Wednesday, August 08, 2007

Mies

2007-08-08


"Less is More"
Mies Van Der Rohe


เมื่อพูดถึงประโยคด้านบน ใครๆ ก็นึกถึงลุงมีส ฟาน เดอร์ โรฮ์ (Mies Van Der Rohe) ถึงแม้ลุงแกจะบอกกี่ครั้งแล้วก็ตามว่าลุงไม่ได้เป็นคนพูดประโยคนี้เป็นคนแรก (ลุงจำขี้ปากเขามาพูดอีกที) แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ยังไม่มีใครฟัง พยายามยัดประโยคนี้เข้าไปในปากลุงให้ได้ ตามภาษาคนเขียนหนังสือที่อยากได้วรรคทองจากปากของคนอื่น แต่ในกรณีของลุงมีสนั้นเลยเถิดไปกว่านั้น(สำหรับที่เมืองไทยนั้น มีกลุ่มคนที่มีชื่ออาชีพที่น่าหมั่นไส้ที่สุด--Creative อุตส่าห์ดัดแปลงวรรคทองนี้ไปใช้จนได้ เปลี่ยนนิดหน่อย จาก Less เป็น Life กลายเป็น "Life is More" เอาไปโฆษณารถกระบะซะงั้น แหมช่างสร้างสรรค์สมชื่ออาชีพ เจงๆ)

ถ้าเทียบกับมาสเตอร์ทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นทั้งหมดแล้ว ลุงมีสเขียนหนังสือป่าวประกาศอุดมการณ์ของตัวเอง(manifesto) น้อยจนน่าใจหาย ผิดวิสัยของพวกมาสเตอร์ทั้งหลาย อย่างมากก็แค่เขียน course syllabus เอาไว้แจกนักศึกษา ที่บาวเฮ้าส์ กับที่ ไอไอที (ประโยคข้างหน้าเวอร์ไปนิด ความจริงมีสมีงานเขียนเล็กน้อยในหนังสือ G magazine เฮอๆ ^_^)

มีคนเห็นงานเรียบๆ น้อยๆ ของลุงมีสแล้วนึกสนุกกับความรู้สึกของตัวเอง คิดว่างานที่ลุงออกแบบนั้นมีอารมณ์บางอย่างคล้ายๆ กับสถาปัตยกรรมโบราณของญี่ปุ่น แค่สนุกในหัวสมองตัวเองไม่พอ ยังอุตส่าห์ เอาไอเดียนี้ไปถามลุงมีส ให้ลุงมีสได้ร่วมสนุกด้วย คำตอบที่ได้จากปากลุงก็คือ " ลุงไม่เคยไปญี่ปุ่น ลุงไม่เคยเห็นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ลุงทำงานของลุงด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจจะเป็นไปได้นะที่คนญี่ปุ่นอาจจะทำงานด้วยเหตุผลเดียวกันกับลุง" แล้วลุงก็ตบท้ายคำตอบนี้ด้วยคำพูดว่า "บางทีสิ่งดีๆ ก็อาจะเหมือนกันได้"

ตามภาษาคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ลุงเคยแนะนำลูกศิษย์เอาไว้ว่า เราควรเลือกงานและรับเฉพาะงานที่คิดว่าเราสามารถทำมันออกมาได้ดี (ในที่นี้อาจหมายความกว้างๆ รวมไปถึงการทำในสิ่งที่ทำแล้วไม่สูญเสียความรู้สึกนับถือตัวเอง) ลุงยังแนะนำต่ออีกว่าถ้าปีไหนไม่มีงานให้ทำ(ซึ่งตรงนี้ลุงอาจจะเล็งเห็นว่า สถาณการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ สาเหตุก็อาจจะเนื่องมาจากการเลือกงาน ^_^) ก็ให้ตั้งโจทย์สำหรับฝึกตัวเองให้ใช้ความคิดอย่างน้อย ก็ให้ลองทำงานออกแบบเองแบบที่ไม่มีใครจ้างสักชิ้นสองชิ้น ต่อหนึ่งปี

ก็คงจะถูกอย่างที่ลุงมีสแกพูดนั่นแหละ เพราะงานที่แกคิดตอนว่างๆ ที่ไม่มีใครจ้างนั่นแหละตอนหลัง กลายเป็นนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมของศตวรรษที่ 20 เลยเชียว

เห็นอย่างนี้ จะว่าไปลุงแกมีชื่อเสียงพอตัว ก่อนที่จะลี้ภัยมาสอนหนังสืออยู่ที่ไอไอที(เป็นคณบดี คณะสถาปัตย์ รวมถึงเป็นร่วมบุกเบิกสถาบันแห่งนี้) ในอเมริกา ลุงแกคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนบาวฮาวส์ มีช่วงหนึ่งบรรณาธิการนิตยสารออกแบบและตกแต่งชื่อดัง ได้เชิญ คณบดีจากสถาบันต่างๆ มาเขียนบทความแสดงวิสัยทัศน์ในด้านการออกแบบ ของแต่ละสถาบัน

ลุงมีสอีกนั่นแหละที่ บรรณาธิการนิตสารเล่มนั้น(รวมถึง แฟรง รอย ไรท์ สถาปนิกชื่อดังที่ผมเองไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่)กระแนะกระแหนว่า แสดงวิสัยทัศน์ได้ธรรมดาที่สุดในบรรดาเหล่าคณะบดีทั้งหลาย
อยากรู้ไหมว่าลุงแกเขียนว่าอะไร

ลุงแกเขียนในนิตยสารเล่มนั้นเอาไว้ว่า "ปีแรกๆ เราก็ให้นักศึกษาของเราทำความรู้จักกับไม้ก่อน พอเริ่มรู้จักไม้ดีแล้วในปีที่สูงขึ้นไปเรื่่อยๆ เราก็ให้ทำความรู้จักกับ กระจก และ เหล็ก ต่อไป" (โชคยังดีที่ลุงแกใช้ชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าลุงมีชีวิตอยู่ตอนนี้และพูดอะไรแบบนี้ อาจจะถูกพวกนักวิชาการหัวโพสโมเดิร์นทั้งหลายรุมเหยียดหยาม-ที่จริงแล้วตอนนี้ก็โดนรุมอยู่นะ เฮอ)

"Form Follow Function"-รูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย คือคำใหญ่ของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ซึ่งความจริงแล้วจะว่าไปลุงมีสเองก็ไม่ได้สนใจแนวคิดนี้ซะทีเดียว(สิ่งนี้อาจจะหมายความว่าได้ว่าลุงแกไม่ได้เป็นโมเดิร์นนิสท์หรือเปล่า? ) สำหรับลุงแล้ว Form--รูปทรง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ จนเราต้องประดิษฐ์ประดอยให้ความสำคัญ และประโยชน์ใช้สอยก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้อง follow มันแบบสุดโต่ง แบบที่ต้องเลือกเอาด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับลุงแล้วสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ถ้าใช้ไม้ในการก่อสร้าง ไม้ควรแสดงความเป็นไม้ออกมาอย่างเปิดเผย แสดงให้เราเห็นทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดของมัน เหล็กควรแสดงความเป็นเหล็ก ทุกสิ่ง ทุกวัสดุต้องมารวมกัน และประสานสัมพันธ์กัน มากว่าจะคิดว่าจะต้องมีสิ่งใดที่ dominate สิ่งอื่นๆอยู่ สิ่งที่เห็นด้วยตาทำงานประสานกันกับสิ่งที่ "ไม่เห็น" แต่ว่า "เห็น" เพราะถูกสิ่งที่ตาเห็นล้อมกรอบ(ซึ่งในที่นี้เราอาจจะเรียกมันกว้างๆว่า ที่ว่าง-space)



ถึงตรงนี้ถ้าใครยังไม่เคยเห็นหน้าลุงมีสด้านบนคือรูปของลุง หลายคนเห็นหน้าลุงแล้วอาจจะผิดหวัง ว่านี่หรือที่เป็นสถาปนิกคนสำคัญ หน้าตาไม่ส่อแววของความเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์อยู่เลย คล้ายๆ นักธุรกิจแก่ๆ คนหนึ่งมากกว่า (แสดงว่าคนเราไม่ควรมองกันแต่เพียงภายนอก อุ๊ย นี่เราเขียนอะไรเชยๆ ออกไปเนี่ย ^_^) ถึงตรงนี้หลายคนอาจอยากจะรู้ว่า ไลฟท์สไตล์ของลุงเป็นยังๆไง วันๆ ลุงทำอะไรบ้าง? (ไปแฮงค์เอ้าท์ที่ไหน ที่ฮิบๆ เก๋ๆ หรือเปล่า?)

โดยปรกติลุงมีสจะตืนนอนตอน สิบเอ็ดโมง เปิดเพลงคลาสสิค ทำธุระส่วนตัว อ่านหนังสือ จิบไวน์ ไปตามเรื่องตามราว พอบ่ายคล้อยใกล้เย็น ลุงแกก็จัดแจงแต่งตัวเนี้ยบใส่สูทที่ตัดเย็บอย่างดีโดยเพื่อนแกที่เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดัง(นึกชื่อไม่ออก และขี้เกียจไปค้นในหนังสือว่าชื่ออะไร) ลุงแกแต่งตัวเนี้ยบมากๆ(เหมือนกับงานที่แกออกแบบ) เดินจากบ้านไปออฟฟิศเพื่อตรวจงานลูกน้อง นั่งคอมเม้นงาน จนถึงเย็น จากนั้นก็เอางานกลับมาคิดต่อที่บ้าน เวลาหัวค่ำถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งคือเวลาที่ลุงแกนั่งทำงานจริงๆ จังๆ ที่ทำงานช่วงนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าลุงแกคงหลงรัก ความเงียบของตอนกลางคืนกระมัง

หมดไปอีกวัน หนึ่งวันเบาๆ ของลุงมีสก็คงมีแค่นี้

ผมรู้จักลุงมีสครั้งแรกสมัยที่เรียนอยู่ชั้นปอสี่ ช่วงปิดเทอมหน้าร้อนคุณครูให้การบ้านให้ทำรายงานเรื่องบุคคลสำคัญของโลกความยาวสิบหน้ากระดาษฟูลแก๊บ(คิดถึงกระดาษแบบนี้เหมือนกันเดี๋ยวนี้คงไม่มีขายแล้ว ^_^) ปรึกษาแม่ว่าทำไงดี แม่ก็เลยถามพี่ที่อยู่ข้างบ้านว่าทำยังไง พี่แกบอกว่าลองไปหอสมุดแห่งชาติดูดิ อยากไปเปล่าเดี๋ยวพี่พาไป(ตอนนั้นพี่คนนี้แกเรียนอักษรอยู่แกชื่อพี่นุช) ผมจึงรู้จักลุงมีสพร้อมๆกับที่รู้จักหอสมุดแห่งชาติ

ลุงมีสคือ บุคคลสำคัญของโลก คนนั้นที่ผมเขียนลงไปในกระดาษฟูลแก๊บส่งอาจารย์เป็นการบ้าน อย่าถามว่าทำไมถึงเลือกลุงมีส เพราะจำไม่ได้จริงๆ(ประมาณว่าเลือกมามั่วๆ ไม่ได้คิดอะไร :P ) รู้แต่ว่าบอกพี่นุชว่าอยากทำเกี่ยวกับศิลปะ พี่แกก็เลยพาไปในห้องนั้น(ห้องที่อยู่ซ้ายมือชั้นล่าง) ก็เลยได้หนังสือที่เกี่ยวกับลุงมา

วันเปิดเทอมปรากฏว่า หัวข้อรายงานหลากหลายมาก บ้างก็ทำ เรื่องกาลิเลโอ บ้างก็ทำเอดิสัน บ้างก็ทำเรื่องนิวตัน บางก็ทำเรื่องพระพุทธเจ้า ส่วนผมทำเรื่อง มีส ฟาน เดอร์ โรฮ์ และทุกครั้งที่ตอบเพื่อนไปว่าทำรายงานเรื่องอะไร เพื่อนก็จะถามกลับทันทีว่า "ใครว่ะ มีสอะไรนะเมื่อกี้?"

โตขึ้นมาหน่อย(ความจริงต้องใช้คำว่าโตขึ้นมาอีกเยอะ) ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ อาจารย์ฉายสไลด์ให้ดู พอเห็นหน้าลุงผมก็จำได้ทันทีว่า ลุงคนนั้นเมื่อครั้งตอนเด็กนั่นเอง ยังหันไปโม้กับเพื่อนที่นั่งเรียนอยู่ข้างๆเลยว่า "มีสเนี่ยกูรู้จักตั้งแต่เด็กๆแล้ว กูเคยทำรายงาน" เพื่อนหันมาแล้วบอกว่า "มึงอย่างมาโม้หน่อยเลย" ^_^

ผมชอบงานที่ลุงแกออกแบบมากๆ (ที่เสียเวลาเขียนอยู่เนี่ยก็เพราะปลื้มแกอ่ะนะ) ชอบเพราะว่ามันดูเรียบๆ สวยๆ แล้วก็ดูสบายตา ถ้าเป็นงานกราฟฟิก ก็อาจจะพูดได้ว่างานแก grid ดีแล้วก็ spacing สวย

ตอนเรียนหนังสือตอนที่อยู่ชั้นโตขึ้นมาหน่อยถึงรู้ว่าพวกแนวคิดโพสโมเดิร์นทั้งหลาย เล่นแกซะยับ พวกที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมันต้องสื่อสารความหมาย ก็บอกว่างานแกไม่สื่อสาร ไม่ซับซ้อน ไม่สะท้อนความหมายเชิงวัฒนธรรม และมีความคิดที่ช่างเป็นเผด็จการ อ่านไปก็ผงกหัวตามไปนิดหน่อยตามแต่ Logic จะพาไป แต่จนแล้วจนรอด ขณะที่สมองพาลจะเห็นด้วยกับที่พวกโพสโมเดิร์นเขียน แต่ลึกๆแล้ว ก็ยังชื่อสิ่งที่ตาเห็นและรู้สึกว่างานลุงมีอะไรดีอยู่ข้างใน

บางทีเราก็รู้สึกรำคาญ ในการเป็นมนุษย์ช่างต่อปากต่อคำแบบพวกโพสโมเดิร์น การเป็นมาสเตอร์แบบลุงมีก็ไม่เห็นเสียหายอะไรเลย(นี่หว่า)?

ทุกวันนี้หากต้องเลือกอยู่ใกล้ มุนษย์ที่ intellectual เสียเหลือเกิน กับ มนุษย์ที่มี intuition แบบบลุงมีส บอกตามตรงว่ารู้สึกดีกับมนุษย์แบบหลังมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่ง--ตอนเรียนอยู่ปีสามบังเอิญได้มีโอกาสไปฝึกงานอยู่ที่ออฟฟิศเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่บังเอิญเช่าบ้านหลังเล็กๆ ของอาจารย์ปู่--เรืองศักดิ์ กันตะบุตร เป็นออฟฟิศ อาจารย์ปู่แกเป็นลูกศิษย์ ของลุงมีส (เอ๊ะถ้าเรียกลูกศิษย์ว่าปู่ แล้วทำไมถึงเรียกมีสว่าลุง? เลยตามเลยละกัน ^_^) ทุกวันอาจารย์ปู่จะเดินเข้ามาเยี่ยมเยียนที่บ้าน แล้วก็ชวนคุยตามภาษาผู้ใหญ่ใจดี แกเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยสงครามโลก แกเคยอยู่ฝ่ายออกแบบแล้วต้องออกแบบรถถัง ชีวิตช่วงสงครามช่างแสนลำบากยากเข็น แกยังเล่าให้ฟังตามภาษาสถาปนิก ว่าบ้านหลังที่แกอยู่นั้นแกคิดโครงสร้างใหม่ที่ทำให้ไม่ต้องตอกเสาเข็ม ทุกคนที่อยู่ในวงสนทนาตอนนั้นถามแกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ทำไม"

"สงสารมดกับไส้เดือนที่อยู่แถวนั้น ไม่อยากทำอะไรรบกวนมัน" อาจารย์ปู่ลูกศิษย์ลุงมีสแกตอบแบบนั้น

เคยอ่านเจอไฮกุบทหนึ่ง ที่เขียนโดย มัสซึโอะ บาโช(Matsuo Basho) กวีชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเอโดะ(ศตวรรษที่ 17)--คนนี้ก็คนโปรดของเรา ถ้ามีโอกาสอาจจะเขียนถึงใน blog นี้ ^_^

บาโชเขียนเอาไว้ว่า

By a little kitten--ลูกแมวเล็กๆ
Sniffed at,--เอาจมูกมาสูด
Creeps the slug unconcerned.--คนที่เกียจคร้านก็กระเถิบตัวหนี

ดี ที สึซึกิ (D. T. Suzuki) เคยเขียนถึงไฮกุบทนี้ในหนังสือ Zen and Japanese Culture ของเขาเอาไว้ว่า "a bit of human playfulness and sweetness"

ไฮกุบทนี้ทำให้ผมนึกถึงลุงมีส และข้อความที่ลุงแกเคยเขียน และท่าทีในการใช้ชีวิตของแก

"ปีแรกๆ เราก็ให้นักศึกษาของเราทำความรู้จักกับไม้ก่อน พอเริ่มรู้จักไม้ดีแล้ว
ในปีที่สูงขึ้นไป เราก็ให้ทำความรู้จักกับ กระจก และ เหล็ก ต่อไป"

สำหรับผมแล้วที่ลุงแกเขียนน่ะ--เขียนได้ขี้เล่นและอ่อนหวานไม่แพ้บาโช

ก็คงเหมือนอย่างที่ลุงแกบอก

และผมคงจะไม่ได้คิดไปเอง

"บางทีสิ่งดี อาจะเหมือนกันได้"



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Business Week(ไทยแลนด์)--สิงหาคม 2550

1 comment:

the aesthetics of loneliness said...

จี้น่าจะได้เขียนคอลัมน์ประจำอยู่ในนิตยสารบ้านสักเล่มหว่ะ

ควรเอาบทความพวกนี้สัก 3-4 ตอน ส่งไปให้เขาพิจารณานะ

สมัย 8 ปีที่แล้ว พี่เริ่มเขียนคอลัมน์ให้ผู้จัดการรายวัน ยังเขียนไม่ได้แบบนี้

พูดจริงๆ