เรื่องนี้เกี่ยวกับคนทำหนังสือที่มีชื่อว่า "PO"
2007-02-09
เมื่อสามปีที่แล้วในกรุงโตเกียว ที่ประเทศญี่ปุ่น ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ เปิดตู้จดหมายหน้าบ้านตัวเองพบว่ามีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาจากกรุงเทพฯ เมื่อฉีกและลองคลี่ออกอ่านพบว่า มันเป็นจดหมายนัดสัมภาษณ์งาน แน่นอนมันเป็นงานที่เขาใฝ่ฝันที่จะทำ มันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสิ่งของ (สิ่งหนึ่ง) ที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มายาวนาน ของสิ่งนั้นก็คือ 'หนังสือ' และงานที่เขาใฝ่ฝันที่จะทำก็คือเป็น 'คนทำหนังสือ'
เด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ที่ชื่อ ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ (ซึ่งในย่อหน้าต่อๆ ไปนั้นเราจะเรียกชื่อเขาสั้นๆ ว่า 'ฮิโร่') ไม่รอช้า เขาล่ำลาพ่อแม่และญาติพี่น้อง เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ออกเดินทางมุ่งสู่มหานครใหญ่อย่างกรุงเทพฯ--เมืองแห่งนางฟ้าที่ดูจริงใจแต่ก็แสนที่จะไร้ระเบียบ แน่นอนเขาไม่ลืมนำสิ่งหนึ่งติดตัวมาด้วย สิ่งที่ไม่มีใครคนไหนบนโลกก็ตามสามารถมองเห็นมันได้ สิ่งที่คนบนโลกเรียกมันว่า 'ความหวัง'
แน่นอนการนัดสัมภาษณ์มิได้หมายความว่า เขาจะรับเราเข้าทำงานเลย เด็กหนุ่มอย่างฮิโร่คงจะยังไม่เข้าใจความจริงในข้อนี้ บทสรุปก็คือ เขาพลาดงานที่เขาใฝ่ฝันอยากจะทำ แต่ที่นี่เองที่เขาพบกับจ๋า-อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการอยู่ในหนังสือแห่งนั้น ในเวลานั้นไม่มีใครที่จะสามารถล่วงรู้ได้ว่า อีก 3 ปีต่อมาหนุ่มสาวคู่นี้จะร่วมมือทำนิตยสารเล่มหนึ่งร่วมกัน
นิตยสาร 2 ภาษา--ไทยและญี่ปุ่น ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า 'PO'
มันไม่ใช่่เรื่องง่ายๆ ที่เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกันที่คนๆ หนึ่งจะสามารถทนความยากลำบาก ความเหงา และความอ้างว้างในเมืองใหญ่ได้ ถ้าก่อนออกเดินทางจากญีปุ่นเขาไม่ได้นำ 'ความหวัง' ใส่มาด้วยเต็มกระเป๋า แน่นอนถึงเวลานี้ฮิโร่ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากหางานทำ
คืนวันย่อมล่วงเลยผ่านพ้นไปตามธรรมชาติของมัน หลังจากวันนั้นไม่นานนักฮิโร่ก็ได้งานทำที่หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง
9 โมงเช้า ถึงเที่ยงคืน คือเวลาทำงานของเขา ฮิโร่ต้องจมอยู่ในโลกของถ้อยคำที่ปราศจากความหมาย คลุกคลีกับโฆษณาที่เต็มไปด้วยคำวิเศษณ์บรรยายศัพท์คุณต่างๆ ของสินค้า--ที่ดูเลอเลิศเหมือนมันไม่ได้มีตัวตนอยู่บนโลก ชีวิตในช่วงนี้ของเขานั้นต้องเดิน เข้าออกห้างร้านต่างๆ และสนามกอล์ฟ รวมถึงสถานบริการยามค่ำคืนต่างๆ เป็นว่าเล่น
8 เดือนผ่านไป เมื่อ 'ความหวัง' ที่เขานำติดตัวมาด้วยจากญี่ปุ่นเริ่มร่อยหรอ เขาได้ข้อสรุปจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า การงานที่กัดกิน 'ความหวัง' นั้นจะทำให้ชีวิตของเขาห่อเหี่ยวไปเรื่อยๆ แน่นอนในความคิดของเขา มันเป็นการงานที่ดูไร้อนาคต และในค่ำคืนหนึ่งในระหว่างที่ทำงานอยู่นั่นเอง ขณะที่ล่องลอยอยู่ในโลกเสมือนจริงทางอินเตอร์เน็ต เขาพบเวปไซด์หนึ่งเข้าโดยบังเอิญ เว๊ปไซด์ที่ประกาศข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเปิดสอนกราฟฟิคดีไซน์สำหรับคนญี่ปุ่นที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เสี้ยววินาทีนั้นเองที่ฮิโร่คิดได้ว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเขาในการดำรงชีพเป็น 'คนทำหนังสือ' ที่เขาใฝ่ฝันในอนาคต
สำหรับฮิโร่ ดูเหมือนว่าทางกลับบ้านอาจจะเป็นหนทางเดินต่อของชีวิต เขาใช้เงินก้อนสุดท้ายเป็นค่าเดินทางกลับมหานครโตเกียว ที่เป็นเมืองบ้าน-เมืองเกิดของเขา
ในขณะเดียวกันนั้นเอง ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก่อนที่จ๋า-อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม จะออกเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อท่องเที่ยว เธอนึกขึ้นได้ว่ารู้จักกับหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่ง--ชายหนุ่มที่มีชื่อว่า 'ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ' เธอไม่รอช้า เขียนอีเมล์ติดต่อกับฮิโร่ในทันทีในวันก่อนออกเดินทาง
ค่ำคืนหนึ่งในมหานครโตเกียว ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง หนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังสนทนาแลกเปลี่ยนความฝันของกันและกัน แน่นอนว่าทั้งสองคนมีความฝันเดียวกัน ความฝันในการทำนิตยสารสักเล่มในประเทศไทย
ในค่ำคืนนั้น--เสียงแก้วเหล้าสาเกกระทบกันเป็นเสมือนตัวแทนคำมั่นสัญญาของคนทั้งสอง
ในขณะที่จ๋าเดินทางกลับมาทำงานเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารเล่มเดิมในกรุงเทพฯ ที่กรุงโตเกียวฮิโร่ก็เริ่มเก็บข้อมูลที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนิตยสารเล่มดังกล่าว โดยพยายามขอสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นที่เขาคิดว่ามีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
หนึ่งปีหลังจากนั้นเมื่อฮิโร่กลับมาที่กรุงเทพฯอีกครั้งตามคำสัญญาที่ทั้งสองให้แก่กันไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น
และเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่หนุ่มสาวทั้งสองต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท At Container และผลิตนิตยสารที่มีชื่อว่า 'PO' ฉบับปฐมฤกษ์ออกมาปรากฎแก่สายตาบนแผงหนังสือ
และหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่นิตยสารเล่มนี้วางแผง บ่ายวันนั้นเองที่ผมได้นัดพูดคุยกับจ๋าและฮิโร่ ณ มุมหนึ่งของสถานที่ที่หลบลี้ไปจากความจอแจและโกลาหล ในกรุงเทพฯ
จ๋าคุยให้เราฟังว่า "หนังสือโพเป็นหนังสือสองภาษา (ไทยและญี่ปุ่น) ที่นำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาใกล้ๆ ตัว เรื่องราวในชีวิตประจำวันของสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจที่นิตยสารเล่มอื่นมักมองผ่าน (เพราะมันแสนที่จะธรรมดา) แต่เราไม่ละเลย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเราในชีวิตในแต่ละวัน โดยจะวางจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น"
จ๋ายังบอกกับเราถึงที่มาของชื่อนิตยสารเล่มนี้ว่า "โพ (PO) อาจจะแปลได้หลายความหมาย สำหรับฮิโร่อาจจะหมายถึงคำว่า 'โป๊' คือเป็นการเปลือยความคิดออกมา ซื่อๆ แบบไม่เสแสร้งแต่สำหรับฉันความหมายที่โดนใจที่สุดก็คือ โถส้วมเด็ก ฉันมีความคิดว่าช่วงเวลาที่เรานั่งอยู่บนโถส้วม นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งจินตนาการ หรือคิดอะไรต่างๆ ได้มากมาย ทั้งยังสามารถแสดงความรู้สึกเจ็บปวด สุขใจ และตื่นเต้นได้อย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์"
เส้นทางของการใช้ชีวิตเป็น 'คนทำหนังสือ' ของจ๋าและฮิโร่ดูเหมือนว่ายังอีกยาวไกล ก็มีแต่เวลาและคุณผู้อ่านเท่านั้นที่สามารถตัดสิน การอยู่การไปของหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ได้
แต่สำหรับเรานั้นการกระทำของจ๋าและฮิโร่ล้วนแล้วแต่แสดงถึงด้านที่ดีงามของมนุษย์
ไม่ใช่ในแง่ที่กล้าที่จะแตกต่าง ไม่ใช่ในแง่ที่กล้าที่จะแหกคอก แต่เราชื่นชมพวกเขาในฐานะที่มีความซื่อสัตย์ต่อความคิดและความใฝ่ฝันของตัวเอง และพยายามทำมันให้สำเร็จ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติที่ดีในการเป็นมนุษย์ที่น่าเคารพยกย่อง--บนโลกใบนี้
ปล.--เขียนไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ลงในนิตยสาร H&D ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ถึงตอนนี้ก็ 2 ปีพอดี ^_^
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
สิ่งที่อยากเขียน--เมื่อเวลาผ่านพ้นไปสองปี
ด้วยความที่พูดคุยกันถูกคอ หลังจากที่สัมภาษณ์และพูดคุยสนทนากันในวันนั้น จ๋าและฮิโร่ ชวนผมมาร่วมทำนิตยสารโพ--เล่มที่สาม ซึ่งเป็นฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง ดนตรี (เล่มแรกเกี่ยวกับเบียร์ญี่ปุ่น เล่มที่สองเกี่ยวกับนิตยสารไทย) นึกถึงแล้วก็สนุกดี จ๋าเป็นคนสนุก พูดจาตลกและปล่อยมุกฮาได้อยู่ตลอดเวลา ส่วนฮิโร่ก็ลูกบ้าเยอะ เวลาไม่อยากทำงานก็นอนเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย(ใครเห็นฮิโร่ตอนนี้อาจจะนึกว่าเขาเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาวได้เลย) แต่บทจะขยันขึ้นมาเนี่ยจ่าเคยเล่าว่าสามวันสามคืนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบไม่ยอมหลับยอมนอน--ซึ่งถ้าใครมาเห็นฮิโร่ตอนทำงานก็อาจจะบอกว่านี่แหละเป็นความขยันแบบคนญี่ปุ่น
ฮิโร่เป็นคนชอบฟังเพลงแบบขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ วันนึงขณะที่นั่งทำงานกันอยู่ฮีโร่ชวนผมคุยเรื่องเพลง ไม่คุยเปล่าเปิดเพลงโน้น เปิดเพลงนี้ เปิดมิวสิควีดีโอ หรือคอนเสิร์ตศิลปินที่เขาชื่นชอบให้ผมดูพร้อมกับร่ายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละวงอย่างละเอียด ซึ่งยอมรับว่าวันนั้นสนุกมากๆ
รู้สึกว่าตอนทำเล่มนั้น สัมภาษณ์นักร้องไว้เยอะมาก และถ่ายรูปนักร้องแบบสนุกๆ เอาไว้เยอะ (เช่น พงษ์สิทธิ คำภีร์ ปั่นสามล้อมอยู่ในสวนบ้านตัวเอง) ผมเองก็สัมภาษณ์หลายคนในเล่มนี้ เช่น พงษ์สิทธิ์ คำภีร์(เป็นนักร้องแนวเพื่อชีวิตคนสุดท้ายแล้วในความคิดของเรา เพราะหลังจากพี่ปูเนี่ยยังไม่เห็นใคร?--หรือว่าเพลงที่ไม่แนว และร้องภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำแบบนี้มันกำลังจะตาย? :P--เพลงตลอดเวลา เพลงคิดถึง กับเพลงสุดใจเพราะมากๆ สำหรับเราใครที่เป็นคนแต่งสามเพลงนี้ต้องไม่ธรรมดา ^_^) กระชาย วง Death of A Saleman (อันนี้เป็นวงดนตรีที่ชอบเป็นการส่วนตัว 555 กระชายอายุไล่เลี่ยกับผม รู้สึกว่าตอนนี้เขาทำงานเกี่ยวกับเว๊บไซด์อะไรสักอย่างนึงที่แกรมมี่ ล่าสุดเคยเจอครั้งนึงตอนลงไปกินข้าวเที่ยงในร้านขายซีดีแถวอโศก) ริก--นักร้องหญิงที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แก๊บทีโบน แล้วก็สุนารี ราชสีมา(ผู้หญิงคนนี้มีเสียงที่เพราะมากๆ)
เวลาสัมภาษณ์ก็คุยกันแบบยืดยาวเรื่อยเปื่อย แต่พอถึงเวลาต้องลงมือเขียน จ๋าบอกว่า อยากให้มันสั้นๆ หนึ่งย่อหน้า สองย่อหน้าก็พอ(ที่จี้เขียนนะยืดยาว แล้วก็ลีลาเยอะไป ^_^) ไอเดียก็คือ สั้น ง่าย แล้วก็กระชับ ไม่ยืดเยื้อ
ด้านล่างเป็นตัวอย่างงานที่เขียน--แบบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ยืดเยื้อ ตามที่จ๋าอยากได้ ^_^
-------------------------------------------------------------------
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
-------------------------------------------------------------------
headline
สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตนักดนตรีคือการแสดงสด
text
ก่อนเป็นนักดนตรี ผมเคยอาศัยอยู่กับพี่เล็ก คาราบาวและเคยเป็นเด็กยกเครื่องดนตรีให้วงคาราวานมาก่อน
นับตั้งแต่จำประสบการณ์ที่เกี่ยวกับดนตรีได้ดูเหมือว่ากีต้าร์คือเครื่องดนตรีที่ผมคลุกคลีตีโมงกับมันมาตั้งแต่เด็ก (นอกเหนือไปจากลูกฟุตบอล--อ้าวก็ลูกฟุตบอลไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีนี่?) ประสบการณ์เกี่ยวกับดนตรีของผม เป็นประสบการณ์ตรง มันต้องแลกมาด้วยวันเวลาในชีวิต กว่าตัวโน้ตจะค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในร่างกาย และท้ายที่สุดวันหนึ่งมันถูกกลั่นกรองออกมาเป็นเพลงเป็น 'เพลงเพื่อชีวิต' เพลงส่วนใหญ่ที่ผมแต่งจะเป็นเพลงเศร้า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในตอนแสดงสดผมไม่อยากให้คนดูเต้นมากนัก ผมอยากให้คนดูยืนอยู่เฉยๆ มากกว่า ทุกวันนี้ผมยังคงรักการเล่นสดและชอบเดินทางไปพบปะแฟนเพลงในจังหวัดต่างๆ เพราะสำหรับผมการแสดงสดถือเป็นหน้าที่สำคัญของนักดนตรี
คำแนะนำ
-สำหรับนักดนตรีความทะเยอทะยานถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมบอกกับตัวเองเสมอว่าถ้าต้องเล่นคอนเสิร์ตเราต้องเจ๋งกว่าคนที่เราชอบให้ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว มันก็จะสนุกเพิ่มมากขึ้น
-เมื่อมีโอกาสเข้ามาเราควรรีบคว้าไว้แล้วทำมันให้ดีที่สุด เพราะโอกาสดีๆ ไม่ได้วิ่งเข้ามาหาเราบ่อยๆ
-ถ้าอยากจะเป็นนักดนตรีต้องหมั่นฝึกฝนและให้ความสำคัญกับการเล่นสด เพราะถ้าเราจัดสรรเวลาดีๆ อาชีพนักดนตรีก็สามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้อย่างสบาย
Albums ที่ชอบ
-คาราวาน ชุด 1985
-Direstrait ชุด Love songs
-U2—ทุกชุด
-------------------------------------------------------------------
Death of A Saleman
-------------------------------------------------------------------
Headline
เสียงคือเพื่อนที่ดีที่สุด พวกเรามองทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวด้วยอารมณ์ขัน เราก็เลยทำดนตรีขึ้นมาเพราะว่าเราอยากจะได้เห็นโลกในแบบที่เราอยากจะมอง
text
จุดเริ่มต้นในการทำเพลงของผมเริ่มต้นจากความรู้สึกที่อยากจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วยเสียงต่างๆ ที่ผมชอบ ดนตรีของผมมีแกนกลางอยู่ที่การเป็น Folk Music แต่ผมก็ไม่ได้จำกัดเลยว่าผมจะเล่นเสียงเครื่องดนตรีอะไรใส่ลงไปบ้าง พวกเรามีความสนุกที่จะเติมเสียงต่างๆ ลงไปเรื่อยๆ ผมชอบการทำงานของนักดนตรีญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับรายละเอียด ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการทำงาน ดนตรีในแต่ละแบบนั้นรู้สึกว่ามีที่มาที่ไปรู้สึกว่าเข้าให้ความสนใจในการพัฒนางานเป็นอย่างมาก ซึ่งต่างจากเมืองไทยนักดนตรี เดี๋ยวก็ทำฮิปฮอป แล้วอยู่อีกหน่อยก็เปลี่ยนเป็นแต่งตัวแบบแร็กเก้ แต่ทำเพลงแบบป๊อบร็อค บางครั้งผมก็รู้สึกว่าเขาไม่ค่อยมีจุดยืน สำหรับผมความใฝ่ฝันสูงสุดก็คืออยากจะเล่นดนตรีและทำงานดนตรีที่เรารักแล้วก็เดินทางไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ เพียงเท่านี้คิดว่าชีวิตก็น่าจะมีความสุขแล้ว
คำแนะนำ
-อยากให้วงการดนตรีแข็งแรงมากขึ้นกว่านี้ โดยมีสถานที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสเล่นสดมากกว่านี้ แล้วทุกๆ อย่างในวงการดนตรีไทยก็อาจจะดีมากกว่านี้
-เมื่อสนใจดนตรีควรศึกษาให้ถึงรากของดนตรีในแนวนั้นๆ เพราะสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาแนวความคิดในการทำงานและช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี
Albums ที่ชอบ
-Radio Head--OK Computer
-Melon Collie and The Infinite Sadness--Smashing Pumkins
-
-------------------------------------------------------------------
Rik
-------------------------------------------------------------------
headlines
ดนตรีของฉันเกิดจากความทะเยอทะยานที่จะเอาชนะคำสบประมาทในเบื้องต้น แต่โดยรวมแล้วสำหรับฉันนั้นดนตรีได้หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิต
text
ความคิดดีๆ มักจะมาในตอนเช้าตรู่ ท่วงทำนองของเพลงมักปรากฎในสมองของฉันในโมงยามเหล่านั้น ยามเช้าจึงมีความสำคัญกับฉันมากๆ เวลาฉันนึกอะไรได้ฉันก็มักจะคว้าเครื่องเล่นเทป มาบันทึกเสียงต่างๆ เหล่านั้นเสมอ ดังนั้นในการทำเพลงท่วงทำนองจึงมีความสำคัญที่สุด จากนั้นเนื้อหาจึงตามมาที่หลัง เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเหล่านี้แล้ว ฉันก็จะเอาท่วงทำนองเหล่านี้ไปคุยกับเพื่อนๆ ในวงเพื่อช่วยกันคิดแตกย่อยรายละเอียดในส่วนต่างๆ ซึ่งเวลาในการพัฒนางานส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในห้องซ้อมดนตรีแทบทั้งสิ้น เพราะเราจะเล่นกันไปคิดกันไปปลดปล่อยความคิดไปตามเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้น ในการทำดนตรีนั้นส่วนใหญ่ฉันจะไม่ค่อยมีทฤษฎีอะไรมากมาย เพลงที่ทำส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก ฉันชอบเวลาที่อยู่บนเวทีคอนเสิร์ตเพราะมันเป็นชั่วโมงที่เราสามารถปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ในตัวของเราได้อย่างเต็มที่
คำแนะนำ
-ฉันตกใจมากเมื่อมีรุ่นน้องมาถามว่าทำยังไงดี อยากเล่นดนตรีแต่ยังไม่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ความจริงแล้วดนตรีกับภาพลักษณ์ภายนอกเป็นคนล่ะเรื่อง ไม่ว่าคุณจะทำดนตรีออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ความเป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
-ความสนุกของดนตรีอยู่ที่การทดลอง ในบางครั้งในการทำงานคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ฉันชอบทำงานกับคนที่มีความคิดที่แตกต่างกัน เพราะอย่างน้อยมันก็น่าจะสนุกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง บางครั้งการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ก็น่าสนใจ เพราะพวกเขาอาจจะมีมุมมองที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ฉันคิด
albums ที่ชอบ
-เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
-Led Zipplin ทุกชุด
-Ofar Haza ทุกชุด
-------------------------------------------------------------------
ความสนุกของการทำหนังสือตอนหนึ่งทีสำคัญก็คือตอนที่จัดรูปเล่มกัน แสดงความคิดเห็นกันตอนวางหน้ากระดาษ จนหนังสือเล่มนี้เกือบจะเสร็จ
เออลืมเล่าไปว่าในเล่มนี้มีคอลัมท์ที่รีวิวบ้านร้างรูปร่างประหลาดๆ ที่ผมเขียนด้วย ฮิโร่เป็นคนถ่ายรูป บ้านหลังนี้อยู่แถวลาดพร้าว
วันหนึ่งจ๋าโทรมาหาผมแล้วบอกว่า ฉบับใหม่นี้คงไม่สามารถออกได้แล้วล่ะจี้
ผมพอจะเดาได้ว่าเป็นเพราะอะไร ทำได้ก็แค่บ่น "เสียดายว่ะ"
เพราะรู้ว่าฮีโร่และจ๋าคนที่ปลุกปล้ำหนังสือเล่มนี้มาด้วยกัน
คงเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และคงอินกับมันมากกว่าผม
หนึ่งปีแล้วมั้งที่ผมไม่ได้เจอจ๋ากับฮิโร่--แบบเห็นกันตัวเป็นๆ
สำหรับจ๋าผมยังเคยคุยกับเธอบ้างทางเอ็มเอสเอ็นนานๆครั้ง ตอนนี้เธอเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ประเทศญี่ปุ่นอยู่ ส่วนฮิโร่ผมเห็นแวบๆ ที่งานสัปดาห์หนังสือ แต่ไม่ทันได้ทักมันก็ดันเดินหายไปซะก่อน :P
ล่าสุดเคยเปิดหนังสือรวมผมงานศิลปะของโน้ต-อุดม แต้พานิช แบบผ่านๆ ก็เห็นชื่อฮิโร่ เป็นคนจัดรูปเล่มหนังสือเล่มนี้
สำหรับเรารู้สึกสนุกนะที่ได้ทำหนังสือเล่มนี้แม้มันจะไม่ได้พิมพ์ก็เถอะ
อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เพื่อนเพิ่มมาอีกสองคน ^_^
เพื่อนที่รัก สิ่งของ (สิ่งหนึ่ง) ที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาอย่างแสนยาวนาน เหมือนๆกัน
ของสิ่งนั้นจะเป็นอะไรอีกได้ ถ้าไม่ใช่ "หนังสือ"
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
- A Primer of Soto Zen : A translation of Dogen's Shobogenzo Zuimonki--Reiho Masunaga
- รัฐประหาร 19 กันยายน : รัฐประหารเพื่อระบอบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
Books read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki
- รัฐประหาร 19 กันยายน : รัฐประหารเพื่อระบอบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
6 comments:
เสียดายเหมือนกันค่ะ
แต่คงไม่เสียดายเท่าพี่จี้ จ๋าและฮิโร่
คนในรูปนั่นหน้าเหมือนเติ้นเลย
คนนั้นน่ะจ๋า ไม่ใช่เติ้ลหรอกนะ พี่อ๋อง :P
วันนี้เราคิดถึงเพื่อนเรา ที่ชื่อจ๋า(จริงๆคิดถึงมานานแล้ว) แต่ไม่รู็รู้ว่าจะโทรไปไหน พอดีวันนี้ว่างๆก็เลยลอง search ดูปรากฎว่าเจอหน้านี้ เจ้าของ บลอ็กก็เขียนได้ดีนายเจ๊งมาก...หากนายยังติดต่อจ๋าได้อยู่ช่วยส่งข่าวมาบอกเราด้วยนะ
ekaraj.graph@gmail.com
thank a lot...เราว่าเราใกล้หาจ๋าเจอแล้วหล่ะ
อยากกินเหล้าด้วยยยยย...
จ๋าเองนะ คิดถึงทุกคนมากๆ
เราคุยกับฮิโร่ครั้งสุดท้ายตอนทำหนังสือเดี่ยวไมโครโฟน 7 ให้พี่โน้ต อุดม
เรายังไม่หมดหวังจากการทำหนังสือหรอก
แต่ประสบการณ์ครั้งที่แล้ว ทำให้เรารู้ว่า "ขายหนังสือเองดีกว่า" ทุนเราหมด แต่สาเหตุไม่ได้มาจากหนังสือขายไม่ได้ สาเหตุมาจากที่สายส่ง กานดาซัฟฟลาย ไม่ยอมจ่ายเงินค่าหนังสือคือเรา เป็นแสนๆ คะพี่น้อง
ไม่เป็นไร เรื่องเก่าๆ ไม่สนใจแล้ว แต่สักวันคงได้พบกันไหม
อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม
ขอบคุณพี่จี้มากๆ ในทุกเรื่อง
จ๋าก็อยากร่วมงานกับพี่อีก ;ว่าจะได้เจอพี่ก็ไม่ได้เจอกันสักทีนะ สักวันค่ะ
itsumo28@hotmail.com
sunbrella.hi5.com
Post a Comment