Saturday, May 27, 2006

ปิดเทอมตลอดกาล



มีหนังสือมาแนะนำให้ลองอ่าน--หนึ่งเล่ม

หนังสือที่เราอยากแนะนำให้อ่านมีชื่อเรื่องว่า "URBAN DIARY :
ระหว่างบรรทัดกรุงเทพฯ"
เขียนโดย สาลินี หาญวารีวงศ์ศิลป์
เรื่องราวของเนื้อหาภายในเล่มส่วนใหญ่ก็เต็มไปด้วย
เรื่องของเมือง และชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในเมือง
ที่ต้องมีชีวิตอยุ่ในกระแสธารของสิ่ง
ที่เราเรียกมันว่า "การตลาด" แล้วก็เรื่องของ "ภาพลักษณ์" "กระแส"
และเรื่องของ "Trend"

เราว่าความคิดของผู้หญิงคนนี้คมคายมากๆ เลย

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากคำนำของเธอ:-

"กรุงเทพฯ เหมือนโลกสองโลก เหมือนคนสองหน้า
เหมือนโฆษณาที่บอกว่าเป็นบทความ
เหมือนรายการที่คนมานั่งอำกันแต่ย้ำว่าเป็นข่าว เหมือนมีสาวแต่เรียกกิ๊ก
เหมือนกดเอสเอ็มเอส
ไปโหวดแล้วบอกว่ากำลังติดต่อสื่อสาร เหมือนเล่นหุ้นแต่เรียกว่าทำงาน
เหมือนวีซีดีโป๊ที่บอกว่า
เป็นศิลปะ เหมือนแผงขายสินค้าที่บอกว่าเป็นโรงหนัง เหมือนโลงผุๆ พังๆ
ที่บอกว่าเป็นสวรรค์

เมื่อแทรกตัวอยู่ระหว่างบรรทัดแคบๆ ของกรุงเทพฯ
อย่างหนึ่งคือต้องฝึกประคองตัว
เพราะนับวัน
โลกสองโลกของกรุงเทพฯ ช่างมีเส้นแบ่งที่รางเลือนเหลื่อมซ้อน

ระหว่างบรรทัดกรุงเทพฯ เล่มนี้เป็นบันทึกร่องรอยของการประคองตัว
ประคองความคิดของคน
กรุงเทพฯ คนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ที่อยากจะจับกรุงเทพฯให้อยู่
หากบางครั้งก็ไหลเรื่อยไปกับมัน
และพบว่ามีผู้คนไหลร่วมไปด้วยมากมาย"

สำหรับเนื้อหายภายในเล่มของหนังสือเล่มนี้นั้นมีหลายตอนที่น่าสนใจ--ลองหามาอ่านดูกันนะ
แต่ตอนที่เราอยากจะเล่าให้ฟังในตอนนี้มากที่สุดคือ ตอนที่มีชื่อว่า
"ปิดเทอมตลอดกาล"

สาลินีเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยการบรรยายบรรยากาศตอนที่นัดเพื่อนๆ
ไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าที่เคยร่ำเรียนมา
เป็นครั้งสุดท้าย--โรงเรียนที่ว่านี้ก็คือ 'โรงเรียนปานะพันธ์'

เพื่อนๆ เคยได้ยินการทายปัญหาเชาว์อะไรประมาณนี้ไม๊ "เด็กๆ
ชอบโรงเรียนตอนไหนที่สุด?"
คำเฉลยก็คือ "ตอนโรงเรียนปิดไง"
นี่เป็นมุขตลกในตอนนั้นที่ไม่มีใครตลกกันออก

"ก็สมใจมึงไหมล่ะ โรงเรียนของเราน่ะปิดแล้วโว้ย ปิดเลย
ลบออกจากแผนที่ไปเลย
สมใจมึงแล้วสิ"

"...ไม่มีถ้วยกีฬาสี ไม่มีโล่ห์ประกวดภาพวาดเยาวชน
ไม่มีใบประกาศชนะการแข่งขันตอบปัญหา
ภาษาอังกฤษเชลล์ หรือการบินไทยไขจักรวาล ไม่มีภาพถ่ายหมู่ประจำชั้น
ไม่มีลูกวอลเลย์บอล
ไม่มีลูกบาสฯ ในล๊อกเกอร์โรงยิม ไม่มีชุดละครรำในห้องนาฏศิลป์
ไม่มีกลองโยธวาทิตในห้อง
ดนตรี ไม่มีความทรงจำ ไม่มีความฝัน...ไม่มีความทรงจำในเรื่องความฝัน"

อ่านถึงตรงนี้ ไม่รู้สิ--ทำให้เรานึกถึงเรื่อสั้นเรื่องหนึ่งของมิลาน
คุนเดอร่า
เป็นเรื่องของหญิงชรา
คนหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพของสามีแต่พอไปถึงแล้วพบว่า
หลุมศพของสามีเธอหายไป
จากสุสาน เพราะสัญญาเช่าสุสานหมดอายุลง เจ้าหน้าที่คนนั้นตอบเธอว่า
"คนตายเก่าควรหลีก
ทางให้คนตายใหม่" แล้วหญิงชราก็เข้าใจว่า
เธอไม่อาจขัดขวางการตายของสามีเธอได้ฉันใด
เธอก็ไม่อาจยั้บยั้งการตายครั้งที่สองของเขาได้ฉันนั้น
นี่คือความตายของคนตายเก่า ที่โลกไม่ยอม
แม้กระทั่งให้เขาดำรงอยู่ในฐานะของคนตายอีกต่อไป

ทุกวันนี้ถ้าเพื่อนๆ ได้มีโอกาสผ่านไปแถวต้นถนนสายลาดพร้าว
แล้วเห็นซุปเปอร์สโตร์ขนาด
มหึมาตั้งอยู่นั่นแหละคือ ตำแหน่งของโรงเรียนแห่งนี้--โรงเรียนปานะพันธ์

มีข้อความหนึ่งในบทความนี้ของเธอที่เราชอบ มากๆ
นอกจากมันจะบรรยายความรู้สึกของเธอ
กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนแห่งนี้แล้ว
มันยังสะท้อนสภาวะบางอย่างของสังคมในปัจจุบัน
ได้เป็นอย่างดี :-

"สำหรับเรา
โรงเรียนของเราเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมาตรฐานและคุณค่าที่แปรเปลี่ยน
มันไม่ใช่
แค่เรื่องการต่อสู้ของเงินที่ใหญ่กว่ากับเงินที่เล็กกว่ามันคล้ายๆ
แบบนี้นะ
ในความคิดแบบเรา
เหมือนกับเราเก็บหนังสือที่เราอ่านบ้างไม่อ่านบ้างไว้จนล้นตู้แล้วมีใครสักคนมาบอกว่าเอาไปขาย
ดีกว่ายังได้กิโลฯละตั้ง 2 บาท เราจะเก็บมันไว้ทำไม
เราก็ไม่ได้อ่านมันทุกวันเสียหน่อย เอาเงิน
2 บาทไว้ยังจะดีกว่า

คิดในมุมนี้ก็เป็นอีกมาตรฐานหนึ่ง ถ้าเรายังเลือกที่จะเก็บมันไว้
ไม่เอาหนังสือไปชั่งกิโลฯขาย
เราอาจจะดูโง่มากในมุมนี้ แต่เราเลือกที่จะเก็บ ก็เพราะเรา 'เลือก'
ที่จะยึดมาตรฐานของเรา

วันนี้มาตรฐานเราถูกคุกคาม บางทีถูกเหยียดหยาม
ด้วยว่าเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นตามมาตรฐานใหม่
เป็นทางเลือกที่หดแคบ ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ฉลาดนัก ไม่รู้สิ
ถ้าเราขายหนังสือเพราะว่ามันชั่งกิโลฯ
ได้ตั้ง'โลละ 2 บาท เราก็ขายอัลบั้มพ่อแม่ของเราได้หนักตาชั่งได้หลายกิโลฯ
มากกว่าอีก

แต่เราจะ 'เป็น' และ 'ดำรงอยู่' ได้ก็เพราะเรา 'เลือกได้' มั้ง
เลือกที่จะใส่เสื้อยืดสีขาวๆ ที่ไม่มีโลโก้
ขายของได้
เลือกที่ดาดฟ้าห้องแถวของเราจะไม่มีป้ายโฆษณายักษ์ไปตั้งตระหง่านได้

โอ้...เงินที่มากองอยู่ตรงหน้า กิโลฯละ 2 บาท ค่าเช่าเดือนละ 3 หมื่น
มันทำให้การเลือกที่จะ 'เป็น'
ของใครก็ตามในวันนี้หวั่นไหวน่าดู"

เราเคยเล่าเรื่องราวของโรงเรียนปานะพันธ์เรื่องนี้
ให้อาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเคารพฟังในขณะที่กำลัง
นั่งกินข้าวเที่ยงกัน อาจารย์เราบอกว่า "จี้
ไม่ต้องเสียดงเสียดายมันมากหรอก
สถาปนิกที่ออก
แบบที่เป็นลูกชายเจ้าของเขายังไม่เสียดายเลย เอ็งจะมานั่งเสียดายทำไม"
เมื่ออาจารย์ตอบอย่างนี้
เราก็ถึงกับอึ้ง และพูดอะไรไม่ออก :P

แต่เราก็ไม่เชื่อนะ--ว่าองอาจ สาตรพันธ์ุ
สถาปนิกที่ออกแบบโรงเรียนนี้จะไม่เสียดายมัน
อย่างน้อยที่สุดนี่อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ใครก็ตามนั้นต้องหวั่นไหว
เหมือนดังอุปมา
ที่สาลินีว่าไว้

โรงเรียนแห่งนี้มีอายุกว่า 50 ปี อาคารหลังแรกนั้นออกแบบตั้งแต่องอาจ
ยังเรียนอยู่ชั้นปีที่สาม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่่องของความปราณีตในการออกแบบ
หรือแม้กระทั้งความปราณีตในการก่อสร้าง
เราไม่เชื่อว่าทั้งคนออกแบบและคนก่อสร้างจะไม่ได้ทำมันด้วยความรักและความตั้งใจ
(เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนสถาปัตย์
อาจจะไม่ทราบว่าอาคารเหล่านี้นั้นเป็นอาคารที่สำคัญของ
ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย
และสมควรได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง)

เราเคยไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ ในวันที่ทุกห้องเต็มไปด้วยความว่างเปล่า
และร้างผู้คน เรายังพบ
องอาจและพนักงานในออฟฟิศของเขา
ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียนนี้เป็นสำนักงานออกแบบ

"เหมือนกับว่าจะอยู่ดูใจคนรักคนนี้ จนถึงวาระสุดท้าย
ก่อนที่เธอ--โรงเรียนแห่งนี้ จะจากไป
อย่างไม่หวนคืน"

เออลืมเล่าไป วันนั้นในขณะที่เรากำลังเดินเล่นอยู่ในสนามบอลโรงเรียน
ที่หญ้าเริ่มยาวเฟื้อย
พอเจ้าหมากลุ่มหนึ่งเห็นเราปุ็บมันก็วิ่งฮ่อมาแต่ไกล
โชคดีที่เราฉวยไม้อันนึงมาจากพื้นได้ก่อน
มันจึงได้แต่เห่า
และยังปรานีไม่ได้ลงไม้ลงมือ(ใช้คำว่าลงไม้ลงมือกับหมานี่อ่านดูแล้วก็แปลกดีนะ)
ฝังเขี้ยวที่ขา ชายแปลกหน้าอย่างเรา 555

เราว่ามันคงหวง 'ที่' ของมัน

มาถึงวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าไอ้ซุปเปอร์สโตร์ที่มากินพื้นที่บนผิวโลกใบนี้แทนโรงเรียนปานะพันธ์
นั้นหน้าตามันเป็นยังไง และเราว่าสาลินี คนเขียนหนังสือ Urban Diary
ก็คงเห็นมันแล้วเช่นกัน

ไม่รู้สิสำหรับเราในกรณีนี้ เราว่ามันน่าจะมีทางออกอื่นๆ ที่ดีกว่านี้?
มากกว่าการที่ตัดต้นไม้ใหญ่
มากมายหลายร้อยต้น ทุบอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สวยงาม
และมีความปราณีตในการ
ก่อสร้าง แล้วสร้างกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูโง่ๆ
ขึ้นมากล่องหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางพื้นคอนกรีต ที่
แม้แต่หมาจรจัดก็ยังไม่อยากที่จะมานอนเล่น

เป็นไปได้ไหมที่เราจะอนุรักษ์อาคารเก่าไว้ แล้วสอดแทรกการใช้งานใหม่ๆ
เข้าไปในพื้นที่เดิม
เข้าไปจัดการพื้นที่แบบประนีประนอมและมีความอะเอียดอ่อนสักนิด
ไม่แน่บางทีเราอาจจะได้
ซุปเปอร์สโตร์ที่น่ารัก ร่มรื่น
และน่าเดินที่สุดในกรุงเทพฯก็ได้ใครจะไปรู้

.............

ในวันที่รถแทรกเตอร์
รวมถึงพนักงานที่รื้อถอนอาคารเข้าไปในโรงเรียนปานะพันธ์
เราว่าหมากลุ่มนั้น
ก็คงทำเหมือนปรกติ คือ วิ่งฮ่อมาแต่ไกล แล้วก็เห่า เพราะว่ามันหวง 'ที่'
เหมือนอย่างที่เคยเป็น

แต่ว่าป่วยการ

เพราะว่าในตอนนั้น คนขับรถแทรกเตอร์คันใหญ่คันนั้น คงไม่ยั้งมือ


1 comment:

TONXIS™ said...

คิดถึงปานะพันธ์มาก