Monday, December 04, 2006

男はつらいよ

โทร่าซัง
2006-12-04





"โทร่าซังฉันกำลังจะมีทุกข์ ฉันกังวลถึงมันมากฉันอยากมีคนช่วยปรึกษา"
โทร่าซังหันมามองแล้วยิ้มให้ "ข้าเองก็เรียนหนังสือมาน้อยจะเอาปัญญาที่ไหนมาตอบเรื่องยากๆ ของเองว่ะ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ข้าอยากจะบอกกับเอ็งว่า ไม่มีใครที่ไหนเขาเช็ดตูดก่อนขี้หรอกโว้ย มีแต่ขี้แล้วถึงจะเช็ดตูดกันทั้งนั้นแหละ"


ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2539 ในขณะนั้นผมเป็นนักศึกษา และอาจะกำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน ผู้ชายชื่อ โคโยชิ อะสุมิ (車寅次郎) ได้ลาจากโลกนี้ไป การจากไปของเขาไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลยกับชีวิตของผม โคโยชิก็ส่วนโคโยชิ วิชิตก็ส่วนวิชิต เราไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกัน

แต่สำหรับคนในกองถ่ายหนังเรื่อง 男はつらいよ (อ่านว่า โอโตโกะวะสุไรโยะ) "มันยากนะที่จะเป็นผู้ชาย" การจากไปของโคโยชิ ทำให้หนังที่มีภาคต่อมากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก (48 ภาคตั้งแต่ปี1969-1996 รวมทั้งสิ้น 27 ปี) ต้องจบเรื่องราวที่แสนยาวนานของมันลง

สำหรับคนญี่ปุ่นการจากไปของ โคโยชิ อาจจะทำให้ใครหลายคนเศร้า เพื่อนญี่ปุ่นของผมเคยบอกกับผมว่า "ใครๆ ก็รักโทร่าซัง" เพราะโทร่าซัง อาจจะเป็นเหมือนความทรงจำที่ดีที่มีต่อชีวิตในช่วงวัยเยาว์ เพราะคนญี่ปุ่นจะได้ดูโทร่าซังกันปีละสองครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ฉายก็จะอยู่ในช่วงที่เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของญุี่ปุ่น ที่พ่อแม่จะพาสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดไปนั่งดูหนังเรื่องนี้ร่วมกัน แล้วก็มานั่งลุ้นว่าปีนี้ โทร่าซังจะพาเราไปเที่ยวจังหวัดไหนหนอ--การดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นด้วยไปในตัว

ถ้าเรามองโทร่าซังในแง่ของการสร้างสรรค์ในเชิงภาพยนต์ ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะไม่มีอะไรหวือหวา(ช่างเหมือนชีวิตจริงๆ ของมนุษย์บนโลก ^_^ เสียนี่กระไร) ทุกๆภาค ก็จะเริ่มที่โทร่าซังเดินทางไปเร่ขายของในจังหวัดหนึ่ง(โทร่าซังหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนขายของเร่) แล้วก็เกิดตกหลุมรักผู้หญิงสวยคนหนึ่ง (ที่มักจะเป็นดาราสาวที่กำลังฮอทอยู่ในช่วงเวลานั้น) จากนั้นโทร่าซังก็แห้วในเรื่องความรัก กลับบ้านทะเลากับคนในครอบครัว(ฉากทะเลาะกันในหนังน่ารักมาก ดูแล้วก็จะรู้ว่าเวลาที่คนกำลังทะเลาะกันด้วยความรักและความห่วงใยมันเป็นยังไง) แล้วก็ออกเดินทางต่อ เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป

ถ้าเรามองในแง่ที่มันเป็นงานศิลปะที่สะท้อนภาพชีวิตเล็กๆ ของคนในครอบครัวหนึ่ง(โยจิ ยามาดะ เป็นเพื่อนสนิทของ โอสุ ซึ่งมีความเชื่อคล้ายๆ กันคือชอบหนังพล๊อทเล็กๆ เกี่ยวกับชีวิตคนในครอบครัว) ผมว่าโยจิ ยามาดะ--ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ทำมันได้อย่างละเอียดอ่อน แสนที่จะเรียบง่ายและช่างมีชีวิตชีวา จนเราเชื่อจริงๆ ว่าดาราในเรื่องเขาเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ในระยะเวลา 27 ปีพวกเขา ทั้งเติบโตแล้วแก่ชราไปพร้อมๆ กัน


ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นปีที่ผมได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง 男はつらいよ ที่แปลเป็นไทยว่า "มันยากนะที่จะเป็นผู้ชาย" ในเทศกาลหนังโทร่าซังที่จัดโดยมูลนิธิญี่ปุ่น ที่ตึกเสริมมิตรเป็นครั้งแรก(และอีกหลายครั้งนับจากนั้น ถ้าเย็นวันศุกร์ไหนที่เขานำหนังเรื่องโทร่าซังออกมาฉาย โดยมากผมมักไม่พลาด) นับแต่นั้นมาสำหรับผม ชีวิตของโคโยชิก็ไม่ส่วนของโคโยชิ และวิชิตก็ไม่ส่วนของวิชิตอีกต่อไป

สำหรับผม โคโยชิ อะสุมิ ก็คือ โทร่าซัง การจากไปของเขาทำให้ผู้รู้สึกเสียใจย้อนหลัง(ผมเสียใจช้าไปถึง 5 ปี) เพราะโทร่าซัง เป็นผู้ชายที่ผมรู้สึกดีด้วย(ประโยคนี้เขียนได้ล่อแหลมจริงๆ ^_^) เพราะรู้สึกชื่นชมน้ำจิตน้ำใจที่เขามีต่อคนรอบข้าง และชื่นชมวิธีที่เขามองโลกมองชีวิต

เสียดายเหมือนกันที่ตอนนี้เลยวัยที่จะมี Idol ไปแล้ว-ถ้ารู้จักโทร่าซัง เร็วกว่านี้หน่อยผมก็อาจจะบอกว่า โทร่าซังเป็น Idol ของผม

"มันยากนะที่จะเป็นผู้ชาย" ยิ่งผู้ชายแบบโทร่าซังด้วยแล้วเนี่ย
ความยากนั้นยิ่งเป็นเท่าทวีคูณ



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+



ในตอนต้นเรื่องของทุกตอน หนังจะเริ่มต้นด้วยเพลงนี้-แทรกด้วยมุขตลกนิดหน่อย
เพลงนี้มีเนื้อร้องที่แปลเป็นไทยว่า

(ท่อนพูด)
ข้าเกิดและเติบโต ใน คัตสุชิกะ
ข้านามสุกลว่า "คุรุม่า"
ส่วนชื่อจริงนั้นคือ "โทราจิโร่"
แต่ ใครๆ ก็เรียกข้าว่า "โทร่าคนพเนจร"

(ท่อนร้อง)
พี่รู้ดีว่าไม่สามารถร่วมชีวิตกับเจ้าได้
พี่เป็นได้ก็เพียงพี่ชายที่แสนดี
แต่พี่จะพยายามทำให้ดีที่สุดแม้ว่าจะต้องร้องไห้
ตะวันกำลังลาลับและวาสนากำลังลาจากพี่ไป


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Bergsonism--Gilles Deleuze

4 comments:

Anonymous said...

หนังของชาติไหนก็เป็นหนังของชาตินั้น คนอื่นมาทำคงไม่สนุก นี่กระมังที่เป้นเหตุให้หนังโฆษณาตลกๆ แบบไทยๆ ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาได้ซ้ำบ่อย ขณะที่วันก่อนไปดูญี่ปุ่นทำหนัง วันล้างโลก แล้วก็ไม่ค่อยสนุกเท่าดูหนังมะกันอย่าง ไอดี 4 หรือ เดเจวู
ถ้าเพ่มีโตร่าซังอยู่ในดวงใจ คนอย่างผมก็คงต้องส่งบ้านผีปอบ และบุญชูผู้น่ารัก มาประชัน
ไม่รู้ว่าเราจะมีวันได้ดูหนังไทยน่ารักๆ แบบนั้นอีกรึป่าวนะ

the aesthetics of loneliness said...

ยังไม่เคยดูสักภาค คงต้องไปอาศัยพึ่งร้านเฟม ท่าพระจันทร์ซะหน่อย พี่ว่าหนังญี่ปุ่นมันมีลักษณะเฉพาะ มีสุนทรียะแบบญี่ปุ่นๆ คำว่าคนตัวเล็กๆ ความเรียบง่าย ไม่หวือหวา ชีวิตชาวบ้านในชนบท คำเหล่านี้มันใช่เลยว่าเป็นแบบญี่ปุ่นๆ

Anonymous said...

ยังไม่เคยดูโทร่าซัง
เคยได้ยินแต่กิตติศัพท์

เคยอ่านเจอว่า เรื่องโทร่าซังนี่เป็นที่ประทับใจคนญี่ปุ่นและผู้ชายญี่ปุ่นมากเพราะสังคมญี่ปุ่น เป็นสังคมที่ทุกคนต้องทำงานหนัก และทำงานเก่ง การมีโท่ซังซึ่ง "ไม่เก่ง" และ "อกหัก" ตลอดเวลา ช่วยปลอบประโลมผู้ชายญี่ปุ่นได้

เวลามีตอนใหม่ๆ ออกมาถือว่าการดูโทร่าซังเป็นประเพณีที่ต้องดูกันทีเดียว

ป.ล.เพลงประกอบหนังเพราะดี

Unknown said...

เมื่อหลายปีก่อนไมีโอกาสไปที่ที่ชิบามาตะ ใกล้ๆวัดไทฉะคุเต็ง ที่มักใช้เป็นฉากเริ่มของภาพยนต์เรื่องนี้ เข้าฟังราคุโงะ (โชว์ญี่ปุ่นโบราณที่เป็นศิลปะการเล่าเรื่อง) หลังจากนั้น ทำให้คิดว่า อาจารย์ยามาดะ ผู้กับกำภาพยนต์เรื่องนี้ เป็นนักเล่าเรื่องผ่านกาลเวลาของญี่ปุ่นร่วมสมัยที่สำคุญท่านหนึ่ง ได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้ตั้งแต่เรื่องแรกจนเรื่องที่ 50 ที่ถ่ายทอดสู่รุ่นแม้ผู้แสดงหลายคนจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
อาจารย์ยามาดะ มักปิดท้ายเรื่องด้วยฟ้าที่ประดับด้วยทาโคะ (ว่าว) แสดงสัญญลักษณ์กาลเวลาที่ผ่านเวียนมาถึงฤดูกาลใหม่ ด้วยการที่เราเติบโตในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาพยนต์เรื่องนี้ผลิต