Friday, February 02, 2007

ความทรงจำเกี่ยวกับป้าย 2 แผ่นในเกียวโต

ที่บ้านเมียวคิอัน 1 แผ่น และอีก 1 แผ่นที่พระราชวังนิโนมารุในปราสาทนิโจ
2007-02-02

-1-
บนรถไฟฟ้า ผมกำลังยืนประคองตัวท่ามกลางความแออัดยัดเยียด ของชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงเทพฯ ด้วยความที่ยืนอยู่ในระยะใกล้มาก ผมจึงได้ยินเสียงสามีภรรยาคู่หนึ่งคุยกัน

"ผมคิดว่าถ้าลูกเราโตอีกหน่อย จะส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำที่ราชบุรี เห็นเพื่อนผมบอกว่าโรงเรียนนี้ดี" ภรรยาตอบกลับไปในขณะที่กำลังอุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังนอนหลับอยู่ "อืมฉันเห็นด้วยนะ เพื่อนฉันก็เคยบอกเหมือนกันว่า ด๊อกเตอร์ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนนี้เขาเก่ง แต่ยังไงก็ต้องให้ลูกเราโตอีกนิดนึงถึงจะส่งไป ตอนนี้ลูกเรายังเล็กอยู่ ยังติดพ่อแม่"

สถานีหน้าคือสถานีอโศก ผมต้องเตรียมตัวลงแล้ว--ออฟฟิศที่ผมทำงานอยู่แถวนี้

เรื่องราวของครอบครัวนี้ สำหรับผมมันกำลังจบลง ผมแค่เดินผ่านเข้ามา แล้วก็กำลังเดินจากไป มันเป็นเสมือนชิ้นส่วนเล็กๆ ของเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบพบเจอ(ในทางกลับกันตัวผมเองก็เป็นเหมือนเหตุการณ์เล็กๆ ที่ครอบครัวนี้ได้พบเจอเช่นกัน) เรื่องราวก่อนหน้านี้ของครอบครัวนี้เป็นยังไงผมไม่รู้ เรื่องราวหลังจากนี้เป็นยังไงผมยิ่งไม่รู้(ในอนาคตพวกเขาจะส่งเด็กผู้หญิงคนนั้นไปโรงเรียนประจำหรือเปล่า?--ผมยิ่งไม่รู้ใหญ่) เราอาจจะเพียงแค่เดินผ่านกันในวันนี้ แล้วก็อาจจะไม่ได้พบกันอีก เมื่อเดินออกจากรถไฟฟ้าไปผมชีวิตผมก็ต้องผมกับเหตุการณ์ใหม่ๆ อื่นๆ ที่กำลังผ่านเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชีวิตเป็นเสมือนภาพ collage ที่ไม่ประติดประติดประต่อ ของเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่อง แยกออกมาเป็นชิ้นๆ คล้ายภาพนามธรรม (Abstract)

ธรรมชาติของประสบการณ์จึงไม่ใช่เรื่องเล่าเชิงเส้น ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง

แต่ประสบการณ์มีโครงสร้างคล้ายกิ่งก้านและรากของต้นไม้

ที่แตกแขนงและสัมพันธ์กัน

บางครั้งต่อเนื่อง

บางครั้งก็ไม่ต่อเนื่อง



-2-
ภาพนักท่องเที่ยวที่ปรากฎอยู่ตรงด้านหน้าปราสาทนิโจ ที่เกียวโต ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของมาร์ค
"ดูจากวิธีการเที่ยวของคุณ ถ้าให้ผมเดาคุณไม่น่าจะใช่ backpacker มืออาชีพ ดูคุณไม่ค่อยใส่ใจในการเที่ยวเท่าไหร่" พอพูดจบเขาก็หัวเราะร่วน

ผมหัวเราะคลอไปกับมุขตลกของเขาแล้วตอบไปว่า "ผมไม่ใช่ Backpacker อย่างที่คุณว่าจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วผมเป็นนักเดินเล่น ที่เดินทางมาเดินเล่นไกลถึงเกียวโต" ถึงตาผมหัวเราะบ้าง

มาร์คเป็นเพื่อนร่วมห้องพักเดียวกันกับผมที่ Higashiyama Youth Hostel ในเกียวโต เดียงของมาร์คอยู่ถัดไปจากเตียงของผม ผมพบมาร์คในคืนที่สาม ที่ผมพักอยู่ที่นี่ มาร์คเดินหอบกระเป๋าใบใหญ่พร้อมข้าวของพะรุงพะรังเข้ามาในห้อง จากการทักทายกัน ทำให้ผมรู้ว่า เขาเป็นคนอเมริกัน และเป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งในอเมริกา(ผมจำไม่ได้แล้ว)

"ผมไม่ได้แปลนแผนการเที่ยวเอาไว้เลย" ผมตอบเขาไปอย่างนั้นเมื่อเขาถามถึงแผนการท่องเที่ยวในเกียวโตของผม

ก็ไม่เชิงว่าไม่ได้วางแผนเอาไว้ เพียงแต่ที่เกียวโตผมไม่ได้วางแผนเอาไว้รัดกุมเหมือนกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของผมทริปนี้ในจังหวัดอื่นๆ--โตเกียว โยโกฮาม่า โตชิกิ เซ็นได คานาซาว่า และสุดท้ายที่โอซาก้า เพราะเกียวโตเป็นจังหวัดสำคัญทีสุดสำหรับผมในการเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งนี้ ผมจึงอยากที่จะรู้สึก 'สบาย สบาย' ในการที่จะทำความรู้จักกับเกียวโต

"นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอนสำหรับการมาเที่ยวที่นี่--เกียวโต" ผมบอกกับตัวเองไว้อย่างนั้น ทันทีที่ผมเดินออกมาจาก Kyoto JR Station แล้วเห็นบรรยากาศของเมืองนี้(เมืองที่ตึกนั้นดูไม่สูงไปจนเกินงาม--แสดงว่าคนที่นี่ไม่ค่อยละโมบ และโลภมากในการใช้พื้นที่) ในเช้าวันแรกที่ผมเดินทางมาถึง เวลาในตอนนั้นน่าจะประมาณ 7 โมงเช้าและอากาศดีมากๆ หลังจากเดินเข้าไปซื้อตั๋ว City Bus แบบใช้ One Day Pass ที่ Information Office ที่อยู่ทางด้านหน้าของสถานีแล้วผมตัดสินใจเดินทางไปที่พัก ด้วยการเดินเท้า เพราะอยากซึมซับบรรยากาศของเมืองเกียวโต(คุณอาจจะสงสัยว่าผมซื้อตั๋วไปทำไมถ้ายังไม่ใช้มัน คือผมคิดเอาไว้ว่าจะใช้หลังจากเดินทางถึงที่พักแล้ว) หรือถ้าพูดให้ดูน่าหมั่นไส้หน่อยก็อาจจะบอกว่า "ผมอยากทำความรู้จักเกียวโตอย่างช้าๆ ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป"

อีกหลายเดือนต่อมาหลังจากนั้น ผมลองใช้โปรแกรม Google earth วัดระยะทางที่ผมเดินเล่นในเช้าวันนั้น ตัวเลขที่ได้คือ 5.4 กิโลเมตร
(เช้านั้นผมใช้เวลาเดินเกือบสามชั่วโมง)

ที่หน้าปราสาทนิโจ ตอนนี้ผู้คนพลุกพล่านไปหมด ไม่ว่าคุณจะพยายาม romanticize ความคิดของคุณ ว่าตัวคุณเองเป็นอะไรแบบไหนก็ตาม-นักท่องเที่ยวผู้มั่งคั่งที่กำลังเดินทางมาพักผ่อนกับครอบครัว, นักวิจัยที่เดินทางมาเก็บข้อมูลเพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสักชิ้นสองชิ้น, Backpacker ที่รักอิสระและออกเดินทางท่องโลกอย่างเสรี, ช่างภาพที่ชอบมองโลกรอบตัวผ่านกล้องถ่ายรูป มากว่าที่จะมองโลกด้วยเนื้อตาของตัวเอง หรือแม้กระทั้งนักเขียนที่กำลังออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยความความเชื่อที่ว่า "การเดินทางเป็นดวงตาของนักเขียน"(ซึ่งคุณก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่านักเขียนคนสำคัญในโลกวรรณกรรมอย่าง Raymound Queneau และ Georges Perec ก็ไม่เคยเดินทางไปไหนไกลกว่ากรุงปารีสที่พวกเขาอยู่) หรือว่าตัวผมเองที่นิยมชมชอบวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา และเดินทางมาเที่ยวไกลถึงญี่ปุ่นคราวนี้ก็เพราะอยากเห็นมัน--สิ่งที่ตระหง่านอยู่ข้างหน้าผมในตอนนี้ ด้วยเนื้อตาของตัวเองสักครั้งในชีวิต(เหตุผลนี้ฟังดูแล้วก็น่าหมั่นไส้ไม่แพ้กัน)

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม ถ้าคุณมาที่ปราสาทนิโจ--ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกียวโต ในช่วงเดือนเมษายน สิ่งที่คุณจะได้พบเป็นอย่างแรกเลยก็คือ "คน คน คน แล้วก็คน"
คลื่นของผู้คนอยู่เต็มด้านหน้าปราสาทนิโจ

ที่นี่คุณจะเห็น Backpacker ยืนต่อแถวกับกรุ๊ปทัวร์ที่มีคนถือธงเดินนำหน้าด้วยบรรยากาศ สมานฉันท์--ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย คลุกเคล้ากันจนกลายเป็นแถวเดียวเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ


-3-
'To visit Myoki-an, Please apply in writing a month in advance, specifying your name, address, telephone number and the date you wish to come.
With your letter please include a reply-paid postcard.(available at post-offices, called "ofuku hagaki"
Admission is 1,000 yen (Pay on the day you visit.)'

ผมยืนอ่านข้อความเหล่านี้วนไปวนมาอยู่หลายครั้ง มันเป็นข้อความภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ ที่อยู่ใต้อักษรภาษาญี่ปุ่นที่เขียนด้วยลายมือขนาดใหญ่บนป้ายประกาศหน้าที่อยู่ด้านหน้าบ้านหลังนี้--เมียวคิอัน ซึ่งในตอนนี้ไม่มีใครอีกเลยนอกจากผม

"น่าเสียดาย" คงจะพูดประโยคอื่นไม่ได้อีกแล้วในเวลานี้ ก็ในเมื่ออุตส่าห์เดินทางออกมาที่ย่านชานเมืองของเกียวโต--โอยามาซากิ เมืองที่อยู่ระหว่างเกียวโตกับโอซาก้า เพื่อมาเยี่ยมชมบ้านหลังนี้

"ผมไม่ได้แปลนแผนการเที่ยวเอาไว้เลย" ผมนึกถึงประโยคเคยที่ตอบมาร์คไปเมื่อคืนแล้วปิดท้ายประโยคนี้ด้วยเสียงหัวเราะร่วน ผิดกันแต่ที่ตอนนี้ผมหัวเราะไม่ออกเสียแล้ว ถ้ามาร์คอยู่ด้วยตอนนี้เขาน่าจะเป็นมนุษย์โลกที่หัวเราะแทนผมได้ดีที่สุด

ผมเดินวนดูรอบบ้านหลังนี้อยู่สักพัก แล้วก็หยิบกล้องออกมาเพื่อถ่ายภาพบ้านหลังนี้จากบริเวณพื้นที่ที่อยู่รอบๆ

แน่นอน
ผมถ่ายภาพป้ายประกาศแผ่นที่ติดอยู่หน้าบ้านแผ่นนั้นมาด้วย




-4-
บริเวณพื้นที่โล่งตรงประตูคาระมัง(Kara-mon) ซึ่งเป็นลานโล่งหน้าพระราชวังนิโนะมารุ ที่อยู่ภายในพื้นที่ของปราสาทนิโจ นักท่องเที่ยวกำลังโพสท่าถ่ายรูปบริเวณหน้าทางเข้า ผมเองก็หยุดยืนบริเวณนี้เพื่อเปลี่ยนฟิลม์ม้วนใหม่ให้เสร็จ ก่อนเดินเข้าไปไปชมภายในภายในพระราชวัง

ภายในพระราชวังเจ้าหน้าที่แจกแผนผังคร่าวๆ ข้อมูลในนั้นบอกว่าพระราชวังแห่งนี้แบ่งออกเป็น 10 จุดที่สำคัญ ซึ่งแบ่งออกตามขนาดของพื้นที่ใช้สอย ที่จัดเอาไว้เป็นห้องอย่างได้สัดส่วน และนักท่องเที่ยวควรเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในแต่ละจุดโดยเคร่งครัด

ความน่าสนใจของพระราชวังนี้ที่ผมสัมผัสได้ในเบื้องแรกเลยก็คือ ยูกุยซึบาริ (Uguisu-Bari) หรือพื้นนกไนติ้งเกล ที่อยู่บริเวณระเบียงทางเดินโดยรอบ ที่ถูกออกแบบมาให้มีเสียงดังตลอดเวลาแม้ว่าคุณจะเหยียบย่ำมันด้วยสัมผัสที่แสนจะแผ่วเบาเพียงไร

ภายในพระราชวังนักท่องเที่ยวต้องเดินเป็นแถวตามเส้นทางที่กำหนดไว้
ระหว่างทางผมพยายามหยุดเดินเพื่อมองภาพเขียนที่ประดับไว้ที่บานเลื่อนโชจิ(ประตูที่ทำด้วยกระดาษ) เพื่อซึมซับความงามของภาพเขียนเหล่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพเขียนของศิลปินที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในสมัยโบราณทั้งสิ้น

แต่ไม่สำเร็จ

เพราะทุกครั้งที่หยุด เพื่อที่จะจดบันทึกอะไรเล็กๆน้อยๆ หรือเพื่อซึมซับเอาความงดงามของภาพเขียนที่ห้องต่างๆ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามจุดต่างๆ จะส่งสัญญาณเป็นอวัจจนะภาษาอย่างสุภาพมาที่ผม--ประมาณว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะคะกรุณาเดินต่อไป ผมไม่ควรหยุด และกรุณาเดินตามแถวให้เรียบร้อย ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนสายพานอะไรสักอย่างที่ถูกบังคับให้ต้องเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

และเช่นเดียวกัน

ตลอดทางบานโชจิทางด้านซ้ายมือของระเบียงที่เชื่อมต่อกับสวนนิโนมารุ ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงสวนหนึ่งของญี่ปุ่น ออกแบบไว้นานกว่า 400 ปีที่แล้ว โดย โกโบริ เอนชู (Kobori Enshu) เลื่อนปิดสนิททุกบานจนเราไม่สามารถเห็นได้เลยว่าภายนอกบานโชจิเหล่านั้นมีสวนที่แสนสวยงามอยู่

ที่บานโชจิมีแผ่นป้ายเขียนเอาไว้ว่า

"Don't open! For the protection of wall painting"

ผมมองที่แผ่นป้ายนี้ แล้วอ่านมันซ้ำอีก





-6-
เมียวคิอัน (Myoki-an) น่าสนใจตรงไหน? ทำไมผมถึงนั่งรถไฟออกจากเมืองเกียวโตเพื่อไปดูบ้านเก่าๆ เล็กๆ หลังนี้

เมียวคิอัน เคยเป็นวัดเซนของสำนักท่านรินไซมากก่อน ก่อสร้างขึ้นในสมัยโมรุมาจิ ซึ่งมีอายุประมาณ 400-700 ปีที่แล้ว ภายในมีเรือนน้ำชาแบบญี่ปุ่น "The Taian teahouse" ที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็น 1 ใน 3ของเรื่อนน้ำชาที่สำคัญที่สุดและมีอายุเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น

รู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชม


ภาพถ่ายบริเวณด้านหน้าของเมียวคิอัน


ป้ายแสดงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับเรือนน้ำชา


-7-
ผมเดินวนรอบพระราชวังเพื่อถ่ายรูปสวนนิโนมารุ พลางแล้วก็คิดอะไรไปพลาง องค์ประกอบของสวนแห่งนี้ประกอบไปด้วยบ่อน้ำบ่อใหญ่ ซึ่งมีเกาะสามเกาะเล็กๆ อยู่ในนั้น



ยิ่งเดินผ่านสวนแล้วมองเข้าไปในพระราชวังที่เพิ่งเดินออกมาก็ยิ่งทำให้รู้สึกเสียดาย เพราะการปิดประตูหมดทุกบานเพื่อป้องกันภาพวาดที่อยู่ภายในทำให้คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นนั้นหายไป
เพราะสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นพื้นที่บริเวณระเบียงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายในเข้ากับพื้นที่ภายนอก ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดที่ถูกกำหนดไว้ด้วยกรอบของสถาปัตยกรรม ทำให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเป็นเสมือนฉาก คนที่เข้าไปรับรู้หรือสัมผัส อยู่ในบริเวณนั้น จะเติมเต็ม ทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของความงามและความหมายต่างๆ ที่แฝงในเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในสวนที่อยู่ภายนอกอาคาร หรือตัวสถาปัตยกรรมจนทำให้มันสามารถเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

-8-
ถ้าต้องเปรียบเทียบความรู้สึก ระหว่างการไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้านเมียวคิอัน กับการเข้ามาในปราสาทนิโจที่อยู่ในสภาพแบบนี้-เต็มไปด้วย นักท่องเที่ยว เดินอยู่ในอาคารแบบ Non-stop ปิดประตูทุกบ้านที่เชื่อมต่อกับสวนที่อยู่ภายนอก เพื่อป้องกันภาพเขียนที่อยู่ภายใน สำหรับผมประสบการณ์อย่างหลังทำให้ผมรู้สึกแย่กว่า

คนญี่ปุ่นรับเอาด้านดีและด้านร้ายของธรรมชาติมาไว้เป็นสมบัติของตัวเองเสมอ บ้านญี่ปุ่นกรุด้วยกระดาษบนโครงไม้ซึ่งทำให้ไม่สามารถป้องกันความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติได้ แต่ในขณะเดียวกันโครงสร้างกระดาษก็ก่อให้เกิดแสงนวลสลัวที่แสนงดงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนทัศนะคติในเรื่องการยอมรับด้านทั้งสองด้าน และยอมรับในการย่อยสลายเปลี่ยนแปลงไปของสรรพสิ่งต่างๆ เมื่อถึงเวลา

สำหรับผมไม่ว่ายังไง อีกไม่กี่วันผมก็คงต้องกลับกรุงเทพฯเรื่องราวของที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น สำหรับผมมันกำลังจบลง ผมแค่เดินผ่านเข้ามา แล้วก็กำลังเดินจากไป มันเป็นเสมือนชิ้นส่วนเล็กๆ ของเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบพบเจอ ผมอาจจะเพียงแค่เดินทางผ่านมาที่นี่ในวันนี้ แล้วก็อาจจะไม่ได้หวนกลับมาอีก เมื่อเดินออกจากสถานที่นี้ไปชีวิตผมก็ต้องผมกับเหตุการณ์ใหม่ๆ อื่นๆ ที่กำลังผ่านเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชีวิตเป็นเสมือนภาพ collage ที่ไม่ประติดประติดประต่อ ของเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่อง แยกออกมาเป็นชิ้นๆ คล้ายภาพนามธรรม (Abstract)

ธรรมชาติของประสบการณ์จึงไม่ใช่เรื่องเล่าเชิงเส้น ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง

แต่ประสบการณ์มีโครงสร้างคล้ายกิ่งก้านและรากของต้นไม้

ที่แตกแขนงและสัมพันธ์กัน

บางครั้งต่อเนื่อง

บางครั้งก็ไม่ต่อเนื่อง


ขอบคุณ
พี่หนุ่ม--โตมร ศุขปรีชา
พ่ง--ภาวนา แก้วแสงธรรม

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki

7 comments:

Anonymous said...

ไม่ว่าเราจะ romanticize การเดินทางให้ดีเลิศ
อย่างไรก็ตาม ความจริงของการเดินทางก็ปรากฏตัวอยู่เสมอเมื่อเราได้ก้าวออกจากบ้าน

และนั่นน่าจะเป็นข้อดีของการเดินทาง มันทำให้เรารู้สึกว่า บางทีเราก็ทำอะไรไม่ได้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในการเดินทาง-และมันทำให้เราตื่นเต้น- เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไป

อ่านที่จี้พูดถึงสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแล้วพี่คิดถึงหนังสือเล่มนี้ "เยินเงาสลัว" ของจุนนิจิโร ทานิซากิน่ะ จี้เคยอ่านไหม ?

Anonymous said...

การเดินทางของคนเรามันเป็นจุดๆ
ที่ไม่มีจุดหมายจริงๆ

อยากเดินเล่นให้ไปไกลถึงเกียวโตบ้างจังค่ะ
^O^

wichiter said...

"เยิรเงาสลัว"
เคยอ่านสมัยเรียนครับพี่แป๊ด ^_^
อาจารย์ที่สนิทกันท่านหนึ่งเคยแนะนำให้อ่าน
อ่านจบแล้วก็รู้สึก "ชอบมากๆ" เลยครับ

Anonymous said...

แสดงว่าจี้อ่านฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 นะเนี่ยะ ถ้าเขียน "เยิร"
ฉบับแปลพิมพ์ครั้งแรก อาจารย์สุวรรณาคนแปลตั้งใช้คำว่า "เยิน" พี่เคยคุยกับอาจารย์ แกอยากใช้คำว่า เยิน เพื่อเลียนเสียงภาษาญี่ปุ่น และคำว่าเยินนี่เคยมีใช้ ในลิลิตพระลอ ซึ่งแปลว่า เยิรยอ เหมือนกัน

แต่ราชบัณฑิต ท่านมาบัญญัติศัพท์ ให้ว่า ถ้าเยินยอ ต้องเขียน ว่า "เยิร" พิมพ์ครั้งที่ 2 เลยต้องใช้คำนี้
( คำว่าเยิน นี่คงมีนัยยะของ ยับเยิน ติดอยู่ด้วยน่ะ )

ปกครั้งแรก สวยมากจี้ (ถึงแม้นจะดูเป็นหนังสือวิชาการไปนิด-พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์) เป็นสีเทา-ดำ ให้อารมณ์ เงาสลัว ๆ

wichiter said...

ใช่จริงๆ ครับพี่
ฉบับที่ผมเคยอ่านเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ^_^

ที่หน้าปก เป็นรูปกระจกวางอยู่บนชั้นวางของ
แล้วมีเงาทาบลงมาที่ผนัง

แล้วมีตัวหน้งสือเขียนเอาไว้ตรงกลางว่า
"ข้าพเจ้าขอเรียกร้องเอาโลกแห่งความสลัวที่เรากำลังจะสูญเสียไปกลับคืนมา"

พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทานตะวันครับ

the aesthetics of loneliness said...

พี่ค่อนข้างรู้สึกแปลกแยกกับ "การท่องเที่ยว" เหมือนกัน หลายครั้งที่ไปเที่ยวกลับมา แล้วต้องเขียนบทความส่ง ก็มักจะมีน้ำเสียงที่เย้ยหยัน หรือตั้งคำถามกับ "การท่องเที่ยว" แบบนี้ พี่ว่าสมัยนี้เราไปเที่ยว เพียงเพราะต้องการแค่ไปให้ถึงสถานที่ ถ่ายรูป แล้วพยายามเก็บความทรงจำนั้นกลับมา เพื่อที่จะได้บอกใครว่าเราไปถึงที่นั่นมาแล้ว หรือเอามาเขียนบทความท่องเที่ยว เล่าโน่นเล่านี่ ซึ่งพี่รู้สึกว่ามันไร้สาระสิ้นดี

พี่ว่าพี่ชอบเที่ยว มนุษย์ทุกคนคงชอบเที่ยว แต่เมื่อโลกทั้งใบและคนส่วนใหญ่ในโลก ทำให้การท่องเที่ยวมีสภาพเป็นแบบนี้ พี่เลยค่อนข้างเซ็ง และพี่เองก็นึกถึงการท่องเที่ยวแบบอื่นไม่ออกแล้วเหมือนกัน

เมื่อวานดูรายการทีวี ขำกลิ้งลิงกับหมา ไม่รู้จี้เคยดูหรือเปล่า แต่ละตอนมันจะให้ลิงกับหมาออกเดินทางไปทำภารกิจอะไรสักอย่าง พี่ว่าการเดินทางของลิงกับหมานั้นน่าสนใจกว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวเสียอีก ลิงกับหมาเหมือนกับว่ามันความจำสั้นและไม่สามารถคิดอะไรแบบยาวๆ ดังนั้นการเดินทางของมันจึงเป็นห้วงๆ สั้นๆ เดินไปสักพักก็ลืมหมดแล้ว ว่านี่พวกมันกำลังจะเดินไปไหน ไปทำอะไร แล้วก็หยุดเล่น เถลไถลไปตลอดทาง พวกมันคงไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่ดีเท่าไร พวกมันคงไม่สามารถเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่ตกผลึกอบอุ่นลงตัวเป็นแน่

Anonymous said...

แหะๆ ผ่านมาเจอblogนี้โดยบังเอิญน่ะค่ะ
นี่บทความตั้งแต่ปีก่อนละนะคะ
..แต่ว่า พึ่งกลับจากญี่ปุ่นเหมือนกันค่ะ
ไปคนเดียว เหนื่อยมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก เหนื่อยแบบไม่รู้จะบรรยายยังงัย
เจอทั้งด้านมืดและสว่าง ไปแบบรันทด+ถูกๆ
แต่ก็กลับได้ประสบการณ์อะไรมากมาย จริงๆ

ดีใจเหมือนกันที่ตัดสินใจไป แบบไม่ต้องมานั่งรอใคร


จิจิจิจิจิจิจิจิจิ
25.07.2008