2006-09-25
“มันเป็นนาฟิกาของปู่ เมื่อพ่อยกให้ผม พ่อพูดว่า เควนติน พ่อขอยกสุสานแห่งความหวังและความปรารถนานี้ให้กับแก…พ่อมอบนาฬิกาเรือนนี้ให้กับแก ไม่ใช่เพื่อให้แกระลึกถึงมัน แต่เพื่อให้แกรู้จักที่จะลืมมันเสียบ้างเป็นครั้งคราว และเลิกทุ่มเททุกลมหายใจของแกพยายามเอาชนะมัน"
The Sound and the Fury--William Faulkner
-1-
เวลาเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต เวลาสร้างระยะห่างให้กับจุดสองจุด สร้างระยะห่างให้เหตุการณ์สองเหตุการณ์ สร้างความรู้สึกผูกพันให้คนสองคน เวลาสร้างความรักและความสุขให้แก่ชีวิต ในขณะเดียวกันเวลาก็สร้างความเกลียดชังและความเศร้า เวลานั้นเกิดขึ้นพร้อมกับสำนึกของการมีตัวตนซึ่งดำรงอยู่ในโลกของเรา ซึ่งในการมีตัวตนและดำรงอยู่นั้น ขณะที่ร่างกายกินพื้นที่บนผิวโลก เวลานั้นกลับกินพื้นที่อยู่ในความทรงจำ เวลาสร้างชิ้นส่วนของความเจ็บปวดที่ยากจะลืมเลือนให้กับชีวิต ขณะเดียวกันเวลาก็ประทับความรื่นรมย์ ความสุขไว้ในความทรงจำ จากนั้นก็เดินจากพร้อมกับทิ้งร่องรอยของมันเอาไว้ ให้เราระลึกถึง ให้เราถวิลถึง และอยู่กับร่องรอยที่ประทับอยู่ในความทรงจำด้วยความอาวรณ์ ด้วยเราไม่สามารถเดินทางย้อนกลับไปสู่สิ่งนั้น ในห้วงเวลาเดิมๆ
ดังนั้นในความทรงจำของเราจึงเต็มไปด้วยร่องรอย
รอยของกาลเวลาที่ประทับลงบนชีวิต
...
"ในชั่วพริบตาที่เข็มวินาทีกระดิกตัวเคลื่อน
เก้าอี้เบื้องหน้าและรอบตัวพลันว่างเปล่า
แก้วเหล้าบนโต๊ะหลงเหลือเพียงรอยนิ้วมือสัมผัสจากเจ้าของคนสุดท้าย
สองตาผู้คนที่เคยสบตา
เสียงพูดคุยที่เคยพุ่งตรงเข้าสองหู
และรอยยิ้มนั้นมิใช่หรือ ที่เคยวิ่งกระทบหัวใจ
พลันว่างเปล่า
เมื่อคำอำลาที่เอ่ยระหว่างกันและกันกำลังจะจบลง
ผมยิ่งแน่ใจว่ายังไม่อยากละทิ้งมันไป
สถานที่และเวลาผ่าน มันช่างทรงเสน่ห์
ความสุขความทรงจำยังคงลอยควะคว้างอ้อยอิ่งให้สัมผัสเบื้องหน้า
และแล้ว เมื่อคนสุดท้ายเอ่ยคำอำลา
ผมสบตาเขาและเธอ กล่าวคำว่าลาก่อน
ได้โปรดทิ้งผมไว้ที่นี่
ปลอบใจกับตัวเองว่า-ไม่เป็นไรหรอก, ผมยังมีหนังสืออีกหลายเล่มในกระเป๋า
ช่างมันเถอะ มันก็แค่เพียงอีกครั้งหนึ่ง
ที่ผมต้องเรียนรู้กับการอยู่ลำพังบนโลก" (1)
-2-
แต่ในทางกลับกันเวลานั้นไม่อาจสร้างรอยประทับในความทรงจำของสิ่งใดๆได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่มีความสามารถที่จะจำ แต่สิ่งที่มีความสามารถที่จะจำได้นั้นต้องเป็นสิ่งที่มีจิต(consciousness) เพราะมีเพียงจิตเท่านั้นที่สามารถคิดและจดจำได้ แต่ก็ไม่มีจิตใดที่ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย(body) เพราะจิตย่อมรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายประสาท เพราะลำพังเพียงจิตอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสัมผัสโลกที่อยู่รอบตัวได้จึงจำเป็นต้องมีร่างกายเป็นตัวเชื่อม ร่างกายจึงเชื่อมโยงจิตเข้ากับปริมณฑลของวัตถุ ดังนั้นในกระบวนการของการดำรงอยู่ของชีวิตใดๆ ก็ตาม ย่อมประกอบไปด้วยสิ่งที่เป็นกายและจิต ซึ่งนักปรัชญาสายอัตถิภาวะนิยม(existentialism) เรียกกระบวนการของการดำรงอยู่นี้ว่า ภาวะในโลก (Being-in-the-World)
และ ภาวะในโลก (Being-in-the-World) นี่เองที่ทำให้โลก, สรรพสิ่งและชีวิตปรากฏต่อจิตของเราในกรอบของพื้นที่และเวลา(space and time) ทำให้ปริมณฑลของวัตถุทางกายภาพปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม และเมื่อความเป็นรูปธรรมปรากฏ วัตถุนั้นๆก็มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในโลก และด้วยกรอบความคิดหรือโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ เราสามารถกำหนดจุดตำแหน่งที่ตั้งหรือวัดขนาด ของวัตถุทางกายภาพใดๆด้วยการวัดระยะของวัตถุใน 3 ทิศทาง เป็นลักษณะ 3 มิติ คือมีกว้าง ยาว และสูง และสิ่งที่เป็นวัตถุทางกายภาพนั้น มีลักษณะที่สามารถกินพื้นที่บนผิวโลก ซึ่งระยะทางหรือช่องว่างระหว่างการกินพื้นที่ของวัตถุทางกายภาพนั้น เราเรียกมันว่า "ที่ว่าง" หรือ "พื้นที่" (space)
ฌอง-ปอล ซาตร์(Jean-Paul Sartre) นักปรัชญาสายอัตถิภาวะนิยม(existentialism) ชาวฝรั่งเศส เรียกความสามารถกินที่บนผิวโลกของวัตถุกายภาพนี้ว่า ความมีภาวะ(being) ซึ่งซาตร์ ได้อธิบายความคิดของเขาในเรื่องนี้ไว้ว่า ในโลกนี้ มีความมีภาวะอยู่ 2 ประเภท คือ ภาวะในตัวเอง(Being-in-it-self) ก็คือสิ่งที่ดำรงอยู่บนโลกโดยไม่มีจิต(non-consciousness) และ ภาวะสำหรับตัวเอง (Being-for-it-self) ก็คือสิ่งที่ดำรงอยู่บนโลกโดยมีจิต(consciousness)
วัตถุที่ไม่มีจิตนั้นย่อมมีความเต็มอยู่ในตัวเอง เป็นสสาร เป็นก้อนหิน เป็นโต๊ะสักตัว เป็นเสาไฟฟ้าสักต้น หรือเป็นขนมเค้กสักชิ้น ซึ่งตลอดเวลาที่มันดำรงอยู่มันไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นอย่างอื่น ไม่มีความสามารถที่แม้แต่ที่จะคิด แก่นสารของสิ่งของต่างๆเหล่านี้จึงดำรงอยู่ติดตัวมันอย่างถาวร แต่มนุษย์เรานั้นต่างจากสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมา เพราะมนุษย์ไร้แก่นสารและมีความว่างเปล่าอยู่ภายใน ซึ่งซาตร์ เชื่อว่าในความเป็นมนุษย์นั้น การดำรงอยู่มีอยู่ก่อนแก่นสาร(Existence preccedes essence) ดังนั้นเริ่มแรกของการดำรงอยู่มนุษย์จึงไม่มีตัวตนถาวร ตัวตนของมนุษย์นั้นขึ้นหลังจากที่มนุษย์เลือกที่จะกระทำหรือเลือกที่จะเป็นสิ่งใดสักอย่างหนึ่ง และเมื่อมนุษย์มีความสามารถที่จะเลือกดังนั้น มนุษย์จึงมี เสรีภาพ(freedom) ซึ่งความหมายของเสรีภาพในที่นี้ซาตร์ได้อธิบายเอาไว้ว่า “เสรีภาพมิได้หมายถึง ความสัมฤทธิผลของการตัดสินใจเลือกว่าเราจะทำสิ่งนี้แล้วต้องสำเร็จ เสรีภาพอยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจเลือก” มนุษย์จึงมีความสามารถที่จะเลือกหรือตัดสินใจทำหรือไม่ทำในสิ่งใดก็ได้ แต่มนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะเลือกให้เลิกมีเสรีภาพได้ เพราะมนุษย์ถูกสาบให้มีเสรีภาพ(Man is Condemned to be free) และการเลือกของมนุษย์นั้นนำมาซึ่งความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้เลือก…
"บุษบาบันไม่อยากตัดสินใจผิด ไม่ต้องการเสียใจไปตลอดชีวิต ทางไหนหนอที่เลือกแล้วพบความสุข บางครั้งชีวิตไม่ต่างกับการเลือกเที่ยวบินโดยสาร เลือกถูกมีความสุข เลือกผิดมีความทุกข์ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์-ชีวิตต้องดำเนินไป เหมือนในกระเป๋ามีตั๋วเที่ยวเดียว เลือกเครื่องบินลำใดต้องอยู่ลำนั้น ลงหรือเปลี่ยนเครื่องกลางอากาศไม่ได้
แต่คนคนหนึ่งจะเลือกขึ้นเครื่องบินได้อย่างไร เมื่อ:
-ดูภายนอก เครื่องบินทุกลำสวยเป็นเงางามกลางแดดบนลานจอด(บางลำระบายแถบสีม่วงข้างตัวถัง บ้างสีเขียว บ้างสีชมพู)
-สายการบินของเครื่องบินแต่ละลำโฆษณาว่าเครื่องของตนสมรรถนะสูง สะดวกสบาย
-เครื่องบินทุกลำประกาศว่าจะบินจาก “ปัจจุบัน” ไป “อนาคตอันแสนสุข”
-คนคนนั้นไม่เชื่อคำแนะนำของผู้มีประสบการณ์
สิ่งที่คนคนนั้นต้องการที่สุดสำหรับตัดสินใจ คือ The Thin Red Line-เส้นบางสีแดง ซึ่งเทพเจ้าขีดเตือนว่าหากเห็นเส้นบางสีแดง ต้องเปลี่ยนไปทางอื่น อย่าล้ำเส้น มิฉะนั้นจะถลำสู่ความทุกข์
คนเลือกเครื่องบินทราบว่าไม่ควรโดยสารไปกับเครื่องบินที่ระบายแถบสีม่วงข้างตัวถัง ถ้าเห็นเส้นบางสีแดงบนพื้นหน้าประตูทางขึ้น
………
เราไม่เคลือบแคลงเทพเจ้า พระองค์เห็นอนาคต รู้ทุกสิ่งในจักรวาล
………
ทว่าเทพเจ้าไม่เคยขีดเส้นบางสีแดงให้เห็น(แม้เปิดไฟฉายแม็กซ์ไลท์ส่อง-ใส่แว่นอินฟราเรดที่ใช้มองในความมืด-ตรวจจับด้วยรังสีเอ็กซ์เรย์) มนุษย์ต้องตรองตัดสินใจเอง
บางคนท้วงว่าเทพเจ้าไม่เคยขีดเส้นบางสีแดงให้เราเห็นด้วยตาแต่สามารถเห็นด้วยใจหากศรัทธาศาสนา และรู้สึกได้ด้วยสัญชาตญาณระวังภัยที่อยู่ในยีน(gene)
ทว่าโลกยุค 2001 ความเสื่อมศีลธรรมของพระกับนักบวชทำให้เรากังขาคำสอนของพระศาสนา
ความไร้จริยธรรมของผู้ใหญ่-ผู้มีประสบการณ์ทำให้เราไม่เชื่อคำแนะนำ(หนังสือพิมพ์รายงานข่าวนายกรัฐมนตรีพูดเท็จ รองประธานวุฒิสภาลวนลามทางเพศเด็กหญิง 5 คน ฯลฯ)
แสงไฟ ตึกระฟ้า อิทธิพลการโฆษณากับการสร้างภาพมายาในสังคมมหานคร(society of metropolis) ทำให้สัญชาตญาณระวังภัยของเราสับสน คลายความแม่น ความผิด-ถูก-ดี-ร้ายปรากฏในรูปโฉมเดียวกัน(นมผงผสมน้ำโฆษณา-เขียนข้างกล่องว่านมโคสดแท้ พระราชาเป่าทรอมโบนเพลงบลูส์แจ๊สที่มีต้นกำเนิดมาจากทาสนิโกร วงดนตรีออร์เคสตร้าบรรเลงเพลงร็อคแอนด์โรล เครื่องบินทุกลำได้รับการพ่นสีระบายแถบข้างตัวถังสวยเป็นเงางามกลางแดดบนลานจอด….)
สิ่งที่เห็นวันนี้ คือคนทุกข์เพราะตัดสินใจผิดนับล้านล้านกับคนคิดไปลำพังอย่างมืดบอด-หวังจะไม่เป็นอย่างพวกแรก-อีกนับล้านล้าน
คนประเภทแรกก่อโศกนาฎกรรมทุกอย่างบนโลก
(เด็กหนุ่มจำนวนมากตัดสินใจเป็นทหารกล้าเหมือนพลทหารในหนัง The Thin Red Line เขาพบว่าทางที่เลือกทำให้เขาเป็นเครื่องจักรฆ่าคน เขาทรมาน แต่หยุดไม่ได้ นิตยสารเอเซียวีค-เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ตีพิมพ์รูปทหารปากีสถาน 441 นาย สวมชุดขนสัตว์-ถือปืนกล นั่งเฮลิคอปเตอร์ตระเวนบนภูเขาหิมาลัยซึ่งปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน เตรียมยิงชาวอินเดียทุกคนที่เจอ ทหารปากีสถานบางคนไม่อยากทำ ทว่าการเป็นทหารกล้าต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย)
คนประเภทหลังอ้างว้าง ลังเล (2)
เมื่อเสรีภาพนำเรามาถึงทางแพร่ง ทางแพร่งที่เราต้องเลือกที่จะเดินทางผ่าน ในขณะที่ชีวิตเรากำลังดำรงอยู่ในโลก พื้นที่ทางความคิดและพื้นที่ทางกายภาพแห่งใดที่เราจะเลือกเดินไป ในห้วงเวลาที่ยังมาไม่ถึง ซาตร์บอกว่าชีวิตคือความว่างเปล่า(emptiness) และคุณก็มีเสรีภาพที่ค้นหาตัวตนของคุณด้วยตัวของคุณเอง แต่สถานที่แห่งไหนและเวลาใดในโลกใบนี้ล่ะที่เราจะพบตัวตนของเรา ซาตร์เดินจูงมือเรามาถึงที่โล่งที่กว้างใหญ่ไพศาลไร้ขอบเขต จากนั้นก็ปล่อยมือเรา แล้วพูดว่า “เส้นทางเดินจากนี้ไปแล้วแต่คุณ” จากนั้นเขาก็จากไป ถ้าเรามองไปรอบตัวจะเห็นว่าเราสามารถเคลื่อนที่ไปได้ในทุกทิศทาง
แต่เราจะใช้เกณฑ์ใดในการที่จะตัดสินใจเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน ความรู้ ความเชื่อ ศรัทธา สัญชาตญาณ เหตุผล อุดมการณ์ทางการเมือง หรือ ความรัก ความเมตากรุณาและมิตรภาพ
และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวตนของเราที่เรากำลังเดินทางค้นหาเพื่อมาเติมส่วนที่ว่างเปล่า(emptiness) ของชีวิตนั้น
มีอยู่จริง?
หมายเหตุ : ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ อยู่ในเมืองๆ หนึ่ง เมืองที่ปกคลุมไปด้วยหมอก ซึ่งทุกอย่างดูมัวซัว และไม่ชัดเจน แต่ผู้คนในเมืองก็ต่างเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และมีความหวังว่าท้องฟ้าจะกลับมาสดใสอีกครั้ง เมืองประหลาดที่ดอกไม้บานทุกดอกกำลังบานสะพรั่งท่ามกลางบรรยากาศที่แสนจะพร่ามัว
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
รวมเรื่องสั้น "เรื่องรักธรรมดา"
ISBN: 974-87957-0-5
หมายเหตุ:
(1) จากเรื่องสั้นเรื่อง "หนาวเช้า" เขียนโดย คมสัน นันทจิต
(2) จากเรื่องสั้นเรื่อง "ทัชมาฮาล" เขียนโดย ทินกร หุตางกูร
ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ฌอง-ปอล ซาตร์(Jean-Paul Sartre)
สามารถดูได้ที่:-
http://nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/1964/sartre-bio.html
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:++:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Books read:
-Informal--Cecil Balmond
-นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 259--กันยายน 2549
-2G Magazine Number 28--Aires Mateus
Monday, September 25, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment