Wednesday, February 28, 2007

หน้ากระดาษของนักเขียน ส่วนหน้าปกน่ะ ของคุณ!

Books by the greats, Covers by You
2007-02-28




วันนี้ตอนหัวค่ำไปเดินดูหนังสือเล่นที่ร้านคิโนคุนิยะ-สาขาเอ็มโพเรียม
ตามประสาคนชอบเดินดูหนังสือ(อันนี้เป็นหนึ่งในความสุขของชีวิตเรา ^_^)
เดินไปเดินมาดูเล่มโน้น พลิกเล่มนี้ลองอ่าน
พลิกปกหน้า ดูปกหลัง เล่มโน้นออกแบบเป็นยังไง
เล่มนั้นสวยไม๊
มีหนังสือที่เขียนโดยเกอเธ่เล่มนึงปกสวยมาก
พิมพ์สองสีเรียบๆ แดงเขียว พิมพ์ลงบนกระดาษขาว
เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีสี!(โอ้วเกอเธ่เขียนเกี่ยวกับเรื่องทฎษฎีสีด้วย)
ลองเปิดอ่านแล้ว น่าสนใจๆ แต่ดูยากๆ เหมือนกันว่ะ--เก็บเอาไว้ก่อน ยังไม่พร้อมจะอ่านตอนนี้
(ไว้เจอกันคราวหน้า)

จากหมวดวิทยาศาสตร์เดินมาเรื่อยๆ หันไปทางขวา ที่หมวดวรรณกรรมญี่ปุ่น
เห็นมุราคามิเต็มแผง-ไม่ชอบปกมุราคามิที่เป็นเวอร์ชั่นภาพขาวดำตัวหนังสือสีแดงเลย (ของสำนักพิมพ์ vintage ฝั่งอังกฤษ)
ชอบหน้าปกของสำนักพิมพ์ vintage ฝั่งอเมริกา มากกว่า :P (จะว่าโรคจิตก็ได้เพราะที่มีอยู่ที่บ้านก็เป็นของ vintage ตัดสินใจซื้อของ vintage ก็เพราะชอบปกมากกว่าทั้งที่ราคาแพงกว่ากันเกือบร้อยบาท--ตรงนี้ทำให้ผมเข้าใจเพื่อนๆ ผู้หญิงที่กรี๊ดดาราเกาหลีเลย ผมว่ามันคงมีความรู้สึกบางอย่างที่คล้ายๆกันอยู่-เรื่องบางอย่างมันก็ใช้เหตุผลไม่ได้อ่ะ :P)

หันไปด้านหลังกลายเป็นหมวดวรรณกรรมอักษรตัว w กวาดสายตาไปกวาดสายตามา
แล้วก็มาสะดุดที่หนังสือเล่มหนึ่งจนได้

อย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย
"ไอ้ที่ว่าอย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปกน่ะ" ผมก็เห็นด้วยอยู่ไม่ใช่น้อย ^_^
เพราะหนังสือบางเล่มที่ผมชอบมากๆ ปกก็เห่ยมากๆ พอๆกัน :P
แต่ก็มีมากอยู่มิใช่น้อยเลย ที่ผมตัดสินใจซื้อก็เพราะหน้าปกล้วนๆ
หนังสือเรื่อง The Curious incident of the dog in the night-time ที่หน้าปกเรียบๆ สีแดงๆ แล้วก็มีรูปหมาสีดำกลับหัว ของ mark Haddon ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่หน้าปกสวยถูกใจ (แต่พออ่านจบแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ผิดหวัง แถมยังสนุกและดีมากๆ-พูดแล้วจะหาว่าคุย เรื่องซื้อหนังสือให้ถูกใจตัวเองเนี่ย มีน้อยครั้งมากที่ผมพลาด เหมือนมีเซ้นส์ ^_^ )

หนังสือที่สายตาของผมสะดุดมันเข้าในวินาทีนั้นคือ--หนังสือเรียบๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรให้สะดุด
มันถูกห่อด้วยพลาสติก ติดด้วยสติกเกอร์แผ่นเล็กๆ มีรูปนกเพนกวินตัวเล็กๆ อยู่ข้างๆ
บนสติกเกอร์พิมพ์ชื่อผู้เขียนตัวเล็กๆ (Virginia Woolf) พิมพ์ชื่อเรื่องตัวเล็กๆ (The Waves)
ด้านบนมีตัวหนังสือ ที่เล็กกว่าชื่อผู้เขียนและชื่อเรื่อง เขียนเอาไว้ว่า
"Books by the greats, Covers by You"





หน้าปกเป็นเนื้อกระดาษขาวด้านๆ (เหมาะแก่การวาดรูปมากๆ)
ใช่แล้ว! มันเป็นหนังสือที่ไม่มีหน้าปก ของสำนักพิมพ์เพนกวิน
นี่เป็นคอลเลคชั่นใหม่ของสำนักพิมพ์นี้(หรอเปล่า?ก็ไม่รู้ แต่เราเพิ่งเคยเห็นที่คิโนคุนิยะ)
ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านเป็นคนออกแบบหน้าปกหนังสือที่ตัวเองได้อ่านไปเอง
ผมชอบไอเดียนี้นะ
เจ๋งดี-คิดได้ไง
อ่านเสร็จแล้ว รู้สึกรู้สายังไงกับมัน ก็บรรจงวาดลงไปที่หน้าปกด้วยตัวเอง ^_^

ที่ปกหลังหนังสือเขียนเอาไว้ว่า
"What's on your cover? Send your masterpiece to gallery@penguin.co.uk and we'll put up a selection of designs for book lovers everywhere to enjoy.

ถ้าวาดเสร็จนึกสนุกอยากส่งไปร่วมแจมก็ทำได้

ในคอลเลคชั่นนี้มีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจ
ใครสนใจลองเข้าไปดูได้ที่
www.penguin.co.uk/mypenguin



ปล-จากการสังเกตด้วยสายตาคร่าวๆ คิโนคุนิยะที่เอ็มโพเรียม
รู้สึกจะมีอยู่ขายอยู่สี่เรื่องนะ
-Meditation--Marcus Aurelius (อยู่ชั้นหนังสือปรัชญา)
-The Waves--Verginia Woolf
-The Picture of Dorian Gray--Oscar Wilde
-Emma--Jane Austen

ปล2--คิโนคุนิยะที่อิเซตันยุบหนังสือในหมวด Art & Design ทิ้งไปแล้ว
เพราะขายไม่ค่อยดี (อันนี้พนักงานบอก) หนังสือทั้งหมดในหมวดนี้
ที่เคยอยู่ที่อิเซตัน จะถูกย้ายไปที่สาขาพาราก้อนทั้งหมด
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
ด้านล่างคือ The Waves ของคนอื่่นๆ









เดี๋ยวทำปกของตัวเองเสร็จเมื่อไหร่จะลองส่งไปบ้าง ^_^

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-The Waves--Verginia Woolf
-David Hockney by David Hockney--David Hockney
Book read:
-Art4D Number 134--February 2007

Thursday, February 22, 2007

Good Design

2007-02-22


New Chair Design - The funniest videos are a click away

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-มิยูกิ เล่ม 2--อาดาจิ มิซึรุ
-Atmospheres--Peter Zumthor
-Art4D Number 134--February 2007

Books read:
-มิยูกิ เล่ม 2--อาดาจิ มิซึรุ
-Art4D Number 134--February 2007

Tuesday, February 20, 2007

กระดาษ

2007-02-20


กระดาษและมือของคุณปู่ออสการ์ ที่อยู่บนกระดาษ


มันอยู่บนกระดาษสีขาวที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังง่วนสนุกสนานอยู่กับมัน บนกระดาษแผ่นนั้นเด็กน้อยวาดบ้าน, วาดต้นไม้, วาดเมือง, วาดสัตว์ทะเล, วาดพระอาทิตย์ และวาดพระจันทร์ เขากำลังสนุกสนานอยู่กับห้วงวินาทีที่แสนมหัศจรรย์นั้น ที่ความงามบังเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับความบริสุทธิ์ มันควรเป็นเช่นนั้นเสมอ หลังจากนั้นมาตลอดชีวิตของเขา กระดาษก็เดินร่วมทางไปกับเขาในทุกกิจกรรมของชีวิต

ถ้าเขากลายเป็นนักเขียน บนกระดาษแผ่นนั้นเขาจะเขียนนิยาย และสร้างสรรค์ตัวละครที่น่าจดจำเขาจะสรรค์สร้างความเศร้าและความงามให้บังเกิดขึ้น ถ้าเขากลายเป็นศิลปิน บนกระดาษแผ่นนั้นเขาจะวาดภาพที่เป็นมาสเตอร์พีช ตลอดช่วงชีวิตของเขา ถ้าเขากลายเป็นนักวิทยศาสตร์เขาจะใช้กระดาษถอดรหัสความกว้างใหญ่ของจักรวาลที่อยู่รอบๆตัวเรา, จดบันทึกระยะห่าง สืบค้นเพื่อหาตัวแปรใหม่ และสาธิตให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่ไม่สำคัญเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของการสร้างสรรค์ และสุดท้าย ถ้าเด็กน้อยคนนั้นกลายมาเป็นสถาปนิก เขาจะใช้กระดาษแผ่นนั้นเพื่อออกแบบพระราชวัง โรงละคร มหาวิทยลัย และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ที่เป็นสถานที่เกิด เติบใหญ่ และสถานที่ตาย ของมนุษย์

กระดาษคืออาวุธที่สำคัญของมนุษย์ที่ทุกข์ทนทรมานมาอย่างยาวนาน-ปัจเจกชนเหล่านั้น ใช้มันต่อต้านความอยุติธรรมที่แผ้วพานเข้ามาในชีวิต ในปัจจุบันกระดาษถูกพัฒนาด้วยวิทยาศาตร์ประยุกต์มันถูกนำมาใช้กับเครื่องส่งแฟกซ์(สมัยคุณปู่เครื่องส่งแฟกซ์คงเจ๋งแล้ว--จี้)-มันเป็นเครื่องมือที่บ่งบอกสถานภาพทางเทคโนโลยีของศิลปะ และบ่อยครั้ง มันถูกใช้เป็นสื่อกลางของคนรักที่ต้องเดินทางห่างไกลกัน มันถ่ายทอดความเจ็บปวดความไม่พอใจ และแผ่ขยายส่งกระจายความกังวล ความสนุก ซึ่งเป็นทั้งหมดของทุกชะตากรรมที่ซ้อนทับอยู่ในชีวิตของเรา

บนกระดาษสีขาวแผ่นนั้นของ คาล มาร์ก กระดาษที่เขาใช้ประกาศก้องถึงโลกใหม่ ใช้ยืนกรานถึงสิทธิพิเศษของชนกลุ่มน้อย ที่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น


จาก
The Curves of Time : The memoirs of Oscar Niemeyer
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+



Oscar Niemeyer เป็นชาวบราซิล เกิดและเติบโตที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร เป็นโมเดิร์นิสต์ คนสำคัญของวงการสถาปัตยกรรมที่ตอนนี้ยังมีชีิวิตอยู่(สถาปนิกรุ่นเดียวกับแกไปกันหมดแล้ว) เดือนธันวาคมปีนี้ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณปู่เสียก่อน ปีนี้คุณปู่จะมีอายุครบ 100 ปีพอดิบพอดี ยังไงก็แล้วแต่ขอให้คุณปู่อายุมั่นขวัญยืนก็แล้วกัน เสียดายสถาปนิกที่เป็น craftman อย่างปู่ ซึ่งในตอนนี้เหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้วบนโลกใบนี้ :P

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-The Curves of Time : The memoirs of Oscar Niemeyer--Oscar Niemeyer
-เรื่องของผมผู้ชายไม่เกี่ยว--วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ (หนังสือใครก็ไม่รู้ ^_^)

Books read:
-Thinking Architecture--Peter Zumthor
-The Curves of Time : The memoirs of Oscar Niemeyer--Oscar Niemeyer

Monday, February 19, 2007

9 坪ハウス

2007-02-19









หนึ่งในบ้านที่มีพื้นที่ขนาด 9 ทสึโบะ ที่ออกแบบโดย ยาสุยูกิ โอกาซากิ



"9 坪" อ่านเป็นไทยว่า "เก้าทสีโบะ"
"ทสึโบะ" เป็นหน่วยวัดพื้นที่ของคนญี่ปุ่น
1 ทสึโบะ เท่ากับพื้นที่ตามหน่วยการวัดแบบเมทริกคือ 3.305785 ตารางเมตร
หากเอามาตราฐานโลกไปทาบกับหน่วยวัดแบบญี่ปุ่นแน่นอนว่าสิ่งก่อสร้างแบบญี่ปุ่นจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตราฐานทันที(สาเหตุก็เนื่องมาจากเศษทศนิยมที่ห้อยท้ายอยู่)
เหมือนการตีตราทุกสิ่งทุกอย่างด้วยมาตฐาน ISO--ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องไร้สาระ :P
(มาตราฐานที่มองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งพยายามทำให้ทุกอย่างกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน-มันช่าง Banality จริงๆ :P)

ไม่ว่า 1 ทสึโบะ จะเป็นพื้นที่กี่ตารางเมตรก็ตาม
สำหรับคนญี่ปุ่น 1 ทสีโบะ ก็คือ 1 ทสึโบะ
หรือย่างมากที่สุด1 ทสีโบะ ก็คือ 2 เสื่อทาทามิ ละเอ้า!(ไม่มีทางเป็นอย่าอื่น ^_^)

และในเงื่อนไขทางสังคมที่คนญี่ปุ่่นรับรู้ร่วมกันก็ คือ "9 ทสีโบะ" คือขนาดของพื้นที่ปกคลุมดินของบ้านที่จะได้รับการยกเว้นภาษี (ในญี่ปุ่นใครที่จะปลูกบ้านต้องเสียภาษีให้รัฐ ยิ่งบ้านหลังใหญ่ยิ่งต้องเสียภาษีเยอะ)

นี่คือกฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ค่อยมีสตางค์(หรือคนหนุ่มสาวที่เพิ่งตั้งตัว)ที่อาศัยอยู่ในเมืองได้มีบ้านเป็นของตัวเอง หากพวกเขาและเธอสร้างบ้านที่มีขนาด น้อยกว่าหรือเท่ากับ 9 ทสีโบะ

ตรงนี้เองที่เป็นที่มาและจุดเร่ิมต้นทางความคิดของสถาปนิกหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น
กลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำทีมโดยสถาปนิกหญิงที่มีชื่อว่า ยาสุยูกิ โอกาซากิ ที่พยายามออกแบบบ้านที่มีขนาดไม่เกิน 9 ทสีโบะ ให้ดีและน่าอยู่อาศัย

9tubohouse เป็นบริษัทแบบบ้านๆ ซึ่งรับจ้างทำแต่บ้าน(ให้กระจ่างแต่อย่างเดียว ^_^) โดยไม่เคยคุยโวว่าตัวเองเป็นบริษัททีมีความคิดเท่ๆแบบ multi-disciplinary (ที่ไม่คุยเพราะอาจจะรู้ว่าโดยธรรมชาติของศาสตร์ประเภทนี้มันเป็น multi-disciplinary อยู่แล้วไม่เห็นจำเป็นต้องโม้) เหมือนสถาปนิกฝั่งตะวันตกเจ้าทฤษฎี ที่พยายามทำให้บ้านกลายเป็นอย่างอื่น--เป็นเครื่องมือสะท้อนอภิปรัชญาบ้าง เป็นวัตถุสื่อความหมายทางสังคมบ้าง หรือสะท้อนปรัชญาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่บ้าง

สำหรับ ยาสุยูกิ โอกาซากิ แล้ว
บ้านมิใช่อะไรอื่นเลย
(ไม่ใช่สปา ไม่ใช่รีสอร์ท ไม่เกี่ยวกับความร่วมสมัยหรือไม่ร่วมสมัย หรือไทยไม่ไทย บาหลี หรือกรีกโรมัน)
บ้านก็คือบ้าน

คนที่คิดอะไรแบบบ้านๆ ได้เท่านั้นแหละ
ถึงจะรู้ว่าบ้านคืออะไร ^_^



ปล--ถ้าสนใจในสิ่งที่ 9tubohouse กำลังทำอยู่ลองเข้าไปดูที่
http://www.9tubohouse.com/index.html

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-Thinking Architecture--Peter Zumthor
Book read:
-Thinking Architecture--Peter Zumthor

Thursday, February 15, 2007

A Certain Feel

2007-02-15


Michelangelo Antonioni (1912-2007)



"คุณเงียบขรึมยังงี้ตลอดเลยเหรอ? เพราะอะไร?"
"ฉันไม่มีอะไรจะพูด"
"ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเยอะแยะ?"

(เธอไม่มองเขาเลย ไม่ต้องการหลักประกันใดๆ จากเขา ความมั่นคงไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ ความเย็นชาที่คล้อยไปทางเมินเฉย ราวกับจะแผ่ซ่านในตัวเธอ เป็นความสงบซึ่งแผ่ซ่านอยู่ในอากาศรอบตัวเธอและท้องถนน)

"ผมเคยอ่านเจอประโยคนี้ในหนังสือ "หากแม้นต้นเชอรี่กัดกินผลของตัวเองได้" คุณคือต้นเชอรี่ที่กัดกินผลของตัวเอง"
"ฉันว่าการจะเป็นสุข เราควรขจัดความคิดส่วนตน"

(ผมไม่ชอบการบำเพ็ญทุกรกิริยา ผมสนใจแต่ความไม่สมเหตุสมผล ผมเชื่อว่าเหตุผลตัวเดียวย่อมอธิบายความเป็นจริงไม่ได้)

"ฉันจะหนีไป"
"หนีไปไหน?"
"หนีจากร่างของตัวเอง"

(เขาต่างหากที่ทำให้เธอละจากทุกสิ่ง เธอได้รับรู้ถึงความสุข มิใช่สิ นั่นเป็นความรู้สึกส่วนตัวของเธอมากกว่า เพราะความสุขมันไม่จีรังยั่งยืน ส่วนความรู้สึกเช่นนี้จะยืนยงตลอดไป ผมชอบเมืองนี้มาก มันชื้นแฉะ ผมชอบสีสัน กับซุ่มเสียงไพเราะ ที่อ้อยอิ่งอยู่ในหู เมืองที่เอ่ยอะไรที่ใครคงไม่เข้าใจในทีแรก คำเหล่านี้แทนความลึกลับ อีกทั้งซุ่มเสียงจากผืนดิน ยังเกื้อหนุนอีกต่างหาก น้ำพุก็เอ่ยอะไรที่เราไม่เข้าใจเช่นกัน มันใกล้เคียงกับบทสนทนาระหว่างคนสองคนนี้มาก แล้วพอเรารู้เรื่องที่น่าตกใจในท้ายที่สุด สิ่งที่หญิงสาวตั้งใจจะทำ ในวินาทีนั้นเราย่อมจะเข้าใจท่วงทำนองจากน้ำพุและความหมายของมันเช่นกัน)

"เหมือนดอกไม้"
"จริงด้วย"
"สวยดี"
"ผมไม่ชอบดอกไม้"
"ชอบน่ะชอบ แต่มันทำให้ผมเศร้า มันสวยก็จริง แต่สวยอยู่สองวัน เหี่ยวเฉาแล้วก็ถูกทิ้ง คนญี่ปุ่นไม่ชอบปลูกไม้ดอก เพราะจะได้ไม่ต้องทนเห็นมันเหี่ยวเฉาในบ้านของตัวเอง คุณยิ้มทำไม?"
"คุณกลัวตายหรือเปล่า?"
"จะว่ากลัวก็ไม่เชิง"
"ฉันกลัวชีวิต"
"อายุแค่นี้กลัวชีวิต? ไร้สาระ"
"ชีวิตที่ผู้คนดำเนินไป"
"คุณประเมินค่ามันต่ำไป คุณอยากได้อะไรจากชีวิตนัก?"
"ไม่"
"ว่ายังไงนะ? ไม่?"
"ชีวิตเรามีแค่นี้ แค่นี้แหละ"
"เป็นสิ่งเดียวที่เรารู้ว่ามันดำรงอยู่"



(ซุ่มเสียงเป็นเพียงแค่ซุ่มเสียง หาใช่ถ้อยคำ แต่เป็นเสียง มันส่งผลต่อผู้ฟัง มิใช่เพราะสิ่งที่พูด แต่เพราะสิ่งที่มันเป็น หลายปีผ่านไปเราคิดได้แต่เพียงว่า เราครอบครองโลกใบนี้ของเราทั้งใบ แต่เวลานั้นย่อมมาถึงเสมอ เมื่อเราสำนึกได้ว่า เราหาได้ทำอะไรไม่นอกจากจับจ้องมองมัน--โลก ด้วยทัศนะเดิมมาโดยตลอด)

"พรุ่งนี้ผมจะเจอคุณอีกไหม?"


ความทรงจำแด่
Michelangelo Antonioni
(1912-1995)


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
-มิยูกิ เล่ม 1--อาดาจิ มิซึรุ
-คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม เล่ม 15--Eiji Nonaka
Book read:
-มิยูกิ เล่ม 1--อาดาจิ มิซึรุ

Tuesday, February 13, 2007

เกิดแล้วเกิดใหม่

2007-02-13




เวลาบ่าย 3 โมง 32 นาที วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็น่าจะเหมือนวันธรรมดาปกติทั่วๆ ไปวันหนึ่ง ที่ท้องฟ้าดูสดใส—บรรยกาศแบบนี้อาจจะเหมาะแก่การนั่งจิบน้ำชากาแฟพูดคุยกันเรื่องสัปเพเหระ (หรืออ่านนิยายสนุกๆสักเล่ม แกล้มด้วยคุกกี้รสช้อกโกแลตที่แสนอร่อย) แต่ที่เมืองเซ็นหลุยส์ (St. Louis) รัฐมิซูรี่ (Missouri) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานี้อาจจะอบอวลไปด้วยกลิ่นของดอกเบญจมาศในงานศพ เงาทะมึนของมัจจุราชกำลังคืบคลานเข้ามา ยัดเยียดความตายให้กับบางสิ่งบางอย่าง--ที่ถือกำเนิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ บางสิ่งบางอย่างที่เราเรียกมันว่า 'สถาปัตยกรรมสมัยใหม่'

และแล้วเสียงระเบิดแรงสูง (Dynamite) ก็ดังสนั่นหวั่นไหว เพียงพริบตาอาคารพักอาศัยรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมความสูง 14 ชั้นหลายหลังในโครงการเคหะสถานขนาดใหญ่สำหรับชนชั้นแรงงาน (Working Housing Project) ที่มีชื่อว่า 'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนสายหนึ่งในเมืองเซ็นหลุยส์ พังราบลงกับพื้นโลกกลายเป็นกองของเศษอิฐที่ไร้ประโยชน์--วินาทีถัดไปจากนี้จะมีไม่สถานที่อย่าง 'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) อยู่บนโลกอีกต่อไป

ที่รอบนอกพื้นที่ท่ามกลางกลุ่มควันของเศษอิฐที่ยังคงครุ่กรุ่น เสียงโห่ร้องดีใจของผู้คนยังคงดังอยู่อย่างไม่ขาดสาย--เมื่อเดวิดสามารถล้มโกไลแอตได้สำเร็จ (เย้)

'พรุทท์-ไอโกอ์' (Pruitt-Igoe) เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอุดมคติในแบบ ‘สถาปัตยกรรมสมัยใหม่’ (Modern Architecture) 100 เปอร์เซ้นท์เต็ม—แน่นอนเรียกได้ว่ามันเป็นสายพันธ์ุแท้ของสถาปัตยกรรมในรูปแบบสมัยใหม่ (เพราะการออกแบบนั้นดำเนินรอยตามแนวความคิดของกลุ่ม CIAM—The Congress of International Modern Architects ซึ่งเป็นกลุ่มของสมาชิกที่เป็นผู้นำทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 แทบจะทุกกระเบียดความคิด) อาคารหลังนี้ออกแบบโดยสถาปนิกเชื้อสายญี่ปุ่นอย่าง มิโนรุ ยามาซากิ (Minoru Yamazaki) (ในวินาทีนั้นเขาคงไม่รู้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าอาคารอย่าง World Trade Center ที่เขากำลังออกแบบอยู่ในขณะนั้นก็จะหายวับไปกับตาเช่นกัน ในเช้าตรู่ของวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544) โดยอาคารหลังนี้ได้รับรางวัลจาก The American Institute of Architects ในฐานะที่เป็นอาคารที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ ณ วินาทีก่อนที่มันจะกลายเป็นกองเศษอิฐนั้นอาจจะพูดได้ว่า 'ไม่มีชนชั้นแรงงานคนไหนที่เคยอาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้ต้องการมันอีกแล้ว' (มิเช่นนั้นคงจะไม่ตัดสินใจที่จะระเบิดมันทิ้ง) สาเหตุที่สำคัญก็คือ อาคารพักอาศัยหลังนี้ มันดูเย่อหยิ่งจนเกินไป ทรนงตัวจนเกินไป และแน่นอนที่สุดมันไม่แคร์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยสักเท่าไหร่ และจุดที่สำคัญที่สุดก็คือ มันดันลืมไปสนิทว่าในแต่ละชีวิตที่อาศัยอยู่ในอาคารแห่งนี้แท้จริงนั้นทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งหน่วยของชีวิตที่มีความเป็นปัจจเจก

นี่อาจเป็นรอยร้าวที่ชัดเจนที่สุดของ 'ตำนานรักสามเศร้า' ในแวดวงสถาปัตยกรรมที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของผู้ไม่สมหวังในรักทั้งสาม--สถาปนิก (ผู้ฝักใฝ่ในการออกแบบสไตล์โมเดิร์น) ชนชั้นแรงงาน และชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise)

ตำนานรักสามเศร้า--อันแสนโศก เรื่องนี้นั้นเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 30 เมื่อผู้นำทางความคิดแบบสมัยใหม่แห่งโรงเรียนเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) อย่าง เวอเตอร์ โกรเปียส (Walter Gropius) และเพื่อนของเขา มิส วาน เดอร์โรห์ (Mies Van Der Rohe) ระหกระเหินหนีภัยสงครามจากพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่สองจากเยอรมันนีประเทศบ้านเกิดมาสู่โลกใหม่--ประเทศสหรัฐอเมริกา แน่นอนในชั่วโมงนั้นแนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้นกำลังเบ่งบานและฝังรากรึกลงไปในความคิดของสถาปนิกหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในยุโรปอยู่บ้างแล้ว ไม่แปลกอะไรที่การมาอเมริกาในครั้งนี้ของโกรเปียส จะเปรียบเสมือนการปรากฏตัวของ 'พระเจ้าองค์ใหม่' ซึ่งเป็นผู้นำความคิดทางการออกแบบอาคารภายใต้รูปแบบที่เราเรียกว่า 'สถาปัตยกรรมสมัยใหม่' (Modern Architecture) ในการมาสู่โลกใหม่ในครั้งนี้เขาได้รับตำแหน่งเป็นถึงคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

แน่นอนสำหรับประเทศใหม่--อย่างอเมริกา ที่รากแก้วของประวัติศาสตร์ยังไม่ยั่งรากลึกลงดิน ความคิดใหม่ๆ จากดินแดนที่มีรากทางวัฒนธรรมที่หยั่งลึกอย่างยุโรป ย่อมดูหอมหวลชวนหลงใหล--เปรียบได้ดังเช่นสาวพราวเสน่ห์ผู้มาจากดินแดนที่แสนไกล ที่มีจริตจกร้านน่าดูน่ามอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักศึกษาทางสถาปัตยกรรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนเสียใหม่ โดยรับแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ให้เป็นแกนหลักที่สำคัญของการเรียนการสอนแทนที่แนวความคิดแบบดั้งเดิม--ที่พวกเขาคิดว่าเก่าคร่ำครึ

ซึ่งหากเราจะสืบสาวถึงความเป็นมาของแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมในแบบโมเดิร์น (Modern Architecture) ที่มีต้นกำเนิดแรกในยุโรป ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ต้องการจะต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) (โดยชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญญาชนคนหนุ่มสาว--หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ เป็นลูกของคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีที่อ่านหนังสือเยอะ ยกตัวอย่างเช่น เวอเตอร์ โกรเปียส เป็นต้น) โดยมีความเชื่อว่า วิถีชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ของชนชั้นกลางนั้นสิ้นเปลืองและสุรุ่ยสุร่ายจนเกินไป ดังนั้นอาคารที่ออกในแบบสมัยใหม่นั้นจึงไม่ควรมีส่วนตกแต่งหรือลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับแนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้น 'การตกแต่ง' ก็เปรียบเสมือนเป็นการทำ 'อาชญากรรม' ที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งเลย (น่าดีใจแทนพวกเขาเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มนักออกแบบรุ่นนี้ไม่ได้มีชีวิตยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วเขาอาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ ถ้าเกิดอ่านเจอในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและตกแต่งบ้านที่มีอยู่ตามท้องตลาดในปัจจุบัน ที่มักชอบใช้สำนวนในการบรรยายว่า "บ้านหลังนี้ตกแต่งด้วยสไตล์แบบโมเดิร์น"--ให้ตายเถอะการตกแต่งนั้นเป็นอาชญากรรมชัดๆ แต่ก็อย่างว่าล่ะนะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว) แน่นอนสิ่งต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยมือด้วยความวิจิตรบรรจง นั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นำความฟุ้งเฟ้อมาสู่ ดังนั้นวัสดุในการที่จะนำมาใช้งานในการก่อสร้างจึงไม่ควรเป็นของ 'ทำมือ' เพราะของที่ทำจากมือนั้นย่อมมีราคาแพง แน่นอนเมื่อมีความคิดเช่นนี้ วัสดุที่ถูกผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรมอย่าง กระจก เหล็ก ไม้ และคอนกรีต ที่มีสีขาว สีดำ สีเทา และสีน้ำตาล (มีความเชื่อกันว่าสีเหล่านี้เป็นสีกลางๆ ที่ดูขรึมๆ ไม่ดูฟุ้งเฟ้อ) ตามธรรมชาติที่เป็นอยู่จริงของวัสดุชิ้นนั้นๆ (ลองไปดูหนังสือตกแต่งบ้านที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดดูสิว่ามีสีต่างๆ ที่พูดถึงเหล่านี้บ้างไหมเอ่ย ?) จึงกลายเป็นทางออกใหม่ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตกยกรรม รวมถึงยังใช้รูปทรงเรขาคณิตที่มีรูปทรงที่เรียบง่ายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรูปทรงของอาคารเพราะมีความเชื่อว่ารูปทรงเรานี้เป็นรูปทรงที่ปราศจากความหมายจึงไม่สามารถเชื่อมโยงมันเองกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีตได้ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) รวมเรื่องการให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบ 'ที่ว่าง' (Space) เพราะในความคิดของสถาปนิกผู้นิยมออกแบบงานในแบบโมเดิร์นมีความเชื่อว่า ความว่างเป็นสิ่งที่ปราศจากความหมาย และยังเป็นหัวใจหลักของการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งสถาปนิกหวังว่ามาจะเป็นที่อยู่อาศัยแบบใหม่ของชนชั้นแรงงาน ภายใต้โลกทัศน์ในแบบสังคมนิยมที่บูชา "มวลชน" ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ด้วย

และจุดที่เป็นปัญหาซึ่งเป็นที่มีมาของความรักสามเศร้านี้ก็คือ ในความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น อาคารเพื่อมวลชนเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ไม่เคยถูกใจผู้ที่อยู่ในชนชั้นแรงงาน (Working Class) ด้วยสาเหตุก็เนื่องมาจากมันเป็นที่อยู่อาศัยที่ดูแห้งแล้งเกินไป ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันมีลักษณะคล้ายสถานที่ทำงานของเขานั้นก็คือ 'โรงงาน' มากกว่า จะเป็น 'บ้าน' ที่แสนอบอุ่น ดังนั้นเมื่ออยู่ไปซักพักนึง ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะตัดสินใจย้ายออกไปหาบ้านหลังเล็กๆ ที่อยู่ชานเมืองที่อาจจะอยู่ไกลมากขึ้น แต่มีบรรยากาศแวดล้อมที่ดูอบอุ่นกว่าซึ่งมีลักษณะน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม (ที่สามารถวางตุ๊กตาหมีพูห์และมิกกี้เม้าส์ของลูกๆ ไว้ภายในบ้านได้อย่างไม่รู้สึกตะขิตะขวงใจ) บางทีคนพวกนี้คงอาจจะอ่านหนังสือน้อยเกินไป จึงไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ที่เหล่าสถาปนิกยุคโมเดิร์นได้มอบให้คือนวัตกรรมใหม่ของการอยู่อาศัยในศตวรรษที่ 20

แน่นอนงานสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้เงินในการสร้างสูงกว่าศิลปะชนิดอื่นๆ ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำการทำงานออกแบบร่วมกับภาครัฐจึงเป็นทางออกที่สถาปนิกในยุคโมเดิร์นนิยมกระทำกัน อาคารพักอาศัยของชนชั้นแรงงานจึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่อยู่ไปนานๆ เข้าสถานที่เหล่านั้นก็เริ่มรกร้างว้างเปล่าสาเหตุก็เนื่องจากปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ในทางตรงกันข้าม ในย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (ฺBourgeoise) เราก็จะเริ่มเห็นบ้านในสไตล์โมเดิร์นผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็นเช่นกัน พร้อมกับรอยยิ้มชื่นชมยินดีว่าพวกตนได้เป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นนวัติกรรมทางการอยู่อาศัยแห่งศตวรรษที่ 20

จะมีอะไรน่าเศร้าไปกว่านี้อีก

ในเมื่อสถาปนิกคิดค้นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เพื่อมวลชนคนชั้นแรงงาน แต่น้ำพักนำ้แรงทางความคิดของเขากลับถูกคนกลุ่มนี้ตั้งท่ารังเกียจ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ชนชั้นกลางที่สถาปนิกตั้งท่ารังเกียจ และออกแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่เพื่อต่อต้านวิถีชีวิต กับให้การต้อนรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมกับแกล้งทำเป็นลืมว่าต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมเหล่านี้เกิดจากการตั้งท่ารังเกียจพวกตน

เสียงโฮร้องแสดงความดีใจของผู้คนในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 เวลาบ่าย 3 โมง 32 นาที อาจจะเป็นเสมือนจดหมายไร้ตัวอักษรที่ส่งผ่านไปยังสถาปนิกก็ได้ว่าพวกตนนั้นเอือมระอาสถาปัตยกรรมในรูปแบบโมเดิร์นนี้มากมายเพียงใด

และจากจุดนี้เองที่นักทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมหลายท่าน กำหนดหมุดหมายให้มันเป็นจุดสิ้นสุด ของ ‘สถาปัตยกรรมในแบบสมัยใหม่’ (Modern Architecture) กลุ่มสถาปนิกหนุ่มสาวหัวคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น อาจจะตบมือ หวีดร้องส่งเสียงดังด้วยความดีใจ ในใจของเขาและเธอคงจะคิดว่ารุ่งอรุนแห่งสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆ กำลังจะมาถึงอีกในไม่ช้านี้--ยุคที่่สถาปัตยกรรมหันมาให้ความสำคัญกับ 'มนุษย์' (Human) มากกว่า 'ที่ว่าง' (Space)

แต่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) นั้นได้ ‘ตายจากเราไปแล้ว’ จริงๆหรือ ?


ถ้าเราจะลองเปิดหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งและออกแบบบ้าน ณ เวลาปัจจุบันนี้ดู คุณก็อาจจะคุ้นตากับกลุ่มคำต่างๆ เหล่านี้ “บ้านที่ตกแต่งด้วยสไตล์แบบโมเดิร์น” “ห้องครัวออกแบบอย่างเรียบหรูแบบโมเดิร์น” “บ้านรูปแบบสมัยใหม่ที่เหมาะกับชีวิตคนเมืองที่มีสไตล์เช่นคุณ” ถ้าเราตัดคำต่างๆ เหล่านี้--โมเดิร์นสไตล์ ตกแต่งในแบบสมัยใหม่ เรียบหรูในแบบโมเดิร์น ฯลฯ ที่พบเห็นตามสื่อต่างๆ มาลองวางเรียงกันต่อกันเป็น บางทีความยาวของมันในแต่ละปีนั้น เราอาจจะได้หนังสือเล่มหนา(เตอะ)เท่าสมุดหน้าเหลืองเลยก็ได้--ใครจะไปรู้

ถ้ามีคนพูดถึงมันเยอะขนาดนี้บางทีมันอาจจะยังไม่ตายจริงอย่างที่นักทฤษฎีเขาว่ากัน--ใช่แน่นอน มันยังไม่ตาย แต่ได้ถือกำเนิดในร่างอื่น เหมือนซาดาโกะ ในนิยายสยองขวัญเรื่อง 'ริง' ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ซุสุกิ โคจิ มันอาจจะตายไปแล้วถ้ามองในแง่มุมของนักคิดทางสถาปัตยกรรมที่มีหัวคิดก้าวหน้า (ซึ่งเราอาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ด้วยคำตามสมัยนิยมได้ว่าเป็น 'เด็กแนวทางสถาปัตยกรรม' อันได้แก่แนวความคิดในการออกแบบที่ต่อต้านแนวความคิดในแบบโมเดิร์นอย่าง Post-Modern , Deconstruction , Feminism หรืองานที่ได้ออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่อย่าง Blob--แน่นอนว่าแนวคิดพวกนี้ย่อมเป็นแนวทางการออกแบบในกระแสรอง ซึ่งไม่ค่อยมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในวงกว้างมากเท่าไหร่)

แต่สายเกินไปแล้ว ความเป็นจริงก็คือในตอนนี้แนวความคิดในแบบโมเดิร์นนั้นแฝงตัวอยู่ในทุกหย่อมหญ้าตามผืนโลกใบนี้มันกลายเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมกระแสหลัก สถาบันการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมเกือบทุกแห่งในโลกรวมถึงในประเทศไทยก็ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างการเรียนการสอนที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดแบบโมเดิร์นแทบทั้งสิ้น

แน่นอนมันอาจจะแพร่กระจายได้รวดเร็วเฉกเช่น 'ไวรัสริง'

ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) จะมีต้นกำเนิดมาจากแนวความคิดแบบสังคมนิยมสุดขั้ว แต่เมื่อมันเดินทางผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้นั้นไม่มีใครพูดถึงมันในฐานะที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานอีกต่อไปแล้ว--เพราะมันฟังดูเช้ยเชยและเพื่อชีวิตเอามากๆ เด็กในชั้นเรียนสถาปัตยกรรมบางคนอาจจะไม่รู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่เป็นที่มาหรือต้นกำเนิดของงานแบบโมเดิร์นที่ดูเรียบๆ ซึ่งมีให้เห็นกันเกร่อตามหน้านิตยสารหรือหนังสือสถาปัตยกรรมที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆ ไป ซึ่งปัจจุบันนี้เราอาจจะเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ให้ฟังดูเท่ เก๋ ว่าเป็นงานแบบ Minimalist (ซึ่งจะว่ากันไปก็เป็นเรื่องของคนมีมาก(ร่ำรวย)ที่คิดอยากจะลองมีน้อย--ด้วยการลองทำตัวสมถะดูสักที)

และสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใดก็คือชนชั้นกลาง (Bourgeoise) ยังเป็นกลุ่มคนที่รักและเอ็นดูงานในแบบโมเดิร์นนี้อย่างไม่เสื่อมคลายแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใด

คุณคือแฟนพันธุ์แท้สำหรับงานออกแบบสไตล์นี้เลยจริงๆ

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-Jazz Life เล่ม 1--อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการ
Book read:
-Jazz Life เล่ม 1--อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการ

Friday, February 09, 2007

ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ และ อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม

เรื่องนี้เกี่ยวกับคนทำหนังสือที่มีชื่อว่า "PO"
2007-02-09



เมื่อสามปีที่แล้วในกรุงโตเกียว ที่ประเทศญี่ปุ่น ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ เปิดตู้จดหมายหน้าบ้านตัวเองพบว่ามีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาจากกรุงเทพฯ เมื่อฉีกและลองคลี่ออกอ่านพบว่า มันเป็นจดหมายนัดสัมภาษณ์งาน แน่นอนมันเป็นงานที่เขาใฝ่ฝันที่จะทำ มันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสิ่งของ (สิ่งหนึ่ง) ที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มายาวนาน ของสิ่งนั้นก็คือ 'หนังสือ' และงานที่เขาใฝ่ฝันที่จะทำก็คือเป็น 'คนทำหนังสือ'

เด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ที่ชื่อ ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ (ซึ่งในย่อหน้าต่อๆ ไปนั้นเราจะเรียกชื่อเขาสั้นๆ ว่า 'ฮิโร่') ไม่รอช้า เขาล่ำลาพ่อแม่และญาติพี่น้อง เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ออกเดินทางมุ่งสู่มหานครใหญ่อย่างกรุงเทพฯ--เมืองแห่งนางฟ้าที่ดูจริงใจแต่ก็แสนที่จะไร้ระเบียบ แน่นอนเขาไม่ลืมนำสิ่งหนึ่งติดตัวมาด้วย สิ่งที่ไม่มีใครคนไหนบนโลกก็ตามสามารถมองเห็นมันได้ สิ่งที่คนบนโลกเรียกมันว่า 'ความหวัง'

แน่นอนการนัดสัมภาษณ์มิได้หมายความว่า เขาจะรับเราเข้าทำงานเลย เด็กหนุ่มอย่างฮิโร่คงจะยังไม่เข้าใจความจริงในข้อนี้ บทสรุปก็คือ เขาพลาดงานที่เขาใฝ่ฝันอยากจะทำ แต่ที่นี่เองที่เขาพบกับจ๋า-อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการอยู่ในหนังสือแห่งนั้น ในเวลานั้นไม่มีใครที่จะสามารถล่วงรู้ได้ว่า อีก 3 ปีต่อมาหนุ่มสาวคู่นี้จะร่วมมือทำนิตยสารเล่มหนึ่งร่วมกัน

นิตยสาร 2 ภาษา--ไทยและญี่ปุ่น ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า 'PO'

มันไม่ใช่่เรื่องง่ายๆ ที่เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยไม่ได้สักคำ จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกันที่คนๆ หนึ่งจะสามารถทนความยากลำบาก ความเหงา และความอ้างว้างในเมืองใหญ่ได้ ถ้าก่อนออกเดินทางจากญีปุ่นเขาไม่ได้นำ 'ความหวัง' ใส่มาด้วยเต็มกระเป๋า แน่นอนถึงเวลานี้ฮิโร่ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากหางานทำ

คืนวันย่อมล่วงเลยผ่านพ้นไปตามธรรมชาติของมัน หลังจากวันนั้นไม่นานนักฮิโร่ก็ได้งานทำที่หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง
9 โมงเช้า ถึงเที่ยงคืน คือเวลาทำงานของเขา ฮิโร่ต้องจมอยู่ในโลกของถ้อยคำที่ปราศจากความหมาย คลุกคลีกับโฆษณาที่เต็มไปด้วยคำวิเศษณ์บรรยายศัพท์คุณต่างๆ ของสินค้า--ที่ดูเลอเลิศเหมือนมันไม่ได้มีตัวตนอยู่บนโลก ชีวิตในช่วงนี้ของเขานั้นต้องเดิน เข้าออกห้างร้านต่างๆ และสนามกอล์ฟ รวมถึงสถานบริการยามค่ำคืนต่างๆ เป็นว่าเล่น

8 เดือนผ่านไป เมื่อ 'ความหวัง' ที่เขานำติดตัวมาด้วยจากญี่ปุ่นเริ่มร่อยหรอ เขาได้ข้อสรุปจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า การงานที่กัดกิน 'ความหวัง' นั้นจะทำให้ชีวิตของเขาห่อเหี่ยวไปเรื่อยๆ แน่นอนในความคิดของเขา มันเป็นการงานที่ดูไร้อนาคต และในค่ำคืนหนึ่งในระหว่างที่ทำงานอยู่นั่นเอง ขณะที่ล่องลอยอยู่ในโลกเสมือนจริงทางอินเตอร์เน็ต เขาพบเวปไซด์หนึ่งเข้าโดยบังเอิญ เว๊ปไซด์ที่ประกาศข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเปิดสอนกราฟฟิคดีไซน์สำหรับคนญี่ปุ่นที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เสี้ยววินาทีนั้นเองที่ฮิโร่คิดได้ว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเขาในการดำรงชีพเป็น 'คนทำหนังสือ' ที่เขาใฝ่ฝันในอนาคต

สำหรับฮิโร่ ดูเหมือนว่าทางกลับบ้านอาจจะเป็นหนทางเดินต่อของชีวิต เขาใช้เงินก้อนสุดท้ายเป็นค่าเดินทางกลับมหานครโตเกียว ที่เป็นเมืองบ้าน-เมืองเกิดของเขา

ในขณะเดียวกันนั้นเอง ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก่อนที่จ๋า-อัษฎางค์ สิงห์โตเกษม จะออกเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อท่องเที่ยว เธอนึกขึ้นได้ว่ารู้จักกับหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่ง--ชายหนุ่มที่มีชื่อว่า 'ฮิโร่ทะคะ คุรุซุ' เธอไม่รอช้า เขียนอีเมล์ติดต่อกับฮิโร่ในทันทีในวันก่อนออกเดินทาง
ค่ำคืนหนึ่งในมหานครโตเกียว ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง หนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังสนทนาแลกเปลี่ยนความฝันของกันและกัน แน่นอนว่าทั้งสองคนมีความฝันเดียวกัน ความฝันในการทำนิตยสารสักเล่มในประเทศไทย

ในค่ำคืนนั้น--เสียงแก้วเหล้าสาเกกระทบกันเป็นเสมือนตัวแทนคำมั่นสัญญาของคนทั้งสอง

ในขณะที่จ๋าเดินทางกลับมาทำงานเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารเล่มเดิมในกรุงเทพฯ ที่กรุงโตเกียวฮิโร่ก็เริ่มเก็บข้อมูลที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำนิตยสารเล่มดังกล่าว โดยพยายามขอสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นที่เขาคิดว่ามีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
หนึ่งปีหลังจากนั้นเมื่อฮิโร่กลับมาที่กรุงเทพฯอีกครั้งตามคำสัญญาที่ทั้งสองให้แก่กันไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น
และเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่หนุ่มสาวทั้งสองต้องเผชิญกับอุปสรรคนานับประการก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท At Container และผลิตนิตยสารที่มีชื่อว่า 'PO' ฉบับปฐมฤกษ์ออกมาปรากฎแก่สายตาบนแผงหนังสือ
และหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่นิตยสารเล่มนี้วางแผง บ่ายวันนั้นเองที่ผมได้นัดพูดคุยกับจ๋าและฮิโร่ ณ มุมหนึ่งของสถานที่ที่หลบลี้ไปจากความจอแจและโกลาหล ในกรุงเทพฯ

จ๋าคุยให้เราฟังว่า "หนังสือโพเป็นหนังสือสองภาษา (ไทยและญี่ปุ่น) ที่นำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาใกล้ๆ ตัว เรื่องราวในชีวิตประจำวันของสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจที่นิตยสารเล่มอื่นมักมองผ่าน (เพราะมันแสนที่จะธรรมดา) แต่เราไม่ละเลย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเราในชีวิตในแต่ละวัน โดยจะวางจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น"

จ๋ายังบอกกับเราถึงที่มาของชื่อนิตยสารเล่มนี้ว่า "โพ (PO) อาจจะแปลได้หลายความหมาย สำหรับฮิโร่อาจจะหมายถึงคำว่า 'โป๊' คือเป็นการเปลือยความคิดออกมา ซื่อๆ แบบไม่เสแสร้งแต่สำหรับฉันความหมายที่โดนใจที่สุดก็คือ โถส้วมเด็ก ฉันมีความคิดว่าช่วงเวลาที่เรานั่งอยู่บนโถส้วม นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งจินตนาการ หรือคิดอะไรต่างๆ ได้มากมาย ทั้งยังสามารถแสดงความรู้สึกเจ็บปวด สุขใจ และตื่นเต้นได้อย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์"

เส้นทางของการใช้ชีวิตเป็น 'คนทำหนังสือ' ของจ๋าและฮิโร่ดูเหมือนว่ายังอีกยาวไกล ก็มีแต่เวลาและคุณผู้อ่านเท่านั้นที่สามารถตัดสิน การอยู่การไปของหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ได้

แต่สำหรับเรานั้นการกระทำของจ๋าและฮิโร่ล้วนแล้วแต่แสดงถึงด้านที่ดีงามของมนุษย์

ไม่ใช่ในแง่ที่กล้าที่จะแตกต่าง ไม่ใช่ในแง่ที่กล้าที่จะแหกคอก แต่เราชื่นชมพวกเขาในฐานะที่มีความซื่อสัตย์ต่อความคิดและความใฝ่ฝันของตัวเอง และพยายามทำมันให้สำเร็จ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติที่ดีในการเป็นมนุษย์ที่น่าเคารพยกย่อง--บนโลกใบนี้



ปล.--เขียนไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ลงในนิตยสาร H&D ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ถึงตอนนี้ก็ 2 ปีพอดี ^_^
+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

สิ่งที่อยากเขียน--เมื่อเวลาผ่านพ้นไปสองปี

ด้วยความที่พูดคุยกันถูกคอ หลังจากที่สัมภาษณ์และพูดคุยสนทนากันในวันนั้น จ๋าและฮิโร่ ชวนผมมาร่วมทำนิตยสารโพ--เล่มที่สาม ซึ่งเป็นฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง ดนตรี (เล่มแรกเกี่ยวกับเบียร์ญี่ปุ่น เล่มที่สองเกี่ยวกับนิตยสารไทย) นึกถึงแล้วก็สนุกดี จ๋าเป็นคนสนุก พูดจาตลกและปล่อยมุกฮาได้อยู่ตลอดเวลา ส่วนฮิโร่ก็ลูกบ้าเยอะ เวลาไม่อยากทำงานก็นอนเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย(ใครเห็นฮิโร่ตอนนี้อาจจะนึกว่าเขาเป็นคนขี้เกียจสันหลังยาวได้เลย) แต่บทจะขยันขึ้นมาเนี่ยจ่าเคยเล่าว่าสามวันสามคืนนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบไม่ยอมหลับยอมนอน--ซึ่งถ้าใครมาเห็นฮิโร่ตอนทำงานก็อาจจะบอกว่านี่แหละเป็นความขยันแบบคนญี่ปุ่น

ฮิโร่เป็นคนชอบฟังเพลงแบบขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ วันนึงขณะที่นั่งทำงานกันอยู่ฮีโร่ชวนผมคุยเรื่องเพลง ไม่คุยเปล่าเปิดเพลงโน้น เปิดเพลงนี้ เปิดมิวสิควีดีโอ หรือคอนเสิร์ตศิลปินที่เขาชื่นชอบให้ผมดูพร้อมกับร่ายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละวงอย่างละเอียด ซึ่งยอมรับว่าวันนั้นสนุกมากๆ

รู้สึกว่าตอนทำเล่มนั้น สัมภาษณ์นักร้องไว้เยอะมาก และถ่ายรูปนักร้องแบบสนุกๆ เอาไว้เยอะ (เช่น พงษ์สิทธิ คำภีร์ ปั่นสามล้อมอยู่ในสวนบ้านตัวเอง) ผมเองก็สัมภาษณ์หลายคนในเล่มนี้ เช่น พงษ์สิทธิ์ คำภีร์(เป็นนักร้องแนวเพื่อชีวิตคนสุดท้ายแล้วในความคิดของเรา เพราะหลังจากพี่ปูเนี่ยยังไม่เห็นใคร?--หรือว่าเพลงที่ไม่แนว และร้องภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำแบบนี้มันกำลังจะตาย? :P--เพลงตลอดเวลา เพลงคิดถึง กับเพลงสุดใจเพราะมากๆ สำหรับเราใครที่เป็นคนแต่งสามเพลงนี้ต้องไม่ธรรมดา ^_^) กระชาย วง Death of A Saleman (อันนี้เป็นวงดนตรีที่ชอบเป็นการส่วนตัว 555 กระชายอายุไล่เลี่ยกับผม รู้สึกว่าตอนนี้เขาทำงานเกี่ยวกับเว๊บไซด์อะไรสักอย่างนึงที่แกรมมี่ ล่าสุดเคยเจอครั้งนึงตอนลงไปกินข้าวเที่ยงในร้านขายซีดีแถวอโศก) ริก--นักร้องหญิงที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แก๊บทีโบน แล้วก็สุนารี ราชสีมา(ผู้หญิงคนนี้มีเสียงที่เพราะมากๆ)

เวลาสัมภาษณ์ก็คุยกันแบบยืดยาวเรื่อยเปื่อย แต่พอถึงเวลาต้องลงมือเขียน จ๋าบอกว่า อยากให้มันสั้นๆ หนึ่งย่อหน้า สองย่อหน้าก็พอ(ที่จี้เขียนนะยืดยาว แล้วก็ลีลาเยอะไป ^_^) ไอเดียก็คือ สั้น ง่าย แล้วก็กระชับ ไม่ยืดเยื้อ

ด้านล่างเป็นตัวอย่างงานที่เขียน--แบบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ยืดเยื้อ ตามที่จ๋าอยากได้ ^_^

-------------------------------------------------------------------
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
-------------------------------------------------------------------
headline
สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตนักดนตรีคือการแสดงสด

text
ก่อนเป็นนักดนตรี ผมเคยอาศัยอยู่กับพี่เล็ก คาราบาวและเคยเป็นเด็กยกเครื่องดนตรีให้วงคาราวานมาก่อน
นับตั้งแต่จำประสบการณ์ที่เกี่ยวกับดนตรีได้ดูเหมือว่ากีต้าร์คือเครื่องดนตรีที่ผมคลุกคลีตีโมงกับมันมาตั้งแต่เด็ก (นอกเหนือไปจากลูกฟุตบอล--อ้าวก็ลูกฟุตบอลไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีนี่?) ประสบการณ์เกี่ยวกับดนตรีของผม เป็นประสบการณ์ตรง มันต้องแลกมาด้วยวันเวลาในชีวิต กว่าตัวโน้ตจะค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในร่างกาย และท้ายที่สุดวันหนึ่งมันถูกกลั่นกรองออกมาเป็นเพลงเป็น 'เพลงเพื่อชีวิต' เพลงส่วนใหญ่ที่ผมแต่งจะเป็นเพลงเศร้า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในตอนแสดงสดผมไม่อยากให้คนดูเต้นมากนัก ผมอยากให้คนดูยืนอยู่เฉยๆ มากกว่า ทุกวันนี้ผมยังคงรักการเล่นสดและชอบเดินทางไปพบปะแฟนเพลงในจังหวัดต่างๆ เพราะสำหรับผมการแสดงสดถือเป็นหน้าที่สำคัญของนักดนตรี

คำแนะนำ
-สำหรับนักดนตรีความทะเยอทะยานถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมบอกกับตัวเองเสมอว่าถ้าต้องเล่นคอนเสิร์ตเราต้องเจ๋งกว่าคนที่เราชอบให้ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว มันก็จะสนุกเพิ่มมากขึ้น
-เมื่อมีโอกาสเข้ามาเราควรรีบคว้าไว้แล้วทำมันให้ดีที่สุด เพราะโอกาสดีๆ ไม่ได้วิ่งเข้ามาหาเราบ่อยๆ
-ถ้าอยากจะเป็นนักดนตรีต้องหมั่นฝึกฝนและให้ความสำคัญกับการเล่นสด เพราะถ้าเราจัดสรรเวลาดีๆ อาชีพนักดนตรีก็สามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้อย่างสบาย

Albums ที่ชอบ
-คาราวาน ชุด 1985
-Direstrait ชุด Love songs
-U2—ทุกชุด

-------------------------------------------------------------------
Death of A Saleman
-------------------------------------------------------------------
Headline
เสียงคือเพื่อนที่ดีที่สุด พวกเรามองทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวด้วยอารมณ์ขัน เราก็เลยทำดนตรีขึ้นมาเพราะว่าเราอยากจะได้เห็นโลกในแบบที่เราอยากจะมอง

text
จุดเริ่มต้นในการทำเพลงของผมเริ่มต้นจากความรู้สึกที่อยากจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วยเสียงต่างๆ ที่ผมชอบ ดนตรีของผมมีแกนกลางอยู่ที่การเป็น Folk Music แต่ผมก็ไม่ได้จำกัดเลยว่าผมจะเล่นเสียงเครื่องดนตรีอะไรใส่ลงไปบ้าง พวกเรามีความสนุกที่จะเติมเสียงต่างๆ ลงไปเรื่อยๆ ผมชอบการทำงานของนักดนตรีญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับรายละเอียด ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการทำงาน ดนตรีในแต่ละแบบนั้นรู้สึกว่ามีที่มาที่ไปรู้สึกว่าเข้าให้ความสนใจในการพัฒนางานเป็นอย่างมาก ซึ่งต่างจากเมืองไทยนักดนตรี เดี๋ยวก็ทำฮิปฮอป แล้วอยู่อีกหน่อยก็เปลี่ยนเป็นแต่งตัวแบบแร็กเก้ แต่ทำเพลงแบบป๊อบร็อค บางครั้งผมก็รู้สึกว่าเขาไม่ค่อยมีจุดยืน สำหรับผมความใฝ่ฝันสูงสุดก็คืออยากจะเล่นดนตรีและทำงานดนตรีที่เรารักแล้วก็เดินทางไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ เพียงเท่านี้คิดว่าชีวิตก็น่าจะมีความสุขแล้ว

คำแนะนำ
-อยากให้วงการดนตรีแข็งแรงมากขึ้นกว่านี้ โดยมีสถานที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสเล่นสดมากกว่านี้ แล้วทุกๆ อย่างในวงการดนตรีไทยก็อาจจะดีมากกว่านี้
-เมื่อสนใจดนตรีควรศึกษาให้ถึงรากของดนตรีในแนวนั้นๆ เพราะสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาแนวความคิดในการทำงานและช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี

Albums ที่ชอบ
-Radio Head--OK Computer
-Melon Collie and The Infinite Sadness--Smashing Pumkins
-
-------------------------------------------------------------------
Rik
-------------------------------------------------------------------
headlines
ดนตรีของฉันเกิดจากความทะเยอทะยานที่จะเอาชนะคำสบประมาทในเบื้องต้น แต่โดยรวมแล้วสำหรับฉันนั้นดนตรีได้หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิต

text
ความคิดดีๆ มักจะมาในตอนเช้าตรู่ ท่วงทำนองของเพลงมักปรากฎในสมองของฉันในโมงยามเหล่านั้น ยามเช้าจึงมีความสำคัญกับฉันมากๆ เวลาฉันนึกอะไรได้ฉันก็มักจะคว้าเครื่องเล่นเทป มาบันทึกเสียงต่างๆ เหล่านั้นเสมอ ดังนั้นในการทำเพลงท่วงทำนองจึงมีความสำคัญที่สุด จากนั้นเนื้อหาจึงตามมาที่หลัง เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเหล่านี้แล้ว ฉันก็จะเอาท่วงทำนองเหล่านี้ไปคุยกับเพื่อนๆ ในวงเพื่อช่วยกันคิดแตกย่อยรายละเอียดในส่วนต่างๆ ซึ่งเวลาในการพัฒนางานส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในห้องซ้อมดนตรีแทบทั้งสิ้น เพราะเราจะเล่นกันไปคิดกันไปปลดปล่อยความคิดไปตามเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้น ในการทำดนตรีนั้นส่วนใหญ่ฉันจะไม่ค่อยมีทฤษฎีอะไรมากมาย เพลงที่ทำส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก ฉันชอบเวลาที่อยู่บนเวทีคอนเสิร์ตเพราะมันเป็นชั่วโมงที่เราสามารถปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ในตัวของเราได้อย่างเต็มที่

คำแนะนำ
-ฉันตกใจมากเมื่อมีรุ่นน้องมาถามว่าทำยังไงดี อยากเล่นดนตรีแต่ยังไม่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ความจริงแล้วดนตรีกับภาพลักษณ์ภายนอกเป็นคนล่ะเรื่อง ไม่ว่าคุณจะทำดนตรีออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ความเป็นตัวของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
-ความสนุกของดนตรีอยู่ที่การทดลอง ในบางครั้งในการทำงานคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ฉันชอบทำงานกับคนที่มีความคิดที่แตกต่างกัน เพราะอย่างน้อยมันก็น่าจะสนุกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง บางครั้งการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ก็น่าสนใจ เพราะพวกเขาอาจจะมีมุมมองที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ฉันคิด

albums ที่ชอบ
-เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
-Led Zipplin ทุกชุด
-Ofar Haza ทุกชุด

-------------------------------------------------------------------

ความสนุกของการทำหนังสือตอนหนึ่งทีสำคัญก็คือตอนที่จัดรูปเล่มกัน แสดงความคิดเห็นกันตอนวางหน้ากระดาษ จนหนังสือเล่มนี้เกือบจะเสร็จ
เออลืมเล่าไปว่าในเล่มนี้มีคอลัมท์ที่รีวิวบ้านร้างรูปร่างประหลาดๆ ที่ผมเขียนด้วย ฮิโร่เป็นคนถ่ายรูป บ้านหลังนี้อยู่แถวลาดพร้าว

วันหนึ่งจ๋าโทรมาหาผมแล้วบอกว่า ฉบับใหม่นี้คงไม่สามารถออกได้แล้วล่ะจี้

ผมพอจะเดาได้ว่าเป็นเพราะอะไร ทำได้ก็แค่บ่น "เสียดายว่ะ"
เพราะรู้ว่าฮีโร่และจ๋าคนที่ปลุกปล้ำหนังสือเล่มนี้มาด้วยกัน
คงเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และคงอินกับมันมากกว่าผม

หนึ่งปีแล้วมั้งที่ผมไม่ได้เจอจ๋ากับฮิโร่--แบบเห็นกันตัวเป็นๆ
สำหรับจ๋าผมยังเคยคุยกับเธอบ้างทางเอ็มเอสเอ็นนานๆครั้ง ตอนนี้เธอเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ประเทศญี่ปุ่นอยู่ ส่วนฮิโร่ผมเห็นแวบๆ ที่งานสัปดาห์หนังสือ แต่ไม่ทันได้ทักมันก็ดันเดินหายไปซะก่อน :P

ล่าสุดเคยเปิดหนังสือรวมผมงานศิลปะของโน้ต-อุดม แต้พานิช แบบผ่านๆ ก็เห็นชื่อฮิโร่ เป็นคนจัดรูปเล่มหนังสือเล่มนี้

สำหรับเรารู้สึกสนุกนะที่ได้ทำหนังสือเล่มนี้แม้มันจะไม่ได้พิมพ์ก็เถอะ

อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เพื่อนเพิ่มมาอีกสองคน ^_^
เพื่อนที่รัก สิ่งของ (สิ่งหนึ่ง) ที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษย์มาอย่างแสนยาวนาน เหมือนๆกัน
ของสิ่งนั้นจะเป็นอะไรอีกได้ ถ้าไม่ใช่ "หนังสือ"


+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Books bought:
- A Primer of Soto Zen : A translation of Dogen's Shobogenzo Zuimonki--Reiho Masunaga
- รัฐประหาร 19 กันยายน : รัฐประหารเพื่อระบอบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
Books read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki
- รัฐประหาร 19 กันยายน : รัฐประหารเพื่อระบอบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Friday, February 02, 2007

ความทรงจำเกี่ยวกับป้าย 2 แผ่นในเกียวโต

ที่บ้านเมียวคิอัน 1 แผ่น และอีก 1 แผ่นที่พระราชวังนิโนมารุในปราสาทนิโจ
2007-02-02

-1-
บนรถไฟฟ้า ผมกำลังยืนประคองตัวท่ามกลางความแออัดยัดเยียด ของชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงเทพฯ ด้วยความที่ยืนอยู่ในระยะใกล้มาก ผมจึงได้ยินเสียงสามีภรรยาคู่หนึ่งคุยกัน

"ผมคิดว่าถ้าลูกเราโตอีกหน่อย จะส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำที่ราชบุรี เห็นเพื่อนผมบอกว่าโรงเรียนนี้ดี" ภรรยาตอบกลับไปในขณะที่กำลังอุ้มเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังนอนหลับอยู่ "อืมฉันเห็นด้วยนะ เพื่อนฉันก็เคยบอกเหมือนกันว่า ด๊อกเตอร์ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนนี้เขาเก่ง แต่ยังไงก็ต้องให้ลูกเราโตอีกนิดนึงถึงจะส่งไป ตอนนี้ลูกเรายังเล็กอยู่ ยังติดพ่อแม่"

สถานีหน้าคือสถานีอโศก ผมต้องเตรียมตัวลงแล้ว--ออฟฟิศที่ผมทำงานอยู่แถวนี้

เรื่องราวของครอบครัวนี้ สำหรับผมมันกำลังจบลง ผมแค่เดินผ่านเข้ามา แล้วก็กำลังเดินจากไป มันเป็นเสมือนชิ้นส่วนเล็กๆ ของเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบพบเจอ(ในทางกลับกันตัวผมเองก็เป็นเหมือนเหตุการณ์เล็กๆ ที่ครอบครัวนี้ได้พบเจอเช่นกัน) เรื่องราวก่อนหน้านี้ของครอบครัวนี้เป็นยังไงผมไม่รู้ เรื่องราวหลังจากนี้เป็นยังไงผมยิ่งไม่รู้(ในอนาคตพวกเขาจะส่งเด็กผู้หญิงคนนั้นไปโรงเรียนประจำหรือเปล่า?--ผมยิ่งไม่รู้ใหญ่) เราอาจจะเพียงแค่เดินผ่านกันในวันนี้ แล้วก็อาจจะไม่ได้พบกันอีก เมื่อเดินออกจากรถไฟฟ้าไปผมชีวิตผมก็ต้องผมกับเหตุการณ์ใหม่ๆ อื่นๆ ที่กำลังผ่านเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชีวิตเป็นเสมือนภาพ collage ที่ไม่ประติดประติดประต่อ ของเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่อง แยกออกมาเป็นชิ้นๆ คล้ายภาพนามธรรม (Abstract)

ธรรมชาติของประสบการณ์จึงไม่ใช่เรื่องเล่าเชิงเส้น ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง

แต่ประสบการณ์มีโครงสร้างคล้ายกิ่งก้านและรากของต้นไม้

ที่แตกแขนงและสัมพันธ์กัน

บางครั้งต่อเนื่อง

บางครั้งก็ไม่ต่อเนื่อง



-2-
ภาพนักท่องเที่ยวที่ปรากฎอยู่ตรงด้านหน้าปราสาทนิโจ ที่เกียวโต ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของมาร์ค
"ดูจากวิธีการเที่ยวของคุณ ถ้าให้ผมเดาคุณไม่น่าจะใช่ backpacker มืออาชีพ ดูคุณไม่ค่อยใส่ใจในการเที่ยวเท่าไหร่" พอพูดจบเขาก็หัวเราะร่วน

ผมหัวเราะคลอไปกับมุขตลกของเขาแล้วตอบไปว่า "ผมไม่ใช่ Backpacker อย่างที่คุณว่าจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วผมเป็นนักเดินเล่น ที่เดินทางมาเดินเล่นไกลถึงเกียวโต" ถึงตาผมหัวเราะบ้าง

มาร์คเป็นเพื่อนร่วมห้องพักเดียวกันกับผมที่ Higashiyama Youth Hostel ในเกียวโต เดียงของมาร์คอยู่ถัดไปจากเตียงของผม ผมพบมาร์คในคืนที่สาม ที่ผมพักอยู่ที่นี่ มาร์คเดินหอบกระเป๋าใบใหญ่พร้อมข้าวของพะรุงพะรังเข้ามาในห้อง จากการทักทายกัน ทำให้ผมรู้ว่า เขาเป็นคนอเมริกัน และเป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่งในอเมริกา(ผมจำไม่ได้แล้ว)

"ผมไม่ได้แปลนแผนการเที่ยวเอาไว้เลย" ผมตอบเขาไปอย่างนั้นเมื่อเขาถามถึงแผนการท่องเที่ยวในเกียวโตของผม

ก็ไม่เชิงว่าไม่ได้วางแผนเอาไว้ เพียงแต่ที่เกียวโตผมไม่ได้วางแผนเอาไว้รัดกุมเหมือนกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของผมทริปนี้ในจังหวัดอื่นๆ--โตเกียว โยโกฮาม่า โตชิกิ เซ็นได คานาซาว่า และสุดท้ายที่โอซาก้า เพราะเกียวโตเป็นจังหวัดสำคัญทีสุดสำหรับผมในการเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งนี้ ผมจึงอยากที่จะรู้สึก 'สบาย สบาย' ในการที่จะทำความรู้จักกับเกียวโต

"นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอนสำหรับการมาเที่ยวที่นี่--เกียวโต" ผมบอกกับตัวเองไว้อย่างนั้น ทันทีที่ผมเดินออกมาจาก Kyoto JR Station แล้วเห็นบรรยากาศของเมืองนี้(เมืองที่ตึกนั้นดูไม่สูงไปจนเกินงาม--แสดงว่าคนที่นี่ไม่ค่อยละโมบ และโลภมากในการใช้พื้นที่) ในเช้าวันแรกที่ผมเดินทางมาถึง เวลาในตอนนั้นน่าจะประมาณ 7 โมงเช้าและอากาศดีมากๆ หลังจากเดินเข้าไปซื้อตั๋ว City Bus แบบใช้ One Day Pass ที่ Information Office ที่อยู่ทางด้านหน้าของสถานีแล้วผมตัดสินใจเดินทางไปที่พัก ด้วยการเดินเท้า เพราะอยากซึมซับบรรยากาศของเมืองเกียวโต(คุณอาจจะสงสัยว่าผมซื้อตั๋วไปทำไมถ้ายังไม่ใช้มัน คือผมคิดเอาไว้ว่าจะใช้หลังจากเดินทางถึงที่พักแล้ว) หรือถ้าพูดให้ดูน่าหมั่นไส้หน่อยก็อาจจะบอกว่า "ผมอยากทำความรู้จักเกียวโตอย่างช้าๆ ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป"

อีกหลายเดือนต่อมาหลังจากนั้น ผมลองใช้โปรแกรม Google earth วัดระยะทางที่ผมเดินเล่นในเช้าวันนั้น ตัวเลขที่ได้คือ 5.4 กิโลเมตร
(เช้านั้นผมใช้เวลาเดินเกือบสามชั่วโมง)

ที่หน้าปราสาทนิโจ ตอนนี้ผู้คนพลุกพล่านไปหมด ไม่ว่าคุณจะพยายาม romanticize ความคิดของคุณ ว่าตัวคุณเองเป็นอะไรแบบไหนก็ตาม-นักท่องเที่ยวผู้มั่งคั่งที่กำลังเดินทางมาพักผ่อนกับครอบครัว, นักวิจัยที่เดินทางมาเก็บข้อมูลเพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสักชิ้นสองชิ้น, Backpacker ที่รักอิสระและออกเดินทางท่องโลกอย่างเสรี, ช่างภาพที่ชอบมองโลกรอบตัวผ่านกล้องถ่ายรูป มากว่าที่จะมองโลกด้วยเนื้อตาของตัวเอง หรือแม้กระทั้งนักเขียนที่กำลังออกเดินทางท่องเที่ยวด้วยความความเชื่อที่ว่า "การเดินทางเป็นดวงตาของนักเขียน"(ซึ่งคุณก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่านักเขียนคนสำคัญในโลกวรรณกรรมอย่าง Raymound Queneau และ Georges Perec ก็ไม่เคยเดินทางไปไหนไกลกว่ากรุงปารีสที่พวกเขาอยู่) หรือว่าตัวผมเองที่นิยมชมชอบวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา และเดินทางมาเที่ยวไกลถึงญี่ปุ่นคราวนี้ก็เพราะอยากเห็นมัน--สิ่งที่ตระหง่านอยู่ข้างหน้าผมในตอนนี้ ด้วยเนื้อตาของตัวเองสักครั้งในชีวิต(เหตุผลนี้ฟังดูแล้วก็น่าหมั่นไส้ไม่แพ้กัน)

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม ถ้าคุณมาที่ปราสาทนิโจ--ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกียวโต ในช่วงเดือนเมษายน สิ่งที่คุณจะได้พบเป็นอย่างแรกเลยก็คือ "คน คน คน แล้วก็คน"
คลื่นของผู้คนอยู่เต็มด้านหน้าปราสาทนิโจ

ที่นี่คุณจะเห็น Backpacker ยืนต่อแถวกับกรุ๊ปทัวร์ที่มีคนถือธงเดินนำหน้าด้วยบรรยากาศ สมานฉันท์--ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย คลุกเคล้ากันจนกลายเป็นแถวเดียวเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ


-3-
'To visit Myoki-an, Please apply in writing a month in advance, specifying your name, address, telephone number and the date you wish to come.
With your letter please include a reply-paid postcard.(available at post-offices, called "ofuku hagaki"
Admission is 1,000 yen (Pay on the day you visit.)'

ผมยืนอ่านข้อความเหล่านี้วนไปวนมาอยู่หลายครั้ง มันเป็นข้อความภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ ที่อยู่ใต้อักษรภาษาญี่ปุ่นที่เขียนด้วยลายมือขนาดใหญ่บนป้ายประกาศหน้าที่อยู่ด้านหน้าบ้านหลังนี้--เมียวคิอัน ซึ่งในตอนนี้ไม่มีใครอีกเลยนอกจากผม

"น่าเสียดาย" คงจะพูดประโยคอื่นไม่ได้อีกแล้วในเวลานี้ ก็ในเมื่ออุตส่าห์เดินทางออกมาที่ย่านชานเมืองของเกียวโต--โอยามาซากิ เมืองที่อยู่ระหว่างเกียวโตกับโอซาก้า เพื่อมาเยี่ยมชมบ้านหลังนี้

"ผมไม่ได้แปลนแผนการเที่ยวเอาไว้เลย" ผมนึกถึงประโยคเคยที่ตอบมาร์คไปเมื่อคืนแล้วปิดท้ายประโยคนี้ด้วยเสียงหัวเราะร่วน ผิดกันแต่ที่ตอนนี้ผมหัวเราะไม่ออกเสียแล้ว ถ้ามาร์คอยู่ด้วยตอนนี้เขาน่าจะเป็นมนุษย์โลกที่หัวเราะแทนผมได้ดีที่สุด

ผมเดินวนดูรอบบ้านหลังนี้อยู่สักพัก แล้วก็หยิบกล้องออกมาเพื่อถ่ายภาพบ้านหลังนี้จากบริเวณพื้นที่ที่อยู่รอบๆ

แน่นอน
ผมถ่ายภาพป้ายประกาศแผ่นที่ติดอยู่หน้าบ้านแผ่นนั้นมาด้วย




-4-
บริเวณพื้นที่โล่งตรงประตูคาระมัง(Kara-mon) ซึ่งเป็นลานโล่งหน้าพระราชวังนิโนะมารุ ที่อยู่ภายในพื้นที่ของปราสาทนิโจ นักท่องเที่ยวกำลังโพสท่าถ่ายรูปบริเวณหน้าทางเข้า ผมเองก็หยุดยืนบริเวณนี้เพื่อเปลี่ยนฟิลม์ม้วนใหม่ให้เสร็จ ก่อนเดินเข้าไปไปชมภายในภายในพระราชวัง

ภายในพระราชวังเจ้าหน้าที่แจกแผนผังคร่าวๆ ข้อมูลในนั้นบอกว่าพระราชวังแห่งนี้แบ่งออกเป็น 10 จุดที่สำคัญ ซึ่งแบ่งออกตามขนาดของพื้นที่ใช้สอย ที่จัดเอาไว้เป็นห้องอย่างได้สัดส่วน และนักท่องเที่ยวควรเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในแต่ละจุดโดยเคร่งครัด

ความน่าสนใจของพระราชวังนี้ที่ผมสัมผัสได้ในเบื้องแรกเลยก็คือ ยูกุยซึบาริ (Uguisu-Bari) หรือพื้นนกไนติ้งเกล ที่อยู่บริเวณระเบียงทางเดินโดยรอบ ที่ถูกออกแบบมาให้มีเสียงดังตลอดเวลาแม้ว่าคุณจะเหยียบย่ำมันด้วยสัมผัสที่แสนจะแผ่วเบาเพียงไร

ภายในพระราชวังนักท่องเที่ยวต้องเดินเป็นแถวตามเส้นทางที่กำหนดไว้
ระหว่างทางผมพยายามหยุดเดินเพื่อมองภาพเขียนที่ประดับไว้ที่บานเลื่อนโชจิ(ประตูที่ทำด้วยกระดาษ) เพื่อซึมซับความงามของภาพเขียนเหล่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพเขียนของศิลปินที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในสมัยโบราณทั้งสิ้น

แต่ไม่สำเร็จ

เพราะทุกครั้งที่หยุด เพื่อที่จะจดบันทึกอะไรเล็กๆน้อยๆ หรือเพื่อซึมซับเอาความงดงามของภาพเขียนที่ห้องต่างๆ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามจุดต่างๆ จะส่งสัญญาณเป็นอวัจจนะภาษาอย่างสุภาพมาที่ผม--ประมาณว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะคะกรุณาเดินต่อไป ผมไม่ควรหยุด และกรุณาเดินตามแถวให้เรียบร้อย ยิ่งเดินก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนสายพานอะไรสักอย่างที่ถูกบังคับให้ต้องเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

และเช่นเดียวกัน

ตลอดทางบานโชจิทางด้านซ้ายมือของระเบียงที่เชื่อมต่อกับสวนนิโนมารุ ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงสวนหนึ่งของญี่ปุ่น ออกแบบไว้นานกว่า 400 ปีที่แล้ว โดย โกโบริ เอนชู (Kobori Enshu) เลื่อนปิดสนิททุกบานจนเราไม่สามารถเห็นได้เลยว่าภายนอกบานโชจิเหล่านั้นมีสวนที่แสนสวยงามอยู่

ที่บานโชจิมีแผ่นป้ายเขียนเอาไว้ว่า

"Don't open! For the protection of wall painting"

ผมมองที่แผ่นป้ายนี้ แล้วอ่านมันซ้ำอีก





-6-
เมียวคิอัน (Myoki-an) น่าสนใจตรงไหน? ทำไมผมถึงนั่งรถไฟออกจากเมืองเกียวโตเพื่อไปดูบ้านเก่าๆ เล็กๆ หลังนี้

เมียวคิอัน เคยเป็นวัดเซนของสำนักท่านรินไซมากก่อน ก่อสร้างขึ้นในสมัยโมรุมาจิ ซึ่งมีอายุประมาณ 400-700 ปีที่แล้ว ภายในมีเรือนน้ำชาแบบญี่ปุ่น "The Taian teahouse" ที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็น 1 ใน 3ของเรื่อนน้ำชาที่สำคัญที่สุดและมีอายุเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น

รู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชม


ภาพถ่ายบริเวณด้านหน้าของเมียวคิอัน


ป้ายแสดงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับเรือนน้ำชา


-7-
ผมเดินวนรอบพระราชวังเพื่อถ่ายรูปสวนนิโนมารุ พลางแล้วก็คิดอะไรไปพลาง องค์ประกอบของสวนแห่งนี้ประกอบไปด้วยบ่อน้ำบ่อใหญ่ ซึ่งมีเกาะสามเกาะเล็กๆ อยู่ในนั้น



ยิ่งเดินผ่านสวนแล้วมองเข้าไปในพระราชวังที่เพิ่งเดินออกมาก็ยิ่งทำให้รู้สึกเสียดาย เพราะการปิดประตูหมดทุกบานเพื่อป้องกันภาพวาดที่อยู่ภายในทำให้คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นนั้นหายไป
เพราะสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นพื้นที่บริเวณระเบียงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นส่วนที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายในเข้ากับพื้นที่ภายนอก ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดที่ถูกกำหนดไว้ด้วยกรอบของสถาปัตยกรรม ทำให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเป็นเสมือนฉาก คนที่เข้าไปรับรู้หรือสัมผัส อยู่ในบริเวณนั้น จะเติมเต็ม ทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของความงามและความหมายต่างๆ ที่แฝงในเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในสวนที่อยู่ภายนอกอาคาร หรือตัวสถาปัตยกรรมจนทำให้มันสามารถเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

-8-
ถ้าต้องเปรียบเทียบความรู้สึก ระหว่างการไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้านเมียวคิอัน กับการเข้ามาในปราสาทนิโจที่อยู่ในสภาพแบบนี้-เต็มไปด้วย นักท่องเที่ยว เดินอยู่ในอาคารแบบ Non-stop ปิดประตูทุกบ้านที่เชื่อมต่อกับสวนที่อยู่ภายนอก เพื่อป้องกันภาพเขียนที่อยู่ภายใน สำหรับผมประสบการณ์อย่างหลังทำให้ผมรู้สึกแย่กว่า

คนญี่ปุ่นรับเอาด้านดีและด้านร้ายของธรรมชาติมาไว้เป็นสมบัติของตัวเองเสมอ บ้านญี่ปุ่นกรุด้วยกระดาษบนโครงไม้ซึ่งทำให้ไม่สามารถป้องกันความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติได้ แต่ในขณะเดียวกันโครงสร้างกระดาษก็ก่อให้เกิดแสงนวลสลัวที่แสนงดงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนทัศนะคติในเรื่องการยอมรับด้านทั้งสองด้าน และยอมรับในการย่อยสลายเปลี่ยนแปลงไปของสรรพสิ่งต่างๆ เมื่อถึงเวลา

สำหรับผมไม่ว่ายังไง อีกไม่กี่วันผมก็คงต้องกลับกรุงเทพฯเรื่องราวของที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น สำหรับผมมันกำลังจบลง ผมแค่เดินผ่านเข้ามา แล้วก็กำลังเดินจากไป มันเป็นเสมือนชิ้นส่วนเล็กๆ ของเหตุการณ์ที่ผมได้ประสบพบเจอ ผมอาจจะเพียงแค่เดินทางผ่านมาที่นี่ในวันนี้ แล้วก็อาจจะไม่ได้หวนกลับมาอีก เมื่อเดินออกจากสถานที่นี้ไปชีวิตผมก็ต้องผมกับเหตุการณ์ใหม่ๆ อื่นๆ ที่กำลังผ่านเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชีวิตเป็นเสมือนภาพ collage ที่ไม่ประติดประติดประต่อ ของเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่อง แยกออกมาเป็นชิ้นๆ คล้ายภาพนามธรรม (Abstract)

ธรรมชาติของประสบการณ์จึงไม่ใช่เรื่องเล่าเชิงเส้น ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดในตัวมันเอง

แต่ประสบการณ์มีโครงสร้างคล้ายกิ่งก้านและรากของต้นไม้

ที่แตกแขนงและสัมพันธ์กัน

บางครั้งต่อเนื่อง

บางครั้งก็ไม่ต่อเนื่อง


ขอบคุณ
พี่หนุ่ม--โตมร ศุขปรีชา
พ่ง--ภาวนา แก้วแสงธรรม

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+
Book bought:
-
Book read:
-Not Always So--Shunryu Suzuki

Thursday, February 01, 2007

Twelve Ways To Mark Up A Book

2007-02-01


Books are a fantastic way to gain knowledge. With books, one can learn new techniques, gain new skills, and learn from role models who have been to where one wants to be and can show the way. There are many different ways to read books and just as many ways to remember their salient points. One of the most effective ways to get the most out of a book is to mark it up. There is no standard way to mark up a text, but below are a few ways that students have found effective in marking up a textbook so that one can see the important points quickly, make it more memorable, and make it easy to pick up years later and re-acquaint oneself with the major concepts.


-What Not To Do-

Don’t use a highlighter – Quality marking isn’t done with a fat-tipped highlighter. You can’t write, which is an important part of marking the text, with a large marker. Get yourself some fine point colored pens to do the job.

Don’t mark large volumes of text – You want important points to stand out. Although we all know that everything can’t be important, we often highlight all of the text on the page. You want to find the 20% of the text that is important (remember Pareto?) and mark that.

Don’t take the time to mark up items that you read on a daily basis – (e.g., magazines, newspapers), unimportant or irrelevant items.

Don’t mark the obvious – Don’t waste time marking up things that are already in your knowledge-base or skill set. If you already know it, you don’t need to mark it.

-What To Do-

Mark the text with a pencil, pen, or, even better, colored fine-tipped pens – Remember, you are not highlighting, you are writing.

Know your preferences – Some of you have an aversion to mark directly in the text. Books are precious things to many people and they want to protect them from damage and even the wear and tear of everyday use. If this describes you, grab some Post-It brand notes and do your marking and writing on them. This also gives you the advantage to move and reorganize them should you see fit. As for me, I like to mark directly on the page. I find that my books become more valuable to me when I add my contributions to the information that they contain.

Underline the topic sentence in a passage – Remember, each paragraph has one topic sentence. The rest is supporting information and examples. Identify the topic sentence to find it easier.
Use codes – Flag text with codes (e.g., Question marks to indicate disagreement, Exclamation marks to note agreement or to flag a strong statement, triangles to indicate a change in thinking, or a star for the topic sentence).

Write the passage topic in the margin as a reminder – Just a word or two.

Write questions in the margin – When you don’t understand something or when you don’t understand the author’s thought process on a particular topic, write the question in the margin as a reminder to settle the question.

Circle new and unfamiliar words – Look them up as soon as possible.

Add your or other author’s perspectives in the margins – Other authors have surely written on the same subject. What do they say? Do they agree with this author? If not, what do they say.

Add these ideas in the margins.

Add cross-reference notes to other works on the same topic – Use the author’s name and a shortened version of the other book’s title.

Add structure to a narrative text – Use 1, 2, 3, 4…or an outline format I. A. B. C. 1, 2, 3, a, b, c…to add a structure that you understand.

Draw arrows to related ideas – Or unrelated ideas…

Summarize – Add your own summary after the last paragraph. That simple exercise will crystalize your thinking on the topic. If you can’t write it, you don’t understand it.


-Extras-

Post-It Brand Notes are great ways to also mark locations within books, much like bookmarks do. With Post-It Brand Notes, however, you can mark on them so you can see where you are turning before you start flipping through the pages. One can also use colored paper clips to identify pages or chapters that are important.


-Conclusion-

The idea is to enter, by way of your markings, into a conversation with the author so that his knowledge is added to yours so that a synthesis occurs and you gain a new understanding.

A new — or new looking — book is a treasure. In my experience, however, I have found that a well-marked book, becomes more like a treasured friend — one that you enjoy seeing again and again. It becomes much more enjoyable than a sterile copy that comes straight from the bookstore. Don’t be afraid to mark up the books that you love.

From;
http://hwebbjr.typepad.com/openloops/2006/02/twelve_ways_to_.html

+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+:+

Book bought:
-Single Family Housing--Jaime Salazar and Manuel Gausa
Book read:
-