทางในการเดินทาง--ตามหาผัว(นายชอบ) ของนวลจัน ก็ไม่ได้หมู ไหนจะยายเอิบ ไหนจะผีลูกยายเอิบ ไหนจะผีคุณนายรัญจวน ไหนจะนางช้อย ไหนจะผีแม่บ้าน ไหนจะต้องคลอดลูก ไหนจะต้องมารู้ความจริงว่าผัวของตัวเอง(ที่รักเป็นนักหนา) นั้นมีเมียอยู่ก่อนแล้ว มิหนำซ้ำเมียแกไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ก็...คนนั้นนั่นเอง และสุดท้ายนวลจันก็ต้องมาพบกับความจริงที่ทำให้เธอต้องทุกข์อย่างสาหัสก็คือ...นั่นเอง
สำหรับสังคมชาวไร่ เชนก็เปรียบเสมือนคนนอก (Outsider) เป็นคนที่เข้ามาเพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เป็นเพียงแค่คนที่เดินผ่านมา ซึ่งเชนไม่สามารถกลมกลืนกับสถานที่แห่งนี้--แม้ว่าชาวไร่จะรักเขาเป็นนักหนา เมื่อถึงเวลา เขาก็จำเป็นต้องบอกลาและเดินทางต่อไป
สำหรับสังคมภายในบ้านของคุณนายรัญจวน นวลจันซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าเป็นคนที่เข้ามาขอพักอาศัย แต่เธอเป็นเสมือนกุญแจ สำคัญ ให้ระบบการหลอกหลอนชั่วนิรันดรในบ้านหลังนี้ทำงาน ถ้าบ้านหลังนี้ขาดเธอสักคน ความสยองขวัญจนขนหัวลุก ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะจบลง ถ้ามองในแง่นี้เธอผู้รอนแรมมาจากแดนไกล ก็คือ คนใน( Insider)
และเมื่อคุณนายรัญจวนถามแม่บ้านว่า
"แกว่ามันจะกลับมาอีกมั้ย?"
และถ้าเชนตอบคำถามนี้แทนนวลจันได้
เขาก็อาจจะบอกว่า
"เบ้าหลอมของแต่ละคนเป็นยังไงก็จะเป็นอย่างนั้น
มันจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง"
ในตอนท้ายเรื่อง
เชนกำลังเดินออกไป เดินออกไปจนลับสายตา
ในขณะที่นวลจันกำลังเดินเข้ามาเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ
และทุกอย่างกำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
แบบนี้หรือเปล่านะ?
ที่นิทเช่ เรียกมันว่า
"Eternal Reterns" :P
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Shane(1953)--George Steven
เปนชู้กับผี(2006)--วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่--มิแช็ล ฟูโกต์ แปลโดย ทองกร โภคธรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
4 comments:
อ่านแล้วก็แอบเอ๋อ
หนังสองเรื่องที่ดูเหมือนต่างกันโดยสิ้นเชิง
แถม ท้ายด้วยนิทเช่
เอ๋อ จริงๆ นะเนี่ยะ
โครงสร้างของเรื่องเล่าทุกเรื่องในโลก มันก็วนอยู่กับการที่ตัวเอกเดินทางออกจากเมือง ไปค้นหาอะไรบาง เผชิญหน้าอุปสรรค เจอตัวร้าย เจอผู้ช่วย แล้วในที่สุดก็ฟันฝ่าอุปสรรคสำเร็จ ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วก็จบเรื่อง แค่นี้เอง เหมือนกันตั้งแต่นิทานปรัมปรา สุดสาคร สโนว์ไวท์ ไปจนถึงสตาร์วอร์ส
เห็นด้วยกับพี่อ๋องเรื่องโครงสร้างของเรื่องเล่า
(ที่พี่อธิบายให้ฟังนั้นใช้ได้กับหนังฮอลิวู้ดแทบทุกเรื่อง ^_^)
ที่เราอยากเสริมอีกนิดก็คือหนังทั้งสองเรื่องเป็นหนังสกุล Romance--ความหมายของคำนี้แตกต่างจากคำที่คนทั่วๆไปเข้าใจ ที่หมายถึงเรื่องราวรัก โรแมนติก แต่ Romance ในที่นี้หมายถึงหนังที่ตัวละครเอกยึดมั่นในอุดมคติหรืออะไรบางอย่างแบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เควนติน เคยเขียนบทหนังเรื่อง True Romance ซึ่งยิงกันเลือดสาดทั้งเรื่อง (ไม่หวานแหววเลยแม้แต่นิด) ซึ่งตัวละครเอกในเรื่องบูชาพระเอกการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งคล้ายๆ กับเชน และนวลจัน ซึ่งมีสิ่งที่เขา/เธอ ยึดเหนี่ยวอยู่แบบไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่น่าสนใจของหนังสองเรื่องนี้ก็คือ แม้โครงสร้างของหนังเหมือนกัน แต่รายละเอียดของหนังทั้งสองนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง(อาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ตรงข้าม--Binary opposition ของกันและกันได้เลย)
ตัวละครเอกของเรื่อง เชนเป็นชาย ในขณะที่นวลจันเป็นผู้หญิง
โลกของเชน แตัวละครแวดล้อมที่สำคัญล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย--โจอี้ โจสตาร์เล็ต คริส ไรเกอร์
ในขณะที่โลกของนวลจันตัวละครแวดล้อมที่สำคัญล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง--นังช้อย แม่บ้าน ยายเอิบ ลูกสาวยายเอิบ คุณนายรัญจวน
เชน--ต่อสู้ด้วยอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ เพื่อความยุติธรม เพื่อความถูกต้อง ปกป้องพื้นดิน(earth--พระแม่ธรณี--เพศหญิง)จากการคุกคามของนายทุน
นวลจัน--เธอเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อมาหานายชอบ(ผัว--เพศชาย) แน่นอนเธอไม่ได้ต่อสู้ด้วยอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ เธอแค่มาตามหาผัวของเธอ
เชน--เป็นคนนอกเป็นเพียงคนที่เดินผ่านมาให้ทุกสิ่งคลี่คลาย
ในขณะที่ นวลจัน--เป็นกุญแจสำคัญเป็นคนใน ที่จะทำให้ระบบการหลอกหลอนภายในบ้านหลังนั้นทำงาน
ปล--เราว่าจากข้อสังเกตเหล่านี้ ถ้าเราลองใส่แว่นแล้วมองด้วย ความคิดแบบโครงสร้างนิยม หรือ deconstruction ลองวิเคราะห์ดู ไม่แน่เราอาจจะได้ผลลัพท์อะไรที่สนุกๆ ก็ได้ ^_^
ตอนที่บุ๊ยไปดูหนังกับพี่อ๋องเรื่อง Lady in the Water ของผกก. เอ็มไนท์ ชยามาลา หลังดูจบพี่อ๋องได้พูดถึงโครงสร้่างของพล็อตหนังที่ซ้ำๆ กัน และเล่าเรื่องในแบบเดียวกันเป็นโครงสร้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงถ้าว่างๆ ลองคุยกับพี่อ๋องเรื่องนี้สิครับ แกคิดได้ละเอียดทีเดียว
สำหรับเรื่องโครงสร้างของภาพยนตร์ที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน
ผมคิดว่าใช่เลย อ่านเรื่องที่พี่จี้เขียนแล้วเราคิดถึงประเด็นเรืื่อง
ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน
เราเคยคุยกับคนเขียนบทหนังเรื่องเพื่อนสนิท เกี่ยวกับหนังเรื่อง Momento ที่เขาทำลายโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ ในทางการเขียนบทแล้วนี่ถือว่าเป็นการท้าทายและทดลองอะไรบางสิ่งบางอย่างกับผู้ชม
บางสิ่งบางอย่างที่ว่า ก็คือ ความสามารถในการปะติดปะต่อเรื่องราวของมนุษย์
เขาอธิบายว่า ไม่ว่าเราจะเล่าเรื่องแบบไหน ตามโคร้างสร้างหรือว่ารื้อถอนโครงสร้าง เราก็ไม่สามารถทำลายทักษะการทำความเข้าใจของมนุษย์ได้ ผู้ชมจะหาวิธีของตัวเอง(ตามแต่กรอบประสบการณ์)มาเรียบเรียงหนังที่ได้ดูจนเข้าใจในที่สุด
อาจตอบไม่ตรงกับเรื่องเลยนะ แต่ชอบอ่านเรื่องที่นำมาฝากในบล็อก และขอบคุณนะที่แวะไปแสดงความคิดเห็นที่บล็อกผม
:)
Post a Comment