Tuesday, February 13, 2007

เกิดแล้วเกิดใหม่

2007-02-13




เวลาบ่าย 3 โมง 32 นาที วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็น่าจะเหมือนวันธรรมดาปกติทั่วๆ ไปวันหนึ่ง ที่ท้องฟ้าดูสดใส—บรรยกาศแบบนี้อาจจะเหมาะแก่การนั่งจิบน้ำชากาแฟพูดคุยกันเรื่องสัปเพเหระ (หรืออ่านนิยายสนุกๆสักเล่ม แกล้มด้วยคุกกี้รสช้อกโกแลตที่แสนอร่อย) แต่ที่เมืองเซ็นหลุยส์ (St. Louis) รัฐมิซูรี่ (Missouri) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานี้อาจจะอบอวลไปด้วยกลิ่นของดอกเบญจมาศในงานศพ เงาทะมึนของมัจจุราชกำลังคืบคลานเข้ามา ยัดเยียดความตายให้กับบางสิ่งบางอย่าง--ที่ถือกำเนิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ บางสิ่งบางอย่างที่เราเรียกมันว่า 'สถาปัตยกรรมสมัยใหม่'

และแล้วเสียงระเบิดแรงสูง (Dynamite) ก็ดังสนั่นหวั่นไหว เพียงพริบตาอาคารพักอาศัยรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมความสูง 14 ชั้นหลายหลังในโครงการเคหะสถานขนาดใหญ่สำหรับชนชั้นแรงงาน (Working Housing Project) ที่มีชื่อว่า 'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนสายหนึ่งในเมืองเซ็นหลุยส์ พังราบลงกับพื้นโลกกลายเป็นกองของเศษอิฐที่ไร้ประโยชน์--วินาทีถัดไปจากนี้จะมีไม่สถานที่อย่าง 'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) อยู่บนโลกอีกต่อไป

ที่รอบนอกพื้นที่ท่ามกลางกลุ่มควันของเศษอิฐที่ยังคงครุ่กรุ่น เสียงโห่ร้องดีใจของผู้คนยังคงดังอยู่อย่างไม่ขาดสาย--เมื่อเดวิดสามารถล้มโกไลแอตได้สำเร็จ (เย้)

'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอุดมคติในแบบ ‘สถาปัตยกรรมสมัยใหม่’ (Modern Architecture) 100 เปอร์เซ้นท์เต็ม—แน่นอนเรียกได้ว่ามันเป็นสายพันธ์ุแท้ของสถาปัตยกรรมในรูปแบบสมัยใหม่ (เพราะการออกแบบนั้นดำเนินรอยตามแนวความคิดของกลุ่ม CIAM—The Congress of International Modern Architects ซึ่งเป็นกลุ่มของสมาชิกที่เป็นผู้นำทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 แทบจะทุกกระเบียดความคิด) อาคารหลังนี้ออกแบบโดยสถาปนิกเชื้อสายญี่ปุ่นอย่าง มิโนรุ ยามาซากิ (Minoru Yamazaki) (ในวินาทีนั้นเขาคงไม่รู้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าอาคารอย่าง World Trade Center ที่เขากำลังออกแบบอยู่ในขณะนั้นก็จะหายวับไปกับตาเช่นกัน ในเช้าตรู่ของวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544) โดยอาคารหลังนี้ได้รับรางวัลจาก The American Institute of Architects ในฐานะที่เป็นอาคารที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ ณ วินาทีก่อนที่มันจะกลายเป็นกองเศษอิฐนั้นอาจจะพูดได้ว่า 'ไม่มีชนชั้นแรงงานคนไหนที่เคยอาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้ต้องการมันอีกแล้ว' (มิเช่นนั้นคงจะไม่ตัดสินใจที่จะระเบิดมันทิ้ง) สาเหตุที่สำคัญก็คือ อาคารพักอาศัยหลังนี้ มันดูเย่อหยิ่งจนเกินไป ทรนงตัวจนเกินไป และแน่นอนที่สุดมันไม่แคร์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยสักเท่าไหร่ และจุดที่สำคัญที่สุดก็คือ มันดันลืมไปสนิทว่าในแต่ละชีวิตที่อาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้แท้จริงนั้นทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งหน่วยของชีวิตที่มีความเป็นปัจจเจก

นี่อาจเป็นรอยร้าวที่ชัดเจนที่สุดของ 'ตำนานรักสามเศร้า' ในแวดวงสถาปัตยกรรมที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของผู้ไม่สมหวังในรักทั้งสาม--สถาปนิก (ผู้ฝักใฝ่ในการออกแบบสไตล์โมเดิร์น) ชนชั้นแรงงาน และชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise)

ตำนานรักสามเศร้า--อันแสนโศก เรื่องนี้นั้นเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 30 เมื่อผู้นำทางความคิดแบบสมัยใหม่แห่งโรงเรียนเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) อย่าง เวอเตอร์ โกรเปียส (Walter Gropius) และเพื่อนของเขา มิส วาน เดอร์โรห์ (Mies Van Der Rohe) ระหกระเหินหนีภัยสงครามจากพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่สองจากเยอรมันนีประเทศบ้านเกิดมาสู่โลกใหม่--ประเทศสหรัฐอเมริกา แน่นอนในชั่วโมงนั้นแนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้นกำลังเบ่งบานและฝังรากรึกลงไปในความคิดของสถาปนิกหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในยุโรปอยู่บ้างแล้ว ไม่แปลกอะไรที่การมาอเมริกาในครั้งนี้ของโกรเปียส จะเปรียบเสมือนการปรากฏตัวของ 'พระเจ้าองค์ใหม่' ซึ่งเป็นผู้นำความคิดทางการออกแบบอาคารภายใต้รูปแบบที่เราเรียกว่า 'สถาปัตยกรรมสมัยใหม่' (Modern Architecture) ในการมาสู่โลกใหม่ในครั้งนี้เขาได้รับตำแหน่งเป็นถึงคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

แน่นอนสำหรับประเทศใหม่--อย่างอเมริกา ที่รากแก้วของประวัติศาสตร์ยังไม่ยั่งรากลึกลงดิน ความคิดใหม่ๆ จากดินแดนที่มีรากทางวัฒนธรรมที่หยั่งลึกอย่างยุโรป ย่อมดูหอมหวลชวนหลงใหล--เปรียบได้ดังเช่นสาวพราวเสน่ห์ผู้มาจากดินแดนที่แสนไกล ที่มีจริตจกร้านน่าดูน่ามอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักศึกษาทางสถาปัตยกรรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนเสียใหม่ โดยรับแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ให้เป็นแกนหลักที่สำคัญของการเรียนการสอนแทนที่แนวความคิดแบบดั้งเดิม--ที่พวกเขาคิดว่าเก่าคร่ำครึ

ซึ่งหากเราจะสืบสาวถึงความเป็นมาของแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมในแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) ที่มีต้นกำเนิดแรกในยุโรป ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ต้องการจะต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) (โดยชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญญาชนคนหนุ่มสาว--หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ เป็นลูกของคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีที่อ่านหนังสือเยอะ ยกตัวอย่างเช่น เวอเตอร์ โกรเปียส เป็นต้น) โดยมีความเชื่อว่า วิถีชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ของชนชั้นกลางนั้นสิ้นเปลืองและสุรุ่ยสุร่ายจนเกินไป ดังนั้นอาคารที่ออกในแบบสมัยใหม่นั้นจึงไม่ควรมีส่วนตกแต่งหรือลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับแนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้น 'การตกแต่ง' ก็เปรียบเสมือนเป็นการทำ 'อาชญากรรม' ที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งเลย (น่าดีใจแทนพวกเขาเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มนักออกแบบรุ่นนี้ไม่ได้มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วเขาอาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ ถ้าเกิดอ่านเจอในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและตกแต่งบ้านที่มีอยู่ตามท้องตลาดในปัจจุบัน ที่มักชอบใช้สำนวนในการบรรยายว่า "บ้านหลังนี้ตกแต่งด้วยสไตล์แบบโมเดิร์น"--ให้ตายเถอะการตกแต่งนั้นเป็นอาชญากรรมชัดๆ แต่ก็อย่างว่าล่ะนะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว) แน่นอนสิ่งต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยมือด้วยความวิจิตรบรรจง นั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นำความฟุ้งเฟ้อมาสู่ ดังนั้นวัสดุในการที่จะนำมาใช้งานในการก่อสร้างจึงไม่ควรเป็นของ 'ทำมือ' เพราะของที่ทำจากมือนั้นย่อมมีราคาแพง แน่นอนเมื่อมีความคิดเช่นนี้ วัสดุที่ถูกผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรมอย่าง กระจก เหล็ก ไม้ และคอนกรีต ที่มีสีขาว สีดำ สีเทา และสีน้ำตาล (มีความเชื่อกันว่าสีเหล่านี้เป็นสีกลางๆ ที่ดูขรึมๆ ไม่ดูฟุ้งเฟ้อ) ตามธรรมชาติที่เป็นอยู่จริงของวัสดุชิ้นนั้นๆ (ลองไปดูหนังสือตกแต่งบ้านที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดดูสิว่ามีสีต่างๆ ที่พูดถึงเหล่านี้บ้างไหมเอ่ย ?) จึงกลายเป็นทางออกใหม่ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตกยกรรม รวมถึงยังใช้รูปทรงเรขาคณิตที่มีรูปทรงที่เรียบง่ายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรูปทรงของอาคารเพราะมีความเชื่อว่ารูปทรงเรานี้เป็นรูปทรงที่ปราศจากความหมายจึงไม่สามารถเชื่อมโยงมันเองกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีตได้ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) รวมเรื่องการให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบ 'ที่ว่าง' (Space) เพราะในความคิดของสถาปนิกผู้นิยมออกแบบงานในแบบโมเดิร์นมีความเชื่อว่า ความว่างเป็นสิ่งที่ปราศจากความหมาย และยังเป็นหัวใจหลักของการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งสถาปนิกหวังว่ามาจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบใหม่ของชนชั้นแรงงาน ภายใต้โลกทัศน์ในแบบสังคมนิยมที่บูชา "มวลชน" ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ด้วย

และจุดที่เป็นปัญหาซึ่งเป็นที่มีมาของความรักสามเศร้านี้ก็คือ ในความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น อาคารเพื่อมวลชนเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ไม่เคยถูกใจผู้ที่อยู่ในชนชั้นแรงงาน (Working Class) ด้วยสาเหตุก็เนื่องมาจากมันเป็นที่อยู่อาศัยที่ดูแห้งแล้งเกินไป ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันมีลักษณะคล้ายสถานที่ทำงานของเขานั้นก็คือ 'โรงงาน' มากกว่า จะเป็น 'บ้าน' ที่แสนอบอุ่น ดังนั้นเมื่ออยู่ไปซักพักนึง ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจย้ายออกไปหาบ้านหลังเล็กๆ ที่อยู่ชานเมืองที่อาจจะอยู่ไกลมากขึ้น แต่มีบรรยากาศแวดล้อมที่ดูอบอุ่นกว่าซึ่งมีลักษณะน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม (ที่สามารถวางตุ๊กตาหมีพูห์และมิกกี้เม้าส์ของลูกๆ ไว้ภายในบ้านได้อย่างไม่รู้สึกตะขิตะขวงใจ) บางทีคนพวกนี้คงอาจจะอ่านหนังสือน้อยเกินไป จึงไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ที่เหล่าสถาปนิกยุคโมเดิร์นได้มอบให้คือนวัตกรรมใหม่ของการอยู่อาศัยในศตวรรษที่ 20

แน่นอนงานสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้เงินในการสร้างสูงกว่าศิลปะชนิดอื่นๆ ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำการทำงานออกแบบร่วมกับภาครัฐจึงเป็นทางออกที่สถาปนิกในยุคโมเดิร์นนิยมกระทำกัน อาคารพักอาศัยของชนชั้นแรงงานจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่อยู่ไปนานๆ เข้าสถานที่เหล่านั้นก็เริ่มรกร้างว้างเปล่าสาเหตุก็เนื่องจากปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ในทางตรงกันข้าม ในย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) เราก็จะเริ่มเห็นบ้านในสไตล์โมเดิร์นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็นเช่นกัน พร้อมกับรอยยิ้มชื่นชมยินดีว่าพวกตนได้เป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นนวัติกรรมทางการอยู่อาศัยแห่งศตวรรษที่ 20

จะมีอะไรน่าเศร้าไปกว่านี้อีก

ในเมื่อสถาปนิกคิดค้นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เพื่อมวลชนคนชั้นแรงงาน แต่น้ำพักนำ้แรงทางความคิดของเขากลับถูกคนกลุ่มนี้ตั้งท่ารังเกียจ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ชนชั้นกลางที่สถาปนิกตั้งท่ารังเกียจ และออกแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่เพื่อต่อต้านวิถีชีวิต กับให้การต้อนรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมกับแกล้งทำเป็นลืมว่าต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมเหล่านี้เกิดจากการตั้งท่ารังเกียจพวกตน

เสียงโฮร้องแสดงความดีใจของผู้คนในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 เวลาบ่าย 3 โมง 32 นาที อาจจะเป็นเสมือนจดหมายไร้ตัวอักษรที่ส่งผ่านไปยังสถาปนิกก็ได้ว่าพวกตนนั้นเอือมระอาสถาปัตยกรรมในรูปแบบโมเดิร์นนี้มากมายเพียงใด

และจากจุดนี้เองที่นักทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมหลายท่าน กำหนดหมุดหมายให้มันเป็นจุดสิ้นสุด ของ ‘สถาปัตยกรรมในแบบสมัยใหม่’ (Modern Architecture) กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวหัวคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น อาจจะตบมือ หวีดร้องส่งเสียงดังด้วยความดีใจ ในใจของเขาและเธอคงจะคิดว่ารุ่งอรุนแห่งสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆ กำลังจะมาถึงอีกในไม่ช้านี้--ยุคที่่สถาปัตยกรรมหันมาให้ความสำคัญกับ 'มนุษย์' (Human) มากกว่า 'ที่ว่าง' (Space)

แต่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) นั้นได้ ‘ตายจากเราไปแล้ว’ จริงๆหรือ ?


ถ้าเราจะลองเปิดหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งและออกแบบบ้าน ณ เวลาปัจจุบันนี้ดู คุณก็อาจจะคุ้นตากับกลุ่มคำต่างๆ เหล่านี้ “บ้านที่ตกแต่งด้วยสไตล์แบบโมเดิร์น” “ห้องครัวออกแบบอย่างเรียบหรูแบบโมเดิร์น” “บ้านรูปแบบสมัยใหม่ที่เหมาะกับชีวิตคนเมืองที่มีสไตล์เช่นคุณ” ถ้าเราตัดคำต่างๆ เหล่านี้--โมเดิร์นสไตล์ ตกแต่งในแบบสมัยใหม่ เรียบหรูในแบบโมเดิร์น ฯลฯ ที่พบเห็นตามสื่อต่างๆ มาลองวางเรียงกันต่อกันเป็น บางทีความยาวของมันในแต่ละปีนั้น เราอาจจะได้หนังสือเล่มหนา(เตอะ)เท่าสมุดหน้าเหลืองเลยก็ได้--ใครจะไปรู้

ถ้ามีคนพูดถึงมันเยอะขนาดนี้บางทีมันอาจจะยังไม่ตายจริงอย่างที่นักทฤษฎีเขาว่ากัน--ใช่แน่นอน มันยังไม่ตาย แต่ได้ถือกำเนิดในร่างอื่น เหมือนซาดาโกะ ในนิยายสยองขวัญเรื่อง 'ริง' ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ซุสุกิ โคจิ มันอาจจะตายไปแล้วถ้ามองในแง่มุมของนักคิดทางสถาปัตยกรรมที่มีหัวคิดก้าวหน้า (ซึ่งเราอาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ด้วยคำตามสมัยนิยมได้ว่าเป็น 'เด็กแนวทางสถาปัตยกรรม' อันได้แก่แนวความคิดในการออกแบบที่ต่อต้านแนวความคิดในแบบโมเดิร์นอย่าง Post-Modern , Deconstruction , Feminism หรืองานที่ได้ออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่อย่าง Blob--แน่นอนว่าแนวคิดพวกนี้ย่อมเป็นแนวทางการออกแบบในกระแสรอง ซึ่งไม่ค่อยมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในวงกว้างมากเท่าไหร่)

แต่สายเกินไปแล้ว ความเป็นจริงก็คือในตอนนี้แนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้นแฝงตัวอยู่ในทุกหย่อมหญ้าตามผืนโลกใบนี้มันกลายเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมกระแสหลัก สถาบันการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมเกือบทุกแห่งในโลกรวมถึงในประเทศไทยก็ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างการเรียนการสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดแบบโมเดิร์นแทบทั้งสิ้น

แน่นอนมันอาจจะแพร่กระจายได้รวดเร็วเฉกเช่น 'ไวรัสริง'

ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) จะมีต้นกำเนิดมาจากแนวความคิดแบบสังคมนิยมสุดขั้ว แต่เมื่อมันเดินทางผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้นั้นไม่มีใครพูดถึงมันในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานอีกต่อไปแล้ว--เพราะมันฟังดูเช้ยเชยและเพื่อชีวิตเอามากๆ เด็กในชั้นเรียนสถาปัตยกรรมบางคนอาจจะไม่รู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่เป็นที่มาหรือต้นกำเนิดของงานแบบโมเดิร์นที่ดูเรียบๆ ซึ่งมีให้เห็นกันเกร่อตามหน้านิตยสารหรือหนังสือสถาปัตยกรรมที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆ ไป ซึ่งปัจจุบันนี้เราอาจจะเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ให้ฟังดูเท่ เก๋ ว่าเป็นงานแบบ Minimalist (ซึ่งจะว่ากันไปก็เป็นเรื่องของคนมีมาก(ร่ำรวย)ที่คิดอยากจะลองมีน้อย--ด้วยการลองทำตัวสมถะดูสักที)

และสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใดก็คือชนชั้นกลาง (Bourgeoise) ยังเป็นกลุ่มคนที่รักและเอ็นดูงานในแบบโมเดิร์นนี้อย่างไม่เสื่อมคลายแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใด

คุณคือแฟนพันธุ์แท้สำหรับงานออกแบบสไตล์นี้เลยจริงๆ

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-Jazz Life เล่ม 1--อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการ
Book read:
-Jazz Life เล่ม 1--อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการ

4 comments:

Anonymous said...

ถ้าชนชั้นกลางบ้านเรารู้ว่า
จุดมุ่งหมายในตอนแรกของแนวคิดแบบโมเดิร์น เป็นไปเพื่อชนชั้นแรงงาน พวกเขาจะยังชอบบ้านแบบโมเดิร์นอยู่ไหม

อย่างไรเสีย กำลังสงสัยว่าชนชั้นกลางนี้
ประสบความสำเร็จในการสื่อสารบ้างไหม
ถึงอย่างไร เราก็อาจเผลอเอารสนิยมของเราไปบอกคนอื่นว่าดี
อยู่ดี
( ทุกอย่างมัน Subjective น่ะ )

Anonymous said...

หลายครอบครัวในเมืองไทย ต้องการเพียงแค่ บ้าน โดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่าการดีไซน์หรือรูปแบบการดำรงชีวิตจะเป้นแบบไหน
เราเห้นคนที่พยายามซื้อกล่องคอนกรีตขนาด 4*8 เมตร ที่เรียกว่าเอื้ออาทร โดยต้องยอมถอยตัวเองไกลออกจากชุมชนไปเรื่อย
หนำซ้ำต้องผ่อนอีกสองชั่วอายุคนเป้นอย่างน้อย
โดยลืมไปว่าระหว่างนั้นตัวเองก็ยังไม่มีบ้านอยู่ดี เพราะมีสภาพเป้นลูกหนี้ที่ต้องถีบจักรหาเงินมาส่งต่อทุกงวดๆ ถ้าขาดส่งเมื่อไหร่ก็ถูกยึด
ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่าบ้านเป็นเครื่อิงมือยึดโยงนายทุนกับชนชั้นแรงงาน
ให้ทำงานร่วมกัน โดยมีความฝันเคลือบน้ำตาลมาหลอกล่อว่าถ้าคุณ ขยันหมั่นเพียร ก้มหน้าก้มตาทำงาน วันหนึ่ง บ้าน หลังนั้นก็จะก็จะเป้นของคุณ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

the aesthetics of loneliness said...

โมเดิร์นิสม์คงเป็นได้แค่อุดมคติ มนุษย์เราคิดคำนึงถึงอุดมคติพวกนี้ตลอด แต่เวลาที่ผ่านไป เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามนุษย์เรา ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะมุ่งไปสู่อุดมคติพวกนี้

บทความนี้น่าสนใจและเข้าท่ากว่า บทความที่มีให้อ่านกันตามนิตยสารเกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ถึงพี่จะไม่มีความรู้เรื่องสถาปัตยกรรมเท่าไร แต่คิดว่าความน่าสนใจของมันอยู่ตรงปรัชญาและสุนทรียะ ไม่ใช่แค่เรื่องเปลือกๆ ผิวเผิน เอะอะอะไรก็เอาแต่เขียนว่าโมเดิร์นๆ อบอุ่นๆ ลงตัวๆ พวกนั้นมันน่าตลกนะ พี่ว่า

Anonymous said...

modern กับ contemporary
มันแตกต่างกันมั๊ย??