Tuesday, August 28, 2007

Hiroshi Naito/ 内藤廣

2007-08-28


"Real information can only be gaind on foot."



-ทำไมคุณถึงตัดสินใจไปสอนที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว
ผมเดาว่าคุณจะต้องบอกว่าผมคงเหนื่อยหน่ายกับการที่เอาสถาปัตยกรรมเป็นศูนย์กลางของชีวิต ความจริงแล้วอยากจะบอกว่า ผมปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้จากด้านนอกมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในของโลกวิศวกรรมโยธา ดูเหมือนว่ามันเป็นความรู้สึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเคลือบแคลงในการก้าวไปข้างหน้าของสถาปนิก และขณะที่สอนอยู่ที่นี่ ผมปฏิบัติราวกับว่ามันเป็นเรื่องที่น่าพินิจพิเคราะห์

-อะไรคือความรู้สึกที่คุณมีต่อสถาปนิกรุ่นหนุ่มสาวและนักศึกษาสถาปัตย์ในวันนี้
พวกเขาขี้ขลาด และน้อยกว่านั้นชอบสัญญาด้วยความกล้าหาญ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น สถาปัตยกรรม เมือง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคม ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกกังวลใจ ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือพวกเขาควรตระหนักถึงชีวิตข้างหน้าที่คนแก่ๆ มีเวลาไม่มากนักที่จะก้าวข้ามมันไป ในช่วงเวลาที่สับสนอลหม่านเช่นนี้ คนหนุ่มสาวควรแสดงความคิดเห็นที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ผมคิดว่าเราควรจะต้องไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เราพูด ด้วยเวลาของชีวิตที่ยังมีอยู่มากมาย พวกเขาควรกระตุ้นความรู้สึกสนใจและตระหนักในเรื่องของเมืองและบ้านเกิดของพวกเขาบ้าง

-มีความแตกต่างกันไหมระหว่างนักศึกษาสถาปัตย์กับนักศึกษาวิศวกรรมโยธา
พูดตรงๆ เลยก็คือ นักศึกษาวิศวะฯ นั้นดูเอาจริงเอาจัง ส่วน นักศึกษาสถาปัตย์นั้นก็มีความมั่นใจสูง โดยรากฐานแล้ววิศวกรรมโยธานั้นเป็นศาสตร์ว่าด้วยการขบคิดและค้นหาผลลัพท์ของบุคคลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นั่นคือแนวโน้มของการทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยปราศจากการป่าวประกาศ ในสถาปัตยกรรมถึงแม้ว่าข้อจำกัดจะอยู่ที่มุมมองในเรื่องของการออกแบบ มาตรฐานของมันอยู่ที่การค้นหาผลลัพท์ของแต่ละบุคคลเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่ได้วางเอาไว้

-อะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่าควรทำในความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธา
สถาปัตยกรรมนั้นสูญเสียแนวความคิดในเรื่องของตัวตนในขณะที่วิศวกรรมโยธานั้นสูญเสียความรู้สึกในเรื่องของการสื่อความหมายกับสาธารณะ ผมชอบที่เปิดเผยและถ่ายเทลักษณะของทั้งสองศาสตร์นี้ในการทำงาน โดยการนำสิ่งดีของอีกศาสตร์หนึ่งมาใช้กับอีกศาสตร์หนึ่ง แม้ว่าการถ่ายเทที่ว่านี้จะเป็นองค์ประกอบที่เลวด้วยเหตุที่มันยากต่อการทำนาย แต่ผมก็มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ต่อไปโดยการนำส่วนที่ดีในสถาปัตยกรรมไปสู่งานวิศวกรรมโยธา และนำส่วนที่ดีของวิศวกรรมโยธามาสู่งานสถาปัตยกรรม

-นานมาแล้วมีคนเคยบอกว่าการเดินทางท่องเที่ยวมีความสำคัญมากสำหรับการเป็นสถาปนิก สำหรับคุณไนโตะแล้วในยุคสมัยสังคมข้อมูลข่าวสาร(Information society) เหมือนเช่นในตอนนี้ การเดินทางท่องเที่ยวยังคงความสำคัญเหมือนเดิมไหม?
โดยธรรมชาติแล้ว ข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสารนั้นมีข้อจำกัดมันเป็นแค่เพียงชนิดอีกชนิดหนึ่งของข้อมูลทั้งหมด สำหรับผมแล้ว ข้อมูลจริง(Real Information) นั้นสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินด้วยเท้าของเราเท่านั้น ไม่เหมือนข้อมูลที่ได้มาทางโครงข่ายที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงมันได้ สำหรับผมข้อมูลคือสิ่งที่เราได้จากการเดินด้วยเท้าและมันมาพร้อมกับความรู้สึกสะทบสะท้านทางจิตใจที่เรามีต่อรูปทรงซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของอัตลักษณ์ของสิ่งนั้นๆ วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ก็คือถ้ามีบางสิ่งบางอย่างกระทบกระเทือนความรู้สึกคุณที่พบในหน้านิตยสาร ให้ไปที่สถานที่แห่งนั้นแล้วดูมัน ถ้าคุณได้ยินว่ามีใครบางคนซึ่งน่าสนใจให้เดินทางไปพบเขาหรือถ้ามีบางสิ่งที่คุณไม่เข้าใจให้เอ่ยปากถาม อย่าให้ความสงสัยของคุณถูกเติมเต็มด้วยความรู้สึกพอใจที่คุณได้จากกระแสของข้อมูล(flood of information) ที่คุณได้รับเพียงอย่างเดียว ถ้าเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน กระทบกระเทือนความรู้สึกคุณให้ไปที่นั่นแล้วดูมัน (อ่านตรงนี้จบนี่แทบอยากจะเดินออกจากบ้านไปซื้อตั๋วเครื่องบินไปโตเกียวแล้วไปคุยกับคุณไนโตะเลย ^_^ ถ้าทำตามคำแนะนำของไนโตะชีวิตนี้เราคงมีข้อมูลในตัวไม่มากหรอก แต่ข้อมูลทั้งหมดนั้นน่าเป็นข้อมูลที่เรารู้สึกรู้สากับมันจริงๆ-ผู้แปล)

ที่ไหนคือฉากแรกเริ่ม(primal Scene)ที่มันยังคงอยู่ในความทรงจำของคุณ
น่าจะเป็นบ้านที่ผมเคยอยู่ตอนที่อายุห้าขวบ ที่เป็นแมนชั่นที่อยู่บนที่ดินประมาณ 5,600 ตารางเมตร แถวๆ โฮโดกายา ในจังหวัดโยโกฮามา มันมีทางเดินที่มืดและยาวที่ทำให้ผมนั้นขวัญผวา ที่นั่นยังมีแสงระยิบระยับที่สะท้อนจากสระน้ำบนฝ้าเพดานในห้องกินข้าวนั่นคือทั้งหมดที่ผมจำได้

(ยังไม่จบนะ ^_^ ดูรูปผลงานของไนโตะไปพลางๆก่อน)










Azumino Chihiro Art Museum ที่เมืองอะโซมิโนะ จังหวัดนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น
ออกแบบโดยไนโตะ ที่ดูเรียบง่าย บ้านๆ และมีความงดงามในเชิงช่าง ^_^
http://www.chihiro.jp/english/azumino/top.htm

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Books read:
-Network Practices:New strategies in Architecture and Design--Anthony Burke and Therese Tierney, editors
-ความเงียบ(The Spirit of Silence)--John Lane แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์

Sunday, August 26, 2007

โลกของธีร์

2007-08-26



ผมชอบวิธีการร้องเพลงของธีร์ ไชยเดช
เพลงของธีร์ นั้นดูเชื่องช้าหนืดเนือยกว่าโลกของความเป็นจริงอยู่หนึ่งจังหวะเสมอ
(นี่อาจจะเป็นสุนทรียศาสตร์ในแบบของเขา)
เพลงของธีร์อาจจะทำให้คุณรู้สึกอยากหายใจให้ช้าลง
ถ้าคุณกำลังวิ่งมันอาจจะทำให้คุณรู้สึกอยากเดิน
ถ้ากำลังขับรถอยู่ มันอาจจะทำให้คุณรู้สึกว่า โอ้ยตอนนี้แค่ปั่นจักรยานก็พอ

ไม่มีอะไรหรอก
แค่อยากบอกว่า
เช้าวันนี้เพลงของธีร์
ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว กลายเป็นภาพสโลว์โมชั่นไปชั่วขณะ ^_^

ปล-ช่วงนี้ที่อัพเพลงบ่อย ก็เพราะว่าเพิ่งทำเป็นแล้วก็กำลังเห่ออ่ะ ร้อนวิชาๆ



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-The Narrow Road to Oku--Matsuo Basho(Translated by Donald Keene)

Thursday, August 23, 2007

แค่คนหลงทาง

Lost Highway
2007-08-23


Oh, the day we met, I went astray,
I started rollin' down that lost highway.





I'm a rolling stone, all alone and lost,
For a life of sin, I have paid the cost.
When I pass by, all the people say
"Just another guy on the lost highway."

Just a deck of cards and a jug of wine
And a woman's lies make a life like mine.
Oh, the day we met, I went astray,
I started rollin' down that lost highway.



I was just a lad, nearly twenty-two,
Neither good nor bad, just a kid like you,
And now I'm lost, too late to pray,
Lord, I've paid the cost on the lost highway.

Now, boys, don't start your ramblin' round,
On this road of sin or you're sorrow bound.
Take my advice or you'll curse the day
You started rollin' down that lost highway



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-The Narrow Road to Oku--Matsuo Basho(Translated by Donald Keene)

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

Saturday, August 11, 2007

Assembling

Mapping of Difference in Lighting Density through Time
2007-o8-11



"What happens when the sensori-motor schema breaks
down and perception no longer result in action?"




Traditional editing in film or typical architectural animation entail piecing together shots in a linear, casual sequence to describe sensori-motor connections between seemingly chronological events. This give us an indirect image of time as a consequence of movement in space rather than as a transformation of the open whole. Memory, however, complicates framing, shooting, and assembling because it enters into the process of selecting from the open whole. It problematizes both description and narration and can even cause us to question what is true. When we cannot act on what we are feeling, sonic and optical images emerge that break our habitual sensori-motor schema. These images initiate a process that engages, not perception, which occurs in space, but memory which occurs in time, leading us to a direct crystal image of time. Thus, breaks in the sensori-motor schema, by dissolving boundaries of linear thinking, create an opportunity for new experiences and thoughts to emerge that lead the way to an architecture of “newness”



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
หมายเหตุ-หนังสั้นๆ ด้านบนเป็นหนังที่เราทำตอนต้นปี เพื่อส่งศาสตราจารย์ไบรอัน แมคกัท (Brian McGath)ตอนที่(แอบลาพักร้อนโดดงาน)ไปทำเวิร์คชอบกับแกที่จุฬา อ.ไบรอัน เป็นอาจารย์สอนสถาปัตย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ค แกกำลังศึกษาและพยายามพัฒนานำเทคนิคทางภาพยนต์มาใช้ในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม อาจารย์แกสนใจปรัชญาของ Gilles Deleuze โดยเฉพาะเล่มที่เกี่ยวกับหนัง-Cinema 1,2 (เราว่าปรัชญาของ Deleuze มีกลิ่นของพุทธศาสนา แล้วก็พวกเซนอยู่เยอะมาก) สำหรับเราสิ่งที่เราได้จากการทำเวิร์คช๊อบในครั้งนั้น(วรรคนี้อ่านแล้วดูเป็นราชการมากๆ^_^)มันได้สร้างช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ย้อนกลับมาสนใจในผัสสะในการรับรู้สิ่งต่างๆของตัวเอง รับรู้ถึงคุณสมบัติพิเศษและข้อจำกัดของเครื่องมือที่เราใช้(ซึ่งในที่นี้ก็คือกล้อง) ใครว่าการทำสมาธิจะต้องทำได้แค่การนั่งขัดสมาธิแล้วก็หลับ(ตา) บางทีนี่อาจจะเป็นการฝึกสมาธิด้วยกล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายหนัง ก็ได้นะใครจะรู้ ^_^

เออไม่ต้องซีเรียสนะถ้าดูหนังข้างบนแล้วไม่รู้เรื่องอ่ะ เพราะความจริงแล้วมันก็ไม่ได้มีเรื่อง(เล่า)ให้ต้องรู้อะไรมากมาย เพียงแค่ดูแล้วรู้สึกอะไรบ้างก็น่าจะโอฯแล้ว ^_^

ปล. ถ้าหนังด้านบนที่ลงไว้ดูไม่ได้ให้ลองเข้าตรงเลยไปที่
http://profile.imeem.com/aWbS6k/video/n6FnFCdp/mapping_of_difference_in_lighting_density_through_time/

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-The Narrow Road to Oku--Matsuo Basho(Translated by Donald Keene)

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

44%How Addicted to Blogging Are You?

Mingle2 - Dating Site

Wednesday, August 08, 2007

Mies

2007-08-08


"Less is More"
Mies Van Der Rohe


เมื่อพูดถึงประโยคด้านบน ใครๆ ก็นึกถึงลุงมีส ฟาน เดอร์ โรฮ์ (Mies Van Der Rohe) ถึงแม้ลุงแกจะบอกกี่ครั้งแล้วก็ตามว่าลุงไม่ได้เป็นคนพูดประโยคนี้เป็นคนแรก (ลุงจำขี้ปากเขามาพูดอีกที) แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ยังไม่มีใครฟัง พยายามยัดประโยคนี้เข้าไปในปากลุงให้ได้ ตามภาษาคนเขียนหนังสือที่อยากได้วรรคทองจากปากของคนอื่น แต่ในกรณีของลุงมีสนั้นเลยเถิดไปกว่านั้น(สำหรับที่เมืองไทยนั้น มีกลุ่มคนที่มีชื่ออาชีพที่น่าหมั่นไส้ที่สุด--Creative อุตส่าห์ดัดแปลงวรรคทองนี้ไปใช้จนได้ เปลี่ยนนิดหน่อย จาก Less เป็น Life กลายเป็น "Life is More" เอาไปโฆษณารถกระบะซะงั้น แหมช่างสร้างสรรค์สมชื่ออาชีพ เจงๆ)

ถ้าเทียบกับมาสเตอร์ทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นทั้งหมดแล้ว ลุงมีสเขียนหนังสือป่าวประกาศอุดมการณ์ของตัวเอง(manifesto) น้อยจนน่าใจหาย ผิดวิสัยของพวกมาสเตอร์ทั้งหลาย อย่างมากก็แค่เขียน course syllabus เอาไว้แจกนักศึกษา ที่บาวเฮ้าส์ กับที่ ไอไอที (ประโยคข้างหน้าเวอร์ไปนิด ความจริงมีสมีงานเขียนเล็กน้อยในหนังสือ G magazine เฮอๆ ^_^)

มีคนเห็นงานเรียบๆ น้อยๆ ของลุงมีสแล้วนึกสนุกกับความรู้สึกของตัวเอง คิดว่างานที่ลุงออกแบบนั้นมีอารมณ์บางอย่างคล้ายๆ กับสถาปัตยกรรมโบราณของญี่ปุ่น แค่สนุกในหัวสมองตัวเองไม่พอ ยังอุตส่าห์ เอาไอเดียนี้ไปถามลุงมีส ให้ลุงมีสได้ร่วมสนุกด้วย คำตอบที่ได้จากปากลุงก็คือ " ลุงไม่เคยไปญี่ปุ่น ลุงไม่เคยเห็นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ลุงทำงานของลุงด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจจะเป็นไปได้นะที่คนญี่ปุ่นอาจจะทำงานด้วยเหตุผลเดียวกันกับลุง" แล้วลุงก็ตบท้ายคำตอบนี้ด้วยคำพูดว่า "บางทีสิ่งดีๆ ก็อาจะเหมือนกันได้"

ตามภาษาคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ลุงเคยแนะนำลูกศิษย์เอาไว้ว่า เราควรเลือกงานและรับเฉพาะงานที่คิดว่าเราสามารถทำมันออกมาได้ดี (ในที่นี้อาจหมายความกว้างๆ รวมไปถึงการทำในสิ่งที่ทำแล้วไม่สูญเสียความรู้สึกนับถือตัวเอง) ลุงยังแนะนำต่ออีกว่าถ้าปีไหนไม่มีงานให้ทำ(ซึ่งตรงนี้ลุงอาจจะเล็งเห็นว่า สถาณการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ สาเหตุก็อาจจะเนื่องมาจากการเลือกงาน ^_^) ก็ให้ตั้งโจทย์สำหรับฝึกตัวเองให้ใช้ความคิดอย่างน้อย ก็ให้ลองทำงานออกแบบเองแบบที่ไม่มีใครจ้างสักชิ้นสองชิ้น ต่อหนึ่งปี

ก็คงจะถูกอย่างที่ลุงมีสแกพูดนั่นแหละ เพราะงานที่แกคิดตอนว่างๆ ที่ไม่มีใครจ้างนั่นแหละตอนหลัง กลายเป็นนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมของศตวรรษที่ 20 เลยเชียว

เห็นอย่างนี้ จะว่าไปลุงแกมีชื่อเสียงพอตัว ก่อนที่จะลี้ภัยมาสอนหนังสืออยู่ที่ไอไอที(เป็นคณบดี คณะสถาปัตย์ รวมถึงเป็นร่วมบุกเบิกสถาบันแห่งนี้) ในอเมริกา ลุงแกคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงเรียนบาวฮาวส์ มีช่วงหนึ่งบรรณาธิการนิตยสารออกแบบและตกแต่งชื่อดัง ได้เชิญ คณบดีจากสถาบันต่างๆ มาเขียนบทความแสดงวิสัยทัศน์ในด้านการออกแบบ ของแต่ละสถาบัน

ลุงมีสอีกนั่นแหละที่ บรรณาธิการนิตสารเล่มนั้น(รวมถึง แฟรง รอย ไรท์ สถาปนิกชื่อดังที่ผมเองไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่)กระแนะกระแหนว่า แสดงวิสัยทัศน์ได้ธรรมดาที่สุดในบรรดาเหล่าคณะบดีทั้งหลาย
อยากรู้ไหมว่าลุงแกเขียนว่าอะไร

ลุงแกเขียนในนิตยสารเล่มนั้นเอาไว้ว่า "ปีแรกๆ เราก็ให้นักศึกษาของเราทำความรู้จักกับไม้ก่อน พอเริ่มรู้จักไม้ดีแล้วในปีที่สูงขึ้นไปเรื่่อยๆ เราก็ให้ทำความรู้จักกับ กระจก และ เหล็ก ต่อไป" (โชคยังดีที่ลุงแกใช้ชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าลุงมีชีวิตอยู่ตอนนี้และพูดอะไรแบบนี้ อาจจะถูกพวกนักวิชาการหัวโพสโมเดิร์นทั้งหลายรุมเหยียดหยาม-ที่จริงแล้วตอนนี้ก็โดนรุมอยู่นะ เฮอ)

"Form Follow Function"-รูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย คือคำใหญ่ของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ซึ่งความจริงแล้วจะว่าไปลุงมีสเองก็ไม่ได้สนใจแนวคิดนี้ซะทีเดียว(สิ่งนี้อาจจะหมายความว่าได้ว่าลุงแกไม่ได้เป็นโมเดิร์นนิสท์หรือเปล่า? ) สำหรับลุงแล้ว Form--รูปทรง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ จนเราต้องประดิษฐ์ประดอยให้ความสำคัญ และประโยชน์ใช้สอยก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้อง follow มันแบบสุดโต่ง แบบที่ต้องเลือกเอาด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับลุงแล้วสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ถ้าใช้ไม้ในการก่อสร้าง ไม้ควรแสดงความเป็นไม้ออกมาอย่างเปิดเผย แสดงให้เราเห็นทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดของมัน เหล็กควรแสดงความเป็นเหล็ก ทุกสิ่ง ทุกวัสดุต้องมารวมกัน และประสานสัมพันธ์กัน มากว่าจะคิดว่าจะต้องมีสิ่งใดที่ dominate สิ่งอื่นๆอยู่ สิ่งที่เห็นด้วยตาทำงานประสานกันกับสิ่งที่ "ไม่เห็น" แต่ว่า "เห็น" เพราะถูกสิ่งที่ตาเห็นล้อมกรอบ(ซึ่งในที่นี้เราอาจจะเรียกมันกว้างๆว่า ที่ว่าง-space)



ถึงตรงนี้ถ้าใครยังไม่เคยเห็นหน้าลุงมีสด้านบนคือรูปของลุง หลายคนเห็นหน้าลุงแล้วอาจจะผิดหวัง ว่านี่หรือที่เป็นสถาปนิกคนสำคัญ หน้าตาไม่ส่อแววของความเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย์อยู่เลย คล้ายๆ นักธุรกิจแก่ๆ คนหนึ่งมากกว่า (แสดงว่าคนเราไม่ควรมองกันแต่เพียงภายนอก อุ๊ย นี่เราเขียนอะไรเชยๆ ออกไปเนี่ย ^_^) ถึงตรงนี้หลายคนอาจอยากจะรู้ว่า ไลฟท์สไตล์ของลุงเป็นยังๆไง วันๆ ลุงทำอะไรบ้าง? (ไปแฮงค์เอ้าท์ที่ไหน ที่ฮิบๆ เก๋ๆ หรือเปล่า?)

โดยปรกติลุงมีสจะตืนนอนตอน สิบเอ็ดโมง เปิดเพลงคลาสสิค ทำธุระส่วนตัว อ่านหนังสือ จิบไวน์ ไปตามเรื่องตามราว พอบ่ายคล้อยใกล้เย็น ลุงแกก็จัดแจงแต่งตัวเนี้ยบใส่สูทที่ตัดเย็บอย่างดีโดยเพื่อนแกที่เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดัง(นึกชื่อไม่ออก และขี้เกียจไปค้นในหนังสือว่าชื่ออะไร) ลุงแกแต่งตัวเนี้ยบมากๆ(เหมือนกับงานที่แกออกแบบ) เดินจากบ้านไปออฟฟิศเพื่อตรวจงานลูกน้อง นั่งคอมเม้นงาน จนถึงเย็น จากนั้นก็เอางานกลับมาคิดต่อที่บ้าน เวลาหัวค่ำถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งคือเวลาที่ลุงแกนั่งทำงานจริงๆ จังๆ ที่ทำงานช่วงนี้อาจจะเป็นไปได้ว่าลุงแกคงหลงรัก ความเงียบของตอนกลางคืนกระมัง

หมดไปอีกวัน หนึ่งวันเบาๆ ของลุงมีสก็คงมีแค่นี้

ผมรู้จักลุงมีสครั้งแรกสมัยที่เรียนอยู่ชั้นปอสี่ ช่วงปิดเทอมหน้าร้อนคุณครูให้การบ้านให้ทำรายงานเรื่องบุคคลสำคัญของโลกความยาวสิบหน้ากระดาษฟูลแก๊บ(คิดถึงกระดาษแบบนี้เหมือนกันเดี๋ยวนี้คงไม่มีขายแล้ว ^_^) ปรึกษาแม่ว่าทำไงดี แม่ก็เลยถามพี่ที่อยู่ข้างบ้านว่าทำยังไง พี่แกบอกว่าลองไปหอสมุดแห่งชาติดูดิ อยากไปเปล่าเดี๋ยวพี่พาไป(ตอนนั้นพี่คนนี้แกเรียนอักษรอยู่แกชื่อพี่นุช) ผมจึงรู้จักลุงมีสพร้อมๆกับที่รู้จักหอสมุดแห่งชาติ

ลุงมีสคือ บุคคลสำคัญของโลก คนนั้นที่ผมเขียนลงไปในกระดาษฟูลแก๊บส่งอาจารย์เป็นการบ้าน อย่าถามว่าทำไมถึงเลือกลุงมีส เพราะจำไม่ได้จริงๆ(ประมาณว่าเลือกมามั่วๆ ไม่ได้คิดอะไร :P ) รู้แต่ว่าบอกพี่นุชว่าอยากทำเกี่ยวกับศิลปะ พี่แกก็เลยพาไปในห้องนั้น(ห้องที่อยู่ซ้ายมือชั้นล่าง) ก็เลยได้หนังสือที่เกี่ยวกับลุงมา

วันเปิดเทอมปรากฏว่า หัวข้อรายงานหลากหลายมาก บ้างก็ทำ เรื่องกาลิเลโอ บ้างก็ทำเอดิสัน บ้างก็ทำเรื่องนิวตัน บางก็ทำเรื่องพระพุทธเจ้า ส่วนผมทำเรื่อง มีส ฟาน เดอร์ โรฮ์ และทุกครั้งที่ตอบเพื่อนไปว่าทำรายงานเรื่องอะไร เพื่อนก็จะถามกลับทันทีว่า "ใครว่ะ มีสอะไรนะเมื่อกี้?"

โตขึ้นมาหน่อย(ความจริงต้องใช้คำว่าโตขึ้นมาอีกเยอะ) ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ อาจารย์ฉายสไลด์ให้ดู พอเห็นหน้าลุงผมก็จำได้ทันทีว่า ลุงคนนั้นเมื่อครั้งตอนเด็กนั่นเอง ยังหันไปโม้กับเพื่อนที่นั่งเรียนอยู่ข้างๆเลยว่า "มีสเนี่ยกูรู้จักตั้งแต่เด็กๆแล้ว กูเคยทำรายงาน" เพื่อนหันมาแล้วบอกว่า "มึงอย่างมาโม้หน่อยเลย" ^_^

ผมชอบงานที่ลุงแกออกแบบมากๆ (ที่เสียเวลาเขียนอยู่เนี่ยก็เพราะปลื้มแกอ่ะนะ) ชอบเพราะว่ามันดูเรียบๆ สวยๆ แล้วก็ดูสบายตา ถ้าเป็นงานกราฟฟิก ก็อาจจะพูดได้ว่างานแก grid ดีแล้วก็ spacing สวย

ตอนเรียนหนังสือตอนที่อยู่ชั้นโตขึ้นมาหน่อยถึงรู้ว่าพวกแนวคิดโพสโมเดิร์นทั้งหลาย เล่นแกซะยับ พวกที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นมันต้องสื่อสารความหมาย ก็บอกว่างานแกไม่สื่อสาร ไม่ซับซ้อน ไม่สะท้อนความหมายเชิงวัฒนธรรม และมีความคิดที่ช่างเป็นเผด็จการ อ่านไปก็ผงกหัวตามไปนิดหน่อยตามแต่ Logic จะพาไป แต่จนแล้วจนรอด ขณะที่สมองพาลจะเห็นด้วยกับที่พวกโพสโมเดิร์นเขียน แต่ลึกๆแล้ว ก็ยังชื่อสิ่งที่ตาเห็นและรู้สึกว่างานลุงมีอะไรดีอยู่ข้างใน

บางทีเราก็รู้สึกรำคาญ ในการเป็นมนุษย์ช่างต่อปากต่อคำแบบพวกโพสโมเดิร์น การเป็นมาสเตอร์แบบลุงมีก็ไม่เห็นเสียหายอะไรเลย(นี่หว่า)?

ทุกวันนี้หากต้องเลือกอยู่ใกล้ มุนษย์ที่ intellectual เสียเหลือเกิน กับ มนุษย์ที่มี intuition แบบบลุงมีส บอกตามตรงว่ารู้สึกดีกับมนุษย์แบบหลังมากกว่า

อีกเรื่องหนึ่ง--ตอนเรียนอยู่ปีสามบังเอิญได้มีโอกาสไปฝึกงานอยู่ที่ออฟฟิศเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่บังเอิญเช่าบ้านหลังเล็กๆ ของอาจารย์ปู่--เรืองศักดิ์ กันตะบุตร เป็นออฟฟิศ อาจารย์ปู่แกเป็นลูกศิษย์ ของลุงมีส (เอ๊ะถ้าเรียกลูกศิษย์ว่าปู่ แล้วทำไมถึงเรียกมีสว่าลุง? เลยตามเลยละกัน ^_^) ทุกวันอาจารย์ปู่จะเดินเข้ามาเยี่ยมเยียนที่บ้าน แล้วก็ชวนคุยตามภาษาผู้ใหญ่ใจดี แกเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยสงครามโลก แกเคยอยู่ฝ่ายออกแบบแล้วต้องออกแบบรถถัง ชีวิตช่วงสงครามช่างแสนลำบากยากเข็น แกยังเล่าให้ฟังตามภาษาสถาปนิก ว่าบ้านหลังที่แกอยู่นั้นแกคิดโครงสร้างใหม่ที่ทำให้ไม่ต้องตอกเสาเข็ม ทุกคนที่อยู่ในวงสนทนาตอนนั้นถามแกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ทำไม"

"สงสารมดกับไส้เดือนที่อยู่แถวนั้น ไม่อยากทำอะไรรบกวนมัน" อาจารย์ปู่ลูกศิษย์ลุงมีสแกตอบแบบนั้น

เคยอ่านเจอไฮกุบทหนึ่ง ที่เขียนโดย มัสซึโอะ บาโช(Matsuo Basho) กวีชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่ในสมัยเอโดะ(ศตวรรษที่ 17)--คนนี้ก็คนโปรดของเรา ถ้ามีโอกาสอาจจะเขียนถึงใน blog นี้ ^_^

บาโชเขียนเอาไว้ว่า

By a little kitten--ลูกแมวเล็กๆ
Sniffed at,--เอาจมูกมาสูด
Creeps the slug unconcerned.--คนที่เกียจคร้านก็กระเถิบตัวหนี

ดี ที สึซึกิ (D. T. Suzuki) เคยเขียนถึงไฮกุบทนี้ในหนังสือ Zen and Japanese Culture ของเขาเอาไว้ว่า "a bit of human playfulness and sweetness"

ไฮกุบทนี้ทำให้ผมนึกถึงลุงมีส และข้อความที่ลุงแกเคยเขียน และท่าทีในการใช้ชีวิตของแก

"ปีแรกๆ เราก็ให้นักศึกษาของเราทำความรู้จักกับไม้ก่อน พอเริ่มรู้จักไม้ดีแล้ว
ในปีที่สูงขึ้นไป เราก็ให้ทำความรู้จักกับ กระจก และ เหล็ก ต่อไป"

สำหรับผมแล้วที่ลุงแกเขียนน่ะ--เขียนได้ขี้เล่นและอ่อนหวานไม่แพ้บาโช

ก็คงเหมือนอย่างที่ลุงแกบอก

และผมคงจะไม่ได้คิดไปเอง

"บางทีสิ่งดี อาจะเหมือนกันได้"



+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Business Week(ไทยแลนด์)--สิงหาคม 2550

Thursday, August 02, 2007

จดหมายของลุง

2007-08-02

"วาดสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเธอด้วยดินสอ, ปากกา, ดินสอสี หรือว่าสีน้ำ วาดทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอได้จินตนาการถึงมัน ไม่ต้องกังวลถึงอะไรเกี่ยวกับคำชมเชยหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เธอจะได้รับ ตัดสินในสิ่งที่เธอได้ทำไปด้วยตัวของเธอเอง"



ภาพ Le Corbusier กับ หนุ่มน้อยมิมี่ ในขณะที่กำลังง่วนอยู่กับการสังเกตธรรมชาติ ที่ Cap-Martin


วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 1953
มีมี่

ฉันกำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงเธออยู่ที่ม้านั่งในสถานนีรถไฟ มันเยี่ยมมากเลยที่เธอทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอเหมือนที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนี้ มันอาจจะยากสักหน่อยเพราะอายุเธอยังน้อย และพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับบริบทที่มีความชัดเจนมากๆ

เธอได้ก้าวผ่านก้าวที่สำคัญที่สุดไปข้างหน้าแล้ว เพราะเธอเลือกสถาปัตยกรรม แทนที่จะเลือกที่ทำการไปรษณีย์ แล้ววันหนึ่งเธอก็จะรู้ความจริงว่าตรงนี้เป็นทางแพร่งที่สำคัญมากๆ สถาปัตยกรรมกำลังเริ่มนับหนึ่งและก็กำลังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเป็นทางเลือกที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาลเวลา บุคคลิกภาพของเธอยังไม่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน แต่ไม่แน่บางที่สิ่งนี้มันอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเธอสามารถคาดคะเน ปรารถนา และมีความหวังในมัน โดยพยายามทำในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเตรียมสิ่งที่จะเกื้อหนุนต่อเธอได้โดยที่เธอต้องไม่หลอกตัวเอง

มีสิ่งดีๆที่เธอสามารถปฏิบัติได้ และมีประโยชน์มากๆ มันจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความพอใจให้เธอได้ในอนาคตแน่ๆ

และนี่คือคำแนะนำที่มีประโยชน์ที่ว่านั้น:

ข้อที่หนึ่ง เรียนรู้เทคนิคต่างๆที่เกี่ยวกับการเขียนแบบ อย่างกระจ่างแจ้ง และสมบูรณ์แบบ ในหลายๆ มาตราส่วน ทั้งการเขียนด้วยดินสอ และการเขียนด้วยปากกา

ข้อที่สอง เรียนรู้ที่จะอธิบายรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ด้วยความคิดที่เรียบง่าย โดยปราศจากการอวดอ้าง หากระดาษที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสมาใช้สำหรับฝึกฝน อย่าเสียเวลาไปกับการลบมัน(หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเขียนแบบไม่ต้องกลัวว่าจะเลอะ-ผู้แปล)ไม่ต้องเขียนด้วยเส้นเนี้ยบๆ(cross-hatching) และอย่าเขียนแบบอวดรู้ในสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่เข้าใจมัน

เมื่อเธอและเพื่อนของเธอ มีสมุดสำหรับใช้ฝึกฝนแล้ว ให้คิดโจทย์ขึ้นมาสำหรับใช้ในการฝึกในสมุดแบบฝึกหัดของเธอ ด้วยไม้บรรทัดและดินสอสี และกำหนดรูปแบบของแนวความคิดและการเขียนแบบของเธอขึ้นมา

ข้อที่สาม การเขียนภาพทัศนียภาพ (perspective) (เช่นเดียวกัน ควรเขียนลงบนกระดาษที่เป็นสี่เหลี่ยมที่มาตราส่วน 5 m/m) ด้วยสัดส่วนแบบนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากแต่มันจะทำให้เธอเขียนภาพทัศนียภาพได้ง่ายขึ้น!


ข้อที่สี่ วาดสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเธอด้วยดินสอ, ปากกา, ดินสอสี หรือว่าสีน้ำ วาดทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอได้จินตนาการถึงมัน ไม่ต้องกังวลถึงอะไรเกี่ยวกับคำชมเชยหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เธอจะได้รับ ตัดสินในสิ่งที่เธอได้ทำไปด้วยตัวของเธอเอง และต่อไปนี้กฎที่่จะพูดถึงสิ่งที่เธอไม่ควรทำ : อย่าเขียนภาพจากหุ่นปูนปลาสเตอร์, ก้อนหิน, โครงสร้าง, ต้นไม้, หรือกิ่งไม้ แต่ให้เขียนจากความทรงจำของเธอที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น ที่เข้ามากระทบความรู้สึกของเธอในขณะนั้น

อย่าให้อาจารย์แนะนำเธอเกี่ยวกับเรื่องศิลปะ ให้ถอยห่างออกมาและอยู่ในมุมของเธอเองแล้วพยายามก้าวเดินต่อไปข้างหน้า(แล้วมีมี่ควรจะเชื่อสิ่งที่ลุงคอร์บูฯ ร่ายยาวมาตั้งแต่แรกจนถึงบรรทัดนี่ไหมและเนี่ย(แซวเล่น ^_^)--ผู้แปล)

มองไปที่ก้อนเมฆบนฟ้าแล้วพยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้นั้นมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร(มันมีความแตกต่างกันมากนะ)

ยิ่งไปกว่านั้นพยายามวาดบ้านและทิวทัศน์ต่างๆเยอะๆ แต่ก็อย่าวาดด้วยความรู้สึกที่ว่ามีผู้อื่นได้ขอร้องให้ทำสิ่งเหล่านี้

ตอนนี้ให้พยายามเข้าใจกับคำแนะนำต่างๆ ของฉัน แล้วเธอจะสามารถก้าวไปข้างหน้าและค้นพบลักษณะเฉพาะที่เป็นแบบของเธอเองได้

บอกกับตัวเองเอาไว้ว่าเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ดี

เออ บอกฉันและเตือนฉันด้วย ว่าให้ส่งนิตยสารจากปารีสให้เธอ เพราะที่นี่มีนิตยสารมากมาย และเพียงพอที่จะส่งเพื่อจะแบ่งปันให้เธออ่าน

ส่งมาตามที่อยู่นี้
Mme Jeanne
Atelier L-C, 35 rue de Sevres Paris 6

รักษาความกล้าหาญของเธอไว้ จากเพื่อนของเธอ
เลอ คอร์บูซิเออร์


ปล.--ช่วงฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้เธอคงจะมีเวลามากมาย อย่าลงทะเบียนเรียนวิชา "Decorative art" เป็นอันขาด เพราะเมื่อพวกเขามอบสิ่งนั้นให้แด่เธอ ก็เหมือนกับว่าพวกเขาได้ฆ่าเธอไปแล้ว(สมกับเป็นผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นทัศนะคติที่ลุงคอร์บูฯ มีต่อการตกแต่ง เหมือนที่พวกโมเดิร์นนิสท์ชอบพูดว่า "การตกแต่งเป็นอาชญากรรม" นั่นแหละ--วงเล็บนี้เป็นของผู้แปลเองวงเล็บถัดไปเป็นของคอร์บูฯ)(ขอร้องให้พี่สาวของเธอช่วยพิมพ์จดหมายฉบับนี้ เพื่อเธอจะได้สามารถอ่านมันได้ง่ายและเข้าใจมันได้มากขึ้นและก็อย่าลืมทำสำเนาส่งมาให้ฉันด้วย)

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

ด้านบนคือจดหมายที่ เลอ คอร์บูซิเออร์(Le Corbusier) เขียนถึงมิมี่ หนุ่มน้อยลูกชายของเพื่อนสนิทที่กำลังตัดสินใจเข้าเรียนสถาปัตยกรรม

ใครจะไปรู้ว่าการพบลุงคอร์บในช่วงฤดูร้อนในปี 1949 (corb--คือชื่อเล่นอย่างเป็นทางการของคอร์บูฯ ซึ่งนับตั้งแต่ตรงนี้จะเรียกคอร์บูฯ ว่าลุงคอร์บนะ โอฯป่ะ ) ทำให้เด็กน้อยทีี่ชื่อโรเบิร์ต รีบูตาโต้ หรือมิมี่ ประทับใจในอาชีพของลุง--สถาปนิก (และมีโอกาสได้ไปช่วยงานลุงคอร์บในอนาคต) ในห้วงเวลานั้น นั่นเองหลังจากที่ได้พบปะและพูดคุยกับลุง ที่ร้านอาหารริมทะเลของพ่อที่มีชื่อว่าThe Etoile de mer ที่ Cap-Martin ประเทศฝรั่งเศส

ใครจะไปรู้ว่า การไปเที่ยวที่ Cap-Martin ในครั้งนั้นทำให้ลุงคอร์บประทับใจกับทัศนียภาพที่งดงามของทะเลที่อยู่ตรงหน้ารวมถึงมิตรภาพและน้ำจิตน้ำใจของผู้คนแถวนั้น หรือพูดง่ายๆก็คือถูกชะตา จนทำให้ตัดสินใจสร้างบ้านพักตากอากาศเพื่อจะได้มีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ และพรรคพวกที่รักใคร่ ชอบพอกัน (หนึ่งในนั้นมี Eileen Gray สถาปนิกและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงรวมอยู่ด้วย)

แต่บ้านพักตากอากาศของสถาปนิกที่นิตยสาร Time บอกว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด(ในทางสถาปัตยกรรม)ที่สุดในศตวรรษที่ 20 นั้นจะเป็นยังไง? หลายคนคงคิดว่าบ้านของลุงคงใหญ่โตหรูหรา หรือถ้าคิดแบบเศรษฐีไทยก็อาจจะบอกว่าคงจะต้องอบอุ่นสไตล์รีสอร์ทและมีสปาอยู่ในบ้านด้วย? หรือไม่ก็คงเรียบหรูอย่างมีเหตุมีผลแบบโมเดิร์นเหมือนที่ลุงได้ป่าวประกาศอุดมการณ์เอาไว้ในนิตยสาร L'Espirit Nouveau ของตัวเองในช่วงต้นศตวรรษ?

บางครั้งความจริงก็ชอบวิ่งสวนทางกับสิ่งที่เราคิดว่ามันควรจะเป็นอยู่บ่อยๆ บ่อยเสียจนมนุษย์เองก็น่าจะคบหาความไม่แน่นอนนี้เอาไว้เป็นเพื่อนได้เสียทีนึง (เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ บ่อยเสียจนมนุษย์อย่างเราๆน่าจะทำใจกับมันได้แล้ว?)

บ้านพักตากอากาศ Le Petit Cabanon ของลุงเป็นยังไงนั้น จะต้องเสียเวลาสาธยายทำไมก็ในเมื่อเรามีรูปถ่ายให้ดู ^_^


Le Petit Cabanon บ้านของลุงคอร์บที่ Cap-Martin


ส่วนเรื่องราวของลุงคอร์บที่เกิดขึ้นใน Le Petit Cabanon จะเป็นยังไงนั้น ก็คงต้องเอาไว้คราวหน้า เพราะตอนนี้คนเขียน Blog นี้เริ่มขี้เกียจเสียแล้วล่ะ เฮอๆ ^_^


*หมายเหตุ--จดหมายที่ลุงคอร์บเขียนถึงมิมี่แปลจากจดหมายที่ลงในจดหมายข่าวของ Fondation Le Corbusier ฉบับที่ 27--มีนาคม 2005

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-นิตยสารสารคดี ฉบับ 269--กรกฎาคม 2550
Book read:
-The Narrow Road to Oku--Matsuo Basho(Translated by Donald Keene)